เปิดหน้าต่างนโยบาย “เตรียมรองรับสังคมสูงวัย” จังหวัดตรัง

  • photo  , 960x720 pixel , 74,286 bytes.
  • photo  , 720x960 pixel , 75,736 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 63,272 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 55,150 bytes.

เปิดหน้าต่างนโยบาย “เตรียมรองรับสังคมสูงวัย” จังหวัดตรัง

เขียนโดย เชภาดร จันทร์หอม

วันจันทร์ที่ผ่านมา (6 กันยายน 2564 ) ในการประชุมพิจารณาโครงการในแผนพัฒนาจังหวัดยุทธศาสตร์ด้านสังคม โดยมีท่านขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน

โครงการจากหน่วยงานต่าง ๆ ถูกนำเสนอวิธีการ กิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ด้านสังคมทั้งเรื่องราวของปัญหายาเสพติด  แม่วัยใส ปัญหาสุขภาพ  คนเปราะบาง  คนยากลำบาก ประเด็นการศึกษา สังคมสูงวัย

มีหน่วยงานภาคีอาทิ ฝ่ายปกครอง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานแรงงาน สำนักงานเกษตร วิทยาลัยเทคนิค หน่วยงานการศึกษา

ผมได้รับโอกาสแบบฉับพลันในการเป็นตัวแทนนำเสนอโครงการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย เนื่องจากเป็นฝ่ายวิชาการพัฒนาโครงการฯ

สำหรับโครงการเตรียมรองรับสังคมสูงวัยอยู่ดีต้นแบบมีการปรึกษาหารือร่วมกันหลายครั้งของตัวแทนภาคีหน่วยงานยุทธศาสตร์ทั้งพี่อนันต์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พี่ธร จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พี่ธิดารัตน์ จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง อ.ตรีชาติ จากศูนย์ UDC-PSU คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ พี่บุ๋ม สมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง รวมถึงพี่ ๆผู้ทรงคุณวุฒิของทีมสมัชชาสุขภาพ และ Node Flagship จังหวัดตรังทั้ง พี่ตุ้ม พี่โสภา พี่เนียร เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายโครงการต้องการให้เกิดชุมชนต้นแบบอยู่ดีเตรียมรองรับสังคมสูงวัยที่จะเป็นตัวอย่างระดับชุมชนท้องถิ่นในการเตรียมรับมือสังคมสูงวัยที่กำลังคืบคลานมาถึง
ร้อยละ 18.9 คือร้อยละของจำนวนผู้สูงอายุจังหวัดตรังข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขเมื่อต้นปี 2564 คาดว่าไม่เกิน 2 ปีก็จะถึงร้อยละ 20 ซึ่งจะเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ และไม่เกิน 2574 จะเป็นสังคมสูงวัยสุดยอด (ผู้สูงอายุร้อยละ 30)

ทำอย่างไรคนตรังเมื่อถึงวัยผู้สูงอายุจะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ทำอย่างไรที่จะเป็นผู้สูงอายุที่จะอยู่ในบ้านและพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ทำอย่างไรจะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ซึมเศร้า ทำอย่างไรจะเป็นผู้สูงอายุที่มีเงินใช้อย่างเพียงพอ

เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการเตรียมความพร้อม

การไปเริ่มคิดหรือลงมือทำในตอนที่เป็นผู้สูงอายุแล้วหลายอย่างอาจจะไม่ทันท่วงที จำเป็นต้องมีกระบวนการเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัยในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านการปรับสภาพแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจการออม

จากการขับเคลื่อนประเด็นการเตรียมรองรับสังคมสูงวัยของ Node Flagship จังหวัดตรัง และการสนับสนุนการดำเนินโครงการเตรียมรองรับสังคมสูงวัยใน 12 พื้นที่ บทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมาจึงนำมาส่งต่อเพื่อขยับในแผนพัฒนาจังหวัด

กิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการฯที่นำเสนอ คือ การพัฒนาให้เกิดกลไกศูนย์อยู่ดีในระดับตำบลที่จะมีความเข้าใจแนวคิดเตรียมรองรับสังคมสูงวัย การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การพัฒนาศูนย์อยู่ดีด้านสภาพแวดล้อม การพัฒนาช่างชุมชนท้องถิ่น การสร้างห้องน้ำตัวอย่าง การพัฒนา health ckeck up ในชุมชน การพัฒนาครอบครัวอยู่ดี กิจกรรมส่งเสริมอาชีพและการออม และการติดตามประเมินผล

ภายหลังผมนำเสนอโครงการฯแล้ว มีอีกหนึ่งโครงการของสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุที่นำเสนอโครงการส่งเสริมอาชีพการออมเตรียมรองรับสังคมสูงวัย ที่อยากส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน

ภายหลังการนำเสนอท่านผู้ว่าฯอยากให้มีการกรุ๊ปรวมของ 2 โครงการที่เกี่ยวกับสังคมสูงวัยทีทางสมัชชาสุขภาพ และของทางสาขาสภาผู้สูงอายุนำเสนอ /สำหรับมิติด้านการส่งเสริมอาชีพก็อยากให้เชื่อมโยงกับทางสำนักงานแรงงานและไปอยู่ในโครงการเดียวกันที่จะฝึกอาชีพกลุ่มต่าง ๆ มีประเด็นงบประมาณค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์การแพทย์สำหรับ health check up /การอยากให้ไปต่อยอดจากศูนย์ที่มีอยู่แล้ว เช่น ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส) มากกว่าที่จะจัดตั้งศูนย์ใหม่ การต่อยอดจากโรงเรียนผู้สูงอายุ

ข้อเรียนรู้จากนำเสนอและการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ พบว่า

-ผมยังอธิบายได้ยังไม่กระชับและชัดเจนมากพอในระยะเวลาอันสั้นเพราะมีความแตกต่างกันระหว่าง “สังคมสูงวัย” กับ “สังคมผู้สูงอายุ” ประเด็นสำคัญที่ทางสมัชชาสุขภาพ Node Flagship จังหวัดตรัง และเครือข่ายฯภาคีเสนอคือ การ “เตรียม”รองรับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุ  ผมจำเป็นที่ต้องเตรียมตัวและฝึกการนำเสนอทั้งแบบสั้นกระชับ 3-5 นาที และแบบกลาง 10-15 นาทีให้ดีกว่านี้เพราะบางจังหวะที่เรามีโอกาสนำเสนอฝ่ายนโยบาย เวลา และโอกาสมันเสี้ยววินาที

-ประเด็นข้อสังเกตที่ท่านผู้ว่าจะพูดหลายครั้งหลังจากฟังหน่วยงานนำเสนอโครงการคือ คุณมี Roadmap หรือยัง  ทำให้ปิ๊งแว๊ปว่าสำหรับประเด็นเตรียมรองรับสังคมสูงวัยจำเป็นชวนภาคียุทธศาสตร์เตรียมรองรับสังคมสูงวัยมาพัฒนาให้เกิด “Roadmap หรือแผนบูรณาการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย”ร่วมกันเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป

-อีกประเด็นคือท่านมักจะถามว่ามีโมเดลหรือยัง นำมาขยายผล ก็เห็นเลยว่าเป็นความท้าทายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะพยายามพัฒนาให้เกิดตัวแบบการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ ๆ การถอดบทเรียนกรณีศึกษาดี ๆ เพื่อมาขยายผลผ่านแผนพัฒนจังหวัด คิดว่างานของ Node Flagship จังหวัดตรังที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในการพัฒนาตัวแบบการพัฒนาต่าง ๆ จะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างตรงนี้

ขอบคุณโอกาสและการเรียนรู้ครั้งนี้

แผนพัฒนาจังหวัดตรัง

เตรียมรองรับสังคมสูงวัย

NodeFlagshipจังหวัดตรัง

สมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง

Relate topics