เกษตรกรรมยั่งยืน@สมัชชาเกษตรยั่งยืนภาคใต้

  • photo  , 960x540 pixel , 57,681 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 58,824 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 59,278 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 66,599 bytes.
  • photo  , 528x960 pixel , 46,904 bytes.
  • photo  , 540x960 pixel , 54,301 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 57,053 bytes.

"เกษตรกรรมยั่งยืน" เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง

20 มกราคม 2562 ไปร่วมงานสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ ที่จ.พัทลุงมา เห็นความต่อเนื่องของขบวนเครือข่าย แต่ในฐานที่คลุกคลีกับงานนี้มาพอสมควร ผมพอจะมองเห็นช่องว่าง ของการขับเคลื่อนที่แม้จะสำเร็จในแง่การสร้างกระแส จนผู้คนยอมรับและกลายเป็นนโยบายระดับชาติ

ผมคิดว่ายังจะต้องทำงานหนักกันในหลายระดับ กล่าวคือ

๑.คืนงานเกษตรกรรม(ยั่งยืน)ให้กับสังคม
เรื่องนี้สำคัญที่สุด ควรเปลี่ยน mindset ของผู้ที่รับผิดชอบ โดยเข้าใจให้ได้ ว่างานเกษตรเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คน อาหารการกิน(ข้าว ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป ปศุสัตว์ฯลฯ) เป็นเรื่องของทุกคน หาใช่เป็นของกระทรวงเกษตรเพียงหน่วยงานเดียว หรือเป็นของภาครัฐหรือของเครือข่ายใด องค์กรใดไม่ จะเอื้อให้เราหลุดพ้นกับดักความคิด ที่จมอยู่ในเบ้าหลอมแบบเดิม คน/เครือข่าย/ความคิดเดิม มองไม่เห็นปัจจัยเชื่อมโยงและผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอีกมาก

๒.ตรวจสอบตัวเองให้ชัด
ด้วยแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเกษตรอินทรีย์(ความจริงยังแยกประเภทออกไปได้อีก) มีความจำเพาะ หลากหลาย สอดคล้องกับพื้นฐานภูมิประเทศ ฐานทรัพยากร แต่ด้วยอิทธิพลแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตีความแบบแคบทำให้มีเพียงเกษตรกรรายย่อย หรือบุคคลที่สนใจนำไปปฎิบัติจนเกิดผล นับจำนวนแล้วไม่ได้มีมาก
พูดง่ายๆ ความสำเร็จที่ได้ น้อยกว่าภาพลักษณ์ที่สังคมเข้าใจ
ลักษณะบุคคลต้นแบบ หรือรายย่อยเช่นนี้ กระจัดกระจายไปทั่ว มีไม่น้อยดำรงตนอยู่อย่างเอกเทศ เป็นต้นแบบที่ขยายผลไม่ได้ ผลิตผลที่ได้แค่พอกินพอใช้และแบ่งปันกันในหมู่สมาชิกครอบครัวและชุมชน ไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์
กลุ่มเหล่านี้ แท้จริงควรยึดฐานที่มั่นในชุมชน อาศัยเรื่องปากท้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ทำการผลิตและบริโภคภายในชุมชน สมาชิก เครือข่ายมากกว่าที่จะส่งของดีๆให้กับคนมีเงินหรือนักท่องเที่ยว หากคิดหารายได้ ก็ควรยกระดับในเชิงคุณค่าและมูลค่าของผลผลิต ค้นหาอัตลักษณ์ พืชอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ผลิตเพื่อเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม
ส่วนในเชิงพาณิชย์ จะเริ่มเห็นภาคเอกชนเข้ามาหนุนเสริมหรือมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เข้ามาทำการตลาดยกระดับ แต่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองปริมาณความต้องการทางการตลาด ผลผลิตจำนวนมากไม่ได้ผ่านมาตรฐานอินทรีย์สากล จนต้องหาทางออกด้วยมาตรฐานของเครือข่ายรับรองกันเอง หรือได้แค่ระดับปลอดภัย

แนวคิดของเกษตรกรรมยั่งยืน หรือปะยี่ห้อในชื่อต่างๆมากมาย ด้านหนึ่งสร้างอัตลักษณ์เฉพาะ แต่อีกด้านก็ปิดกั้นการเข้าถึง จึงต้องเท่าทันตนเอง ว่าเลือกที่จะยืนอยู่ฝั่งใด ผมคิดว่าสถานการณ์ขณะนี้ ทำให้เราเดินไปไม่สุดสักทาง ไม่ว่าจะเพื่อสร้างรากฐานสังคมหรือเพื่อรายได้

ที่สำคัญ ด้วยอิทธิพลของเครือข่ายฯเอง ที่เชื่อในแนวปรับโครงสร้าง ต้องการนโยบายมาหนุนเสริม ทำให้การเสนอเชิงนโยบายมองไม่เห็นข้อจำกัดอื่นๆ ที่แฝงอยู่ในระบบ นโยบายสาธารณะที่ออกมา จึงกลายเป็นข้อเสนอในเชิงปริมาณ มากกว่าเชิงคุณภาพ ด้วยพื้นฐานที่ไม่มั่นคง จากฐานผู้ผลิตที่มีน้อย ปัจจัยการผลิตอยู่ในมือทุนใหญ่ ไม่มีมาเสริมหนุนเกษตรกรรายย่อย องค์ความรู้ที่จะเป็นทางเลือก เพื่อทำในเชิงพาณิชย์ก็มีไม่พอ สู้กับกระแสการใช้เคมีไม่ได้ เช่นนี้ทำให้การขยายผลไม่สามารถทำได้ง่าย ประกอบกับโครงสร้างการทำงานของภาครัฐ ที่แยกส่วน รีบเร่ง ปราศจากความรู้จริงรองรับ การมีนโยบายลงมาจึงไม่ใช่โอกาส แต่เป็นหายนะ ความลักลั่นเช่นนี้ทำให้สังคมสับสน งุนงง ไม่รู้ว่าเกษตรกรรมยั่งยืนจะเป็นแค่วาทกรรมเหมือนเรื่องอื่นๆอีกหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ลดการแบ่งแยกประเภท มีชุดคำที่มากมายชวนไม่อยากเข้าใจ การทำเรื่องยากให้ง่าย จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมากขึ้น

๓.สร้างผู้ประกอบการใหม่ นำคนใต้กลับบ้าน แทนที่จะส่งออกไปอยู่กรุงเทปหรือเมืองอื่นๆดังเช่นปัจจุบัน ดึงพวกเขากลับมาฟื้นฟูทรัพยากรและสร้างรายได้จากฐานทรัพยากรที่มีอย่างหลากหลาย ผู้ประกอบการใหม่เช่นนี้จะมีแนวคิดที่ต่างจากการเป็นเกษตรกร ไม่จำกัดตัวเองว่าจะจบจากสถาบันใด วิชาชีพใด โลกใหม่เปิดกว้างสำหรับคนที่เห็นโอกาสและเข้าถึงทุน

ที่สำคัญ พวกเขาปรับตัวได้ง่ายกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่ติดกรอบความคิดและเบ้าหลอมตัวเอง จนปรับตัวตามสังคมใหม่ได้ยาก

Relate topics