จาก Node สสส. สู่ Node Flagship ตรัง

  • photo  , 960x720 pixel , 121,808 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 76,581 bytes.
  • photo  , 960x652 pixel , 70,395 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 201,189 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 134,757 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 51,008 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 134,836 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 161,073 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 232,406 bytes.
  • photo  , 720x960 pixel , 153,448 bytes.

ก้าว Node สสส. สู่ Node Flagship ตรัง

เขียนโดย เชภาดร จันทร์หอม

ผ่านมา 2 ปีกว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2562 กับการเป็นหน่วยจัดการร่วมกับ สสส.ในระดับพื้นที่ หรือ “Node สสส. ตรัง”

กับการทำหน้าที่กระจายทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพให้กับชุมชนที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และต้องการสร้างสุขภาพ สุขภาวะให้กับพื้นที่ผ่านเมนูโครงการขนาดเล็กใน 8 ประเด็น อาทิ ประเด็นการจัดการขยะ ประเด็นส่งเสริมการกินผักผลไม้ในโรงเรียน ประเด็นส่งเสริมการปลูกและกินผักในชุมชน ประเด็นผู้สูงอายุ ประเด็นการออกกำลังกายด้วยศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

ปีแรกดำเนินการสนับสนุนไป 26 พื้นที่/ชุมชน และในปีที่ 2 อีก 22 พื้นที่/ชุมชน

ดอกผลที่เกิดขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการพัฒนาคน การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในบางพื้นที่ การปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการสร้างสุขภาพในหลากหลายมิติและพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการที่ช่วยกันดำเนินการจนแล้วเสร็จ ก็เลยเป็นการสร้างความไว้วางใจ ความมั่นใจในระดับหนึ่งถึงศักยภาพของทีม Node ตรัง ต่อ สสส.สำนัก 6

ครั้งนี้กับความท้าทายที่มากขึ้น

สสส.สำนัก 6 ชวนทีม Node สสส. ตรัง ยกระดับเป็น หน่วยจัดการจังหวัดระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship)

สำหรับ Node Flagship มีความต่างจากการทำงาน Node เดิม คือ ไม่ได้เพียงแค่ทำหน้าที่กระจายทุนให้ชุมชนที่ไม่เคยได้การสนับสนุนทุน สสส.ได้ดำเนินการสุขภาวะชุมชนในมิติต่าง ๆ ผ่านเมนูขนาดเล็กแล้ว แต่เป็นการให้โอกาสกับพื้นที่ในการคิด “ประเด็นยุทธศาสตร์” ของจังหวัดที่อยากขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องใช้เมนูขนาดเล็ก แต่เลือกประเด็นบนพื้นฐานประเด็นปัญหา ความต้องการของพื้นที่ รวมถึงต้นทุนศักยภาพของทีมและเครือข่าย

นอกจากนี้ก็ต้องมีบทบาททำการแทน สสส. ตั้งแต่ขั้นตอนการประชาสัมพันธ์ค้นหาพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพการเขียนโครงการกับชุมชน การพิจารณาโครงการ การติดตามและประเมินผล การพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน การสื่อสารสาธารณะ และการถอดบทเรียน เรียกว่าครบวงจร ภายใต้หลักคิดสำคัญของแผนงานนี้ในการกระจายอำนาจให้ระดับจังหวัดจัดการตนเอง

สำหรับจังหวัดตรังหลักจากการผ่านเวทีพูดคุยของทีมคณะทำงานและภาคีเครือข่ายจังหวัดตรังเลือก “ประเด็นการจัดการขยะ” และ “ประเด็นรองรับสังคมสูงวัย” เป็นประเด็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน

กับ กระบวนการพัฒนาโครงการ ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ทั้งการพูดคุยกับทีม กับภาคีเครือข่าย การจัดเวทีรับฟัง การทำเอกสาร จนสามารถส่ง e-proposal ให้ สสส. ได้ทันกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2562

และต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 7-8 มกราคม 2563 จังหวัดตรังได้เข้าร่วมประชุมปฐมนิเทศ “หน่วยจัดการจังหวัดระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship)” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ

2 วัน กับการชี้แจงทำความเข้าใจ ทั้งบทบาทภารกิจของ Node Flagship การแลกเปลี่ยนประสบการณ์บทเรียนการดำเนินงานของ Node Flagship รุ่นพี่ ได้แก่ จ.นครสวรรค์ จ.ลำปาง จ.สระแก้ว และ จ.พัทลุง

การจัดทำผลลัพธ์และตัวชี้วัดของประเด็นยุทธศาสตร์ของ Node Flagship ผ่านการทำ outcome alignment ให้ชัดขึ้น

การส่งต่อบทเรียน ข้อสังเกตและข้อควรระวังในการดำเนินงานของหน่วยจัดการ โดย อ.สุรพล เหลี่ยมสูงเนิน และการทำความเข้าใจภาพรวมการบริหารจัดการโครงการตามแนวปฏิบัติของ สสส.

ถ้าเปรียบเป็นรายการวิ่งต้องบอกว่าเริ่มปล่อยตัวจากจุด start อย่างเป็นทางการแล้ว

นับจากนี้ก็จะเป็นความท้าทายใหม่ของทีม Node Flagship Trang ที่จะใช้โอกาสจาก สสส. ครั้งนี้ ในการสร้างทีม การเชื่อมคน เชื่อมภาคีทั้งในระดับพื้นที่และจังหวัด กระจายทุนไปยังชุมชนพื้นที่ที่มีศักยภาพ ประสานทุนต่าง ๆ ทุนคน ทุนเงิน ทุนความรู้ สร้างตัวแบบการพัฒนา สร้างแรงกระเพื่อม จนนำไป สู่เส้นชัย คือ เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในประเด็นยุทธศาสตร์ทั้งประเด็นรองรับสังคมสูงวัย และประเด็นการจัดการขยะ สร้างการเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะคนตรัง

ชวนติดตามและร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับ Node Flagship Trang ครับ

Relate topics