"ตัวแบบการขับเคลื่อนผ่านโรงพยาบาลอาหารสุขภาพ กขป.เขต ๑๒"

photo  , 1280x720 pixel , 184,809 bytes.

"ตัวแบบการขับเคลื่อนผ่านรพ.อาหารสุขภาพ กขป.เขต ๑๒"

เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง

โจทย์สำคัญเสมือนเป็น "กับดัก" การดำเนินงานในด้านเกษตรและอาหารสุขภาพ คือ

๑)กลไกขับเคลื่อน เจ้าภาพหลักมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำงานตามคำสั่งการณ์ แต่งตั้งคณะกรรมการแต่ไม่ส่งผลต่อการปฎิบัติ แม้มีนโยบายกำหนดทิศทางแต่มีข้อจำกัดในทางปฎิบัติ ด้วยการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลางพื้นที่ขาดพื้นฐานที่ดีรองรับที่จะช่วยประสานศักยภาพที่มีหรือข้ามพ้นปัญหาอันเกิดจากความหลากหลายของภูมิประเทศ ทรัพยากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง งานพื้นฐานดังกล่าวก็คืองานข้อมูล องค์ความรู้ กระบวนการ บุคลากร รวมไปถึงระเบียบปฎิบัติตามระบบราชการที่กระจัดกระจาย แยกส่วนจากกัน ไม่รวมถึงความต่อเนื่องของนโยบายที่ผันแปรไปตามตัวบุคคล

ทางออก : ให้มีคณะทำงานระดับปฎิบัติที่มาจาก "ตัวจริง" ของแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมองค์ประกอบ มีการนำที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนจากภาครัฐ มีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากเดิม คำนึงถึงเป้าหมายและความต่อเนื่องในการทำงาน วางรากฐานการทำงาน นำนโยบายไปสู่การปฎิบัติ กลไกนี้จะช่วยกระชับลดช่องว่างที่เกิดขึ้น ทำงานร่วมกับกลไกปกติที่มี

พื้นที่กลางเช่นนี้ทุกคนไม่จำเป็นจะต้องคิดเหมือนกัน คิดต่าง คิดร่วม ทำร่วมหรือแยกกันทำก็ได้ แต่มีเป้าหมายร่วม และมี Platform การทำงานเดียวกันรองรับ

อุปสรรคสำคัญก็คือ การทลายความเคยชิน หรือผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขวางกั้น รวมถึงความรู้และความเชื่อที่หลากหลาย แตกต่าง ขัดแย้งกัน

๒)ความรู้จากการปฎิบัติ แต่ละพื้นที่จำเป็นจะต้องสร้างตัวแบบการดำเนินงานของตน ตัวแบบที่ดีมิใช่รูปแบบเสื้อโหลที่กำหนดมาให้ หรือนำความสำเร็จจากที่อื่นที่ไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ หรือเป็นเพียงความสำเร็จเฉพาะจุด เฉพาะบุคคล และการดำเนินการตามนโยบายไม่ควรเร่งรีบให้เกิดผลสำเร็จแบบผักชีโรยหน้า หรือ "เด็ดยอด" ปักป้ายถ่ายรูป สามารถผสมผสานปัจจัยภายในและภายนอกโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน นำความรู้จากทฤษฎีและปฎิบัติมาใช้ร่วมกันอย่างสมดุล สนองตอบปัญหาร่วมของพื้นที่ ยืดหยุ่นปรับตัวได้เร็ว ดำเนินการได้ครบวงจร วัดผลความสำเร็จได้ทั้ง output และ outcome ก่อนที่จะจัดการความรู้ไปขยายผลต่อไป

ควรมีหลายตัวแบบให้เลือกนำไปปรับใช้ ต่อยอด

ทางออก : มีพื้นที่ปฎิบัติการร่วม ใช้ข้อมูลความต้องการจากฟากของผู้สนับสนุน(เริ่มจาก รพ.อำเภอ ไปสู่โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงแรม ฯลฯ) พร้อมราคากลาง นำมาให้เกษตรกรวางแผนการผลิต เกษตรกรเองกำหนดมาตรฐานที่ต้องการ เกษตรกรเองก็มีทั้งเกษตรกรรายย่อย ผลิตแบบพอเพียงหรือเป็นผู้ประกอบการ มีได้ทั้งมาตรฐาน GAP หรือ PGS ที่จะสร้างกระบวนการตรวจแปลง รับรอง มีกลไกกลางเชื่อมโยงเครือข่ายแต่ละระดับ(บุคคล กลุ่ม ชมรม)เพื่อเป็น ๑ ในขาเก้าอี้สำคัญสร้างความเข้มแข็งในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วก็มี "คนกลาง" ที่อาจต่อยอดจากฐานเกษตรกรที่เป็นผุ้ประกอบการ สร้างกลไกในเชิงองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม หางบสนับสนุนเกษตรกร ทำสัญญาและทำการตลาด สร้างจุดคัดแยกหรือมีห้องเย็นเก็บ ในส่วนของผู้สนับสนุนเองก็ควรปลดล็อคเงื่อนไขการเงิน การทำสัญญา การทำข้อมูลหรือเมนูสุขภาพแต่ละมื้อ ที่มีการปรับปรนวัตถุดิบให้หลากหลายตามสภาพพื้นที่ เน้นพื้นที่ระดับอำเภอเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง

ความรู้ที่ผ่านการลงมือทำ จะสร้างคุณภาพความสัมพันธ์ใหม่ของผู้คนที่เกี่ยวข้อง พัฒนาต่อยอดได้ไม่สิ้นสุด และนำไปสู่การเผยแพร่ สร้างเป็นความรู้สาธารณะให้สามารถนำไปเลือกปรับใช้ร่วมกันต่อไป

สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งก็คือ การสร้างความรู้สาธารณะร่วมกัน สังคมสับสนกับข้อมูลที่เคยรับรู้และเชื่อมั่น ช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้แค่ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า สารเคมีเหล่านี้ก็ถกกันแทบตายแล้วว่ามีโทษหรือไม่อย่างไร โดยสรุปก็คือทำให้สังคมเท่าทันกับวาทกรรมทั้งหลายที่ท่วมท้นสื่ออยู่นี้

Relate topics