กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพกับภารกิจสนับสนุนการปรับสภาพบ้านสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงแบบบูรณาการ

  • photo  , 960x720 pixel , 87,596 bytes.
  • photo  , 960x542 pixel , 79,464 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 56,591 bytes.
  • photo  , 716x960 pixel , 150,265 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 94,758 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 99,809 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 102,324 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 103,927 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 96,902 bytes.

ยายอายุ 80 อยู่ลำพังในบ้านที่มีงูเห่า มีอยู่จริง คนพิการยังต้องเดินไปขับถ่ายในป่า  ยังมีอยู่จริง ครอบครัว 4 คน ที่พิการเกือบทั้งครอบครัวในบ้านเจียนพัง  ก็ยังมีอยู่จริง

วันที่ 23 มกราคม 2563  ร่วมทำหน้าที่อนุกรรมการพิจารณาสนับสนุนการปรับสภาพบ้านสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ร่วมกับตัวแทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและประชาสังคม พิจารณาข้อเสนอการขอรับปรับสภาพบ้านของผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ในจังหวัดสงขลา

รอบนี้มี 15 อบต. รวบรวมเคสในพื้นที่รวม 60 ราย เข้ารับการพิจารณา ส่วนมากอนุกรรมการอนุมัติสนับสนุนตามที่ขอ บางเคสที่ขอให้เพิ่มรายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้พิการฯ มีเพียง 2-3 เคส ที่ไม่สามารถสนับสนุนได้ เช่น ผู้ขอเสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่เข้าหลักเกณฑ์ ที่บ้านมีฐานะ

กลไกนี้ริเริ่มโดยกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพฯ​อบจ. สงขลา ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการฯ ให้ได้ใช้ชีวิตในบ้านเรือนที่ "เหมาะสม" กับข้อจำกัดทางกายของแต่ละคน

ตัวอย่างจุดเน้นการปรับสภาพบ้านให้เหมาะสม

ผู้พิการนั่งรถเข็น ควรมีบ้านที่มีพื้นราบเรียบ มีทางลาด ฯลฯ

ผู้สูงอายุ ควรนั่งชักโครก มีราวจับในห้องน้ำ แสงสว่างเพียงพอ ฯลฯ

ผู้พิการทางสายตา ควรมีบ้านที่มีราวจับรอบบ้าน มีพื้นบ้านที่เหมาะสำหรับการใช้ไม้เท้า ฯลฯ

ผู้ป่วยติดเตียง ควรมีบ้านที่อากาศโปร่ง โล่ง ระบบน้ำที่เหมาะสำหรับการชำระร่างกาย ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ อนุกรรมการจะข่วยกันพิจารณาให้รอบคอบและครอบคลุมการใช้ชีวิตของแต่ละเคส ผ่านการนำเสนอข้อมูลของเจ้าหน้าที่กายภาพฯ​ และกองช่างของ อบต. เจ้าของพื้นที่ ผ่านการสนับสนุนงบเป็น 3 ระดับ คือ

ปรับเล็กน้อย ไม่เกิน 20,000 บาท เช่น เปลี่ยนจากโถส้วมนั่งยอง เป็นชักโครก ติดตั้งทางราบ ราวจับ

ปรับปานกลาง ไม่เกิน 40,000 บาท เช่น การย้ายห้องน้ำให้มาอยู่ติดบ้านเพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อผู้พิการ

ปรับใหญ่ ไม่เกิน 60,000 บาท เช่น ปรับปรุงโครงสร้าง เปลี่ยนหลังคาที่รั่ว ปรับพื้นที่ต่างระดับ

งบนี้ไม่ถือว่ามากมายนัก แต่จากอนุกรรมการที่มีความหลากหลาย ทั้งมาจากพัฒนาสังคมฯ จังหวัด กาชาดจังหวัด สมาคมคนพิการฯ ที่ต่างก็มีงบและทรัพยากรในมือ หากมีเคสไหนที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กองทุนฯ จะให้ได้ แต่ละหน่วยงานก็พร้อมจะลงขันเพิ่มเติมหากเข้าเกณฑ์ของตนเอง ถือว่าเป็นกลไกการบูรณาการที่ดีมาก "ร่วมเห็นภาพ ร่วมคิด ร่วมทำ"

มีบางเคสที่ข้อมูลยังน้อยเกินกว่าจะปิดจ๊อบได้ แต่ก็ยังน่าห่วงใยจนไม่กล้าตัดทิ้ง ก็วางแผนลงไปเยี่ยมเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม

ในส่วนของสมาคมอาสาสร้างสุข ศูนย์อาสาสร้างสุข-ภาคใต้ ได้คัดมา 2 เคส ที่ต้องไปประสานความร่วมมือจากภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจให้ร่วมสนับสนุนช่วยเยียวยา ได้แก่

นางนวนศรี คนแก่อายุร่วม 80 ปี อยู่เพียงลำพัง นอกจากจะซ่อมบ้าน ปรับแก้ห้องน้ำแล้ว ยังต้องคิดในเรื่องอาหารด้วย

เคสครอบครัวนายกิติศักดิ์ ถือเป็นเคสที่เรียกน้ำตากรรมการได้มากที่สุด ครอบครัวนี้มี 4 คน : เป็นผู้พิการสามคน อีกคนที่เป็นผู้ดูแลมีภาวะซึมเซ้า อยู่กันในบ้านหลังเก่าที่หลังคาผุ พร้อมพัง คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือมากกว่าที่กำหนด จำเป็นต้องระดมความช่วยเหลือจากภาคธุรกิจมาเสริม

นอกจากนี้ ยังมีบางเคสที่ผู้ดูแลผู้พิการขาดรายได้ ซึ่งจะได้ส่งต่อให้กับ ผ้าสร้างสุข ไปสนับสนุนให้จำหน่ายเสื้อผ้ามือสอง หรือเย็บกระเป๋า เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

แนวทางการสนับสนุนนี้ ยังคงมีต่อเนื่อง โดยในปี 63 นี้ ทางกองทุนฯ จะเปิดรับเคสที่เข้าร่วมโครงการเมื่อไหร่ อย่างไร ติดตามได้ที่หน้าเพจ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสงขลา ครับ

นิพนธ์ รัตนาคม รายงาน

Relate topics