“ศาลาด่านโมเดล : การท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

  • photo  , 1000x668 pixel , 115,641 bytes.
  • photo  , 591x395 pixel , 46,223 bytes.
  • photo  , 1000x668 pixel , 101,894 bytes.
  • photo  , 1000x668 pixel , 120,975 bytes.

ภาคีบอกข่าว - ภาคี สสส. ภาคใต้ จ.กระบี่  เล็งเคลื่อนงานตำบลแห่งความสุข ผ่านเวทีรับฟังข้อมูล “ศาลาด่านโมเดล : การท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

สนส.ม.อ.จับมือ ทต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เปิดเวทีนำเสนอข้อมูลรับฟังแนวทาง มุ่งเป้า “ศาลาด่านโมเดล ตำบลแห่งความสุขการท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ภาคี สสส. เครือข่ายภาคใต้

สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  (สนส.ม.อ.)ผนึกกำลังกับเทศบาลตำบลศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

จัดเวทีนำเสนอข้อมูล รับฟังแนวทาง มุ่งเป้า “ศาลาด่านโมเดลตำบลแห่งความสุข การท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” มีนายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา เป็นประธาน  พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยนำเสนอข้อมูลฐานทรัพยากรความเสี่ยงภัยพิบัติ การจัดการท่องเที่ยว และบริบทพื้นที่ด้านสังคมวัฒนธรรม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติและการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่ออนุรักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นายอำเภอเกาะลันตา นายนพรัตน์ ศรีพรหม กล่าวว่า เทศบาลตำบลศาลาด่านพร้อมจะผลักดัน ขับเคลื่อนศาลาด่านโมเดลตำบลแห่งความสุข

ทั้งนี้ในส่วนภาควิชาการ ทางสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สนส.ม.อ.)
ที่มีองค์ความรู้และข้อเสนอแนะจะร่วมมือกับฝ่ายพื้นที่ปฎิบัติโดยมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติจริงในพื้นที่โดยเริ่มจาก หมู่ 2,3 และหมู่ 4 ภายใต้กรอบกฎหมาย กรอบภูมิสังคม  และเมื่อศาลาด่านโมเดลตำบลแห่งความสุข สำเร็จจะขยายผลไปสู่อีก 4 ตำบลของ อ.เกาะลันตาจ.กระบี่ และสามารถขยายผลไปสู่ตำบลอื่นๆ ในจังหวัดหรือในประเทศได้

อ.เกาะลันตา มีแหล่งท่องเที่ยงระดับโลกที่มีศักยภาพแต่อีกด้านหนึ่งก็มีการท่องเที่ยวชุมชนที่เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่เป็นฐานทรัพยากรของหมู่บ้านและชุมชน เช่น ท่องเที่ยวชุมชนทุ่งหยีเพ็ง  ทำอย่างไรที่จะผลักดันให้เป็นคู่ขนานไปกับการท่องเที่ยวสากลระดับโลกก็เป็นโจทย์ที่จะต้องมาคิดร่วมกัน

ด้าน ดร.ฐิติชญาน์ บุญโสม นักวิชาการทีมขับเคลื่อน ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ความเป็นมาของโครงการ ว่า สนส.ม.อ. คัดเลือกพื้นที่ ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อวางแนวทางการปฎิบัติการ ศาลาด่านโมเดล ตำบลแห่งความสุข การท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของพื้นที่ ที่จะเป็นการยกระดับและขยายผลกระบวนการทำงานแบบเครือข่าย และเพิ่มการประสานความร่วมมือของภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น  ภาคประชาชนและสื่อมวลชนในการดำเนินงานใน 5 ประเด็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางมนุษย์  ความมั่นคงทางสุขภาพ  และความมั่นคงทางฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ศาลาด่านโมเดล ตำบลแห่งความสุข มีเป้าหมาย คือ เทศบาลตำบลศาลาด่านนำไปขับเคลื่อน  ให้เป็นข้อตกลงร่วมกันที่จะดูแลให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ศาลาด่านปลอดภัย รวมไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนด้วย

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดี  ฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาสงขลานครินทร์  ได้ชี้แจงแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ศาลาด่านให้เป็นโมเดล เพื่อสร้างความมั่นคงในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญของการบูรณาการ ประเด็นการจัดการภัยพิบัติและการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่ออนุรักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะ ของเทศบาลตำบลศาลาด่าน ซึ่งจะต้องมีความยั่งยืนใน 4  มิติ  คือเศรษฐกิจ สังคม ทรัยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่ต้องสมดุลกัน

ที่มาข้อมูล : ไพฑูรย์ ล่องเพ็ง และ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  (สนส.ม.อ.)


ขอบคุณข้อมูลจากเพจ Thaihealth Buddy

Relate topics