ศมส. จับมือเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนขับเคลื่อนงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปี 2566
ศมส. จับมือเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนขับเคลื่อนงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปี 2566
วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565
ศมส. ได้จัดประชุมเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 20 จังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงและชาวเลอยู่อาศัย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต และสตูล โดยมีวัฒนธรรมจังหวัด นักวิชาการวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นพื้นที่นำร่องการดำเนินงานศึกษาและสำรวจข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 20 จังหวัด เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อร่วมรับฟังและทำความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 ประจำปีงบประมาณ 2566
ในปี 2566 ศมส. ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีหลักการดำเนินงานบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะจัดเก็บ รวบรวมและพัฒนาฐานข้อมูลวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ตำบล โดยจะนำเสนอให้เห็นข้อมูลพื้นฐานด้านจำนวนประชากร แผนที่ชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชน ทุนชุมชน ตลอดจนการนำเสนอให้เห็นสถานการณ์ปัญหาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถานการณ์ด้านสุขภาวะ ซึ่งจะชี้ให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะอันเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมปัจจุบัน
นอกจากนี้ ศมส. ยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนต้นแบบพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดเป็นพื้นที่รูปธรรมและมีการรับรองทั้ง 20 ชุมชน ภายในปี 2568 โดยแนวคิดดังกล่าวได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานราชการ แสดงให้เห็นการส่งเสริมการให้สิทธิในการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการพื้นที่ ไม่ได้เป็นการให้กรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน เนื่องจากเป้าหมายของการเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มุ่งให้เกิดการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมให้สามารถดำรงอยู่ได้
ภายหลังการประชุมได้มีการเยี่ยมชมพื้นที่การเรียนรู้ภายใน ศมส. ทั้งในด้านความรู้ทางสังคม วัฒนธรรมร่วมสมัย พัฒนาการทางสังคมผ่านการสืบค้นและศึกษาทางโบราณคดี สิ่งของเครื่องใช้ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทางมานุษยวิทยา เช่น บอร์ดเกมเครื่องมือ 7 ชิ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมการเรียนรู้การศึกษาและสำรวจข้อมูลชุมชนที่ ศมส. กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา
นอกจากนี้ในช่วงบ่าย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการ ศมส.ได้บรรยายเรื่องเครื่องมือการเก็บข้อมูลวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยอธิบายให้เห็นการนำเครื่องมือ 7 ชิ้นมาใช้ในการศึกษาและเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย โดยได้เน้นย้ำให้เห็นว่า เครื่องมือ 7 ชิ้นนั้นจะทำให้มองเห็นศักยภาพชุมชนมากกว่าการมองเห็นแต่ปัญหาหรือข้อจำกัด ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ทั้งภายในและภายนอกชุมชนแทนที่การมองอย่างแยกส่วน ตลอดจนมองเห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ในชุมชน และสิ่งสำคัญคือการเห็นความแตกต่างหลากหลายและลักษณะเฉพาะของชุมชน ซึ่งการนำเครื่องมือ 7 ชิ้นมาใช้ศึกษาวิถีชุมชนนั้นจะประกอบด้วย
1.แผนที่เดินดิน ซึ่งจะช่วยให้รู้จักโลกทางสังคมของชุมชน
2.ผังเครือญาติ ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์แบบเครือญาติอันเป็นรากฐานของชุมชน
3.โครงสร้างองค์กรชุมชน ทำให้เห็นระบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายในท้องถิ่น
4.ระบบสุขภาพชุมชน เข้าใจโลกทัศน์ ปัญหาและภูมิปัญญาสุขภาพในชีวิตชุมชน
5.ปฏิทินชุมชน เรียนรู้เทศกาล กิจกรรมและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชุมชน
6.ประวัติศาสตร์ชุมชน เข้าใจประสบการณ์ชุมชนผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต
7.ประวัติชีวิต ทำให้เข้าใจและสัมผัสความเป็นมนุษย์ ผ่านการต่อสู้และความสุขความทุกของผู้คน
อย่างไรก็ตามในการนำเครื่องมือ 7 ชิ้นมาใช้ในงานขับคลื่อนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ซึ่งจะมีเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่นำร่องนั้น ศมส. ได้กำหนดให้มีแนวทางการส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้และการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น ในการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์ในระดับพื้นที่ โดยจะจัดให้มีการฝึกอบรมในระดับภูมิภาคในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2566 ร่วมกันต่อไป
เจษฎา เนตะวงศ์: เรื่อง
ทีปกร ประสงค์นิล: ภาพ
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC
Relate topics
- ชวนเรียนรู้ สำรวจโลก ส่องนก ค้นหาแมลงที่ชุมชนบ้านควนหมาก ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา
- ประชุมคณะทำงานกลุ่มจังหวัดอันดามัน เวทีเรียนรู้และพัฒนาโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามัน (พื้นที่เขต 11 และเขต 12)
- "เตรียมคน เตรียมชุมชน" ร่วมพัฒนาเทศบาลตำบลคลองแงะ
- “เวทีความร่วมมือหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพสุราษฏร์ธานี"
- "ระบบสารสนเทศกลาง กขป.เขต 12" หนุนเสริมงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของภาคีเครือข่าย
- "การขับเคลื่อนงานรองรับสังคมสูงวัย จ.ตรัง"
- ประกาศผลรอบไอเดียโครงการ ‘เด็กรู้ทัน เด็กรู้กัญ’ พัฒนาเยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะ (กัญชา) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
- "ประชุมทีม กขป.เขต 12 ชุดเล็ก"
- สงขลาเดินหน้า เรียนรู้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เดินตามรอยรุ่นพี่ "ยะลาพื้นที่เสมอภาคทางการศึกษา"
- ก้าวย่างในการจัดการจุดเสี่ยงเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ชุมชนตะลาฆอสะโต