เครือข่ายธรรมนูญตำบลน่าอยู่ ประชุมทางไกลครั้งที่ ๑ รับมือสถานการณ์โควิด๑๙

  • photo  , 960x540 pixel , 53,130 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 48,399 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 70,694 bytes.

"เครือข่ายธรรมนูญตำบลน่าอยู่ ประชุมทางไกลครั้งที่ ๑"

ปรับตัวในการทำงานรับมือโควิด ๑๙ มูลนิธิชุมชนสงขลา/๔PW/ศปจ.สงขลา ร่วมกับสมาคมอาสาสร้างสุข ทีมนักวิชาการ กขป.เขต ๑๒ เครือข่ายตำบลนาหว้า ทม.ปาดังเบซาร์ ตำบลบ่อยาง ตำบลแม่ทอม จัดประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom สอบถามสถานการณ์ปัญหา แนวทางการรับมือ มีข้อสรุปสำคัญๆ ดังนี้

๑) ทม.ปาดังเบซาร์ มีการกักตัวผู้ป่วย ๙๗ คน และเพิ่มมาอีก ๒ คนส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่ไปเรียนและประกอบพิธีกรรมการทางศาสนาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย มีการติดตามโดยอสม. ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ การรับมือเทศบาลมีการแต่งตั้งคณะทำงาน ผลิตหน้ากาก ลาดตระเวนให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายรัฐ มีการทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน โดยชุมชนเป็นแกนหลัก มีการใช้สื่อประชาสัมพันธ์สองทางช่วยลดช่องว่างการสื่อสารทางเดียวของราชการ ชุมชนมุสลิมบุหรันแดง ใช้รถเทศบาลทำสปอร์ตเสียงตามสาย โดยใช้ภาษาถิ่นและภาษามลายูให้คนเข้าใจง่าย ในพื้นที่สาธารณะเช่น ตลาด สนามกีฬา งดกิจกรรมทางสังคม เช่น การละหมาดในมัสยิด งดงานแต่ง งานบวช ใช้งบประมาณจากสปสช. และงบประมาณจากชุมชนเอง

พบปัญหาชุมชนส่วนใหญ่มาจากประเทศมาเลเซีย เมื่อกักตัวแล้วมีการอยู่ปนกันกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอื่น ๆ ต้องการจัดส่งอาหารให้กับผู้นำที่ป่วยจากโควิด นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องการทะลักหนีเข้าปาดังเบซาร์ ไม่ผ่านการคัดกรอง แต่หนีเข้ามาตามพื้นที่ป่า ไม่มีเครื่องป้องกัน เจ้าหน้าที่มีน้อย มีความเสี่ยงมากในการแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่เบื้องต้นก็มีแบบฟอร์มในการคัดกรอง และการเฝ้าระวังจากอาสาสมัครอย่างเข้มงวด

ทีมแกนนำปฎิบัติการต้องการชุดอุปกรณ์ป้องกันตัวเองเวลาลงพื้นที่

๒) อำเภอหาดใหญ่ วัดในพื้นที่เริ่มมีมาตรการการจัดงานเผาศพแบบเร่งรัด รวดเร็ว ไม่นานวัน ไม่มากคน รพ.มอ. มีการเปิดมอ.สาขา ๒ ที่ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุอบจ.สงขลา รพ.หาดใหญ่มีเปิดพื้นที่ร่วมกับรพ.นาหม่อมเพื่อรับผู้ป่วยในระยะพักฟื้นหรือฟื้นฟูร่างกายก่อนกลับบ้าน

๓) อำเภอจะนะและอบต.นาหว้า ในภาพรวมอำเภอมีผู้ติดเชื้อ ๖ ราย และได้รับการรักษาสามารถกลับบ้านแล้ว มีการดูแลกันอยู่โดยญาติที่บ้าน มีการแยกห้องแยกภาชนะต่าง ๆ และมีผู้ป่วยที่ยังไม่ยืนยันอีก ๓ ราย ในพื้นที่มีการทำงานร่วมกันกับ ผอ.โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวดทุกราย เช่น ด่านที่ควนมีดและด่านย่อยในหมู่บ้าน มีการตรวจวัดไข้ให้กับทุกคนที่ผ่านด่านเข้าออก ประชาชนในพื้นที่มีการตื่นตัวมากขึ้น เช่น มีการทำหน้ากาก มีความร่วมมือจากนายก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต.นายอำเภอ ใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพระดับตำบล ร่วมกับงบจาก อบต. ทำให้เกิดการสนับสนุนทีมงานสาธารณสุขที่ค่อนข้างสะดวก การทำงานในชุมชนใช้ฐานข้อมูลในพื้นที่ คนที่กลับมาจากต่างประเทศ และพื้นที่เสี่ยง จะอยู่ในฐานข้อมูลของ รพ.สต.ทั้งหมดและมีการแยกทีมหมู่บ้าน แบ่งกันทำงานในการเฝ้าระวัง

๔) ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา ปัจจุบันสถานที่ท่องเที่ยวมีการสั่งปิด แต่ยังไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ กลุ่มประมงพื้นบ้านไม่ค่อยมีการเฝ้าระวังป้องกันอย่างจริงจัง การป้องกันในชุมชนเน้นในเรื่องของหน้ากาก แต่ยังมีไม่เพียงพอ ทางชุมชนจึงได้มีการขออนุเคราะห์จากเอกชนและจัดทำกันเอง โดยกระจายให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งการผลิตแอลกอฮอล์ใช้กันเอง มีการสื่อสารโดยใช้กลุ่มไลน์ของบ่อยาง ให้สมาชิกกลุ่มมารับหน้ากาก หรือข้าวสาร เน้นในเรื่องของปากท้อง การปรุงอาหารพร้อมรับประทานให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอาหารในพื้นที่ชุมชน โดยผู้รับอาหารให้นำปิ่นโตมาวางไว้ที่จุดแต่ละจุดของชุมชน หากไม่มีปิ่นโต ก็อาจไปยืมปิ่นโตจากที่วัดมาใช้ก่อน โดยให้มีจุดนัดพบ หรืออีกรูปแบบหนึ่งคือ การให้เงินเพื่อสมทบค่าของกินของใช้เพื่อซื้อของ ผ่านการโอนเงิน และให้ถ่ายภาพสิ่งของที่ซื้อมาเป็นการติดตามผล ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบว่าจะเลือกแนวทางแบบไหน ข้อมูลกลุ่มเปราะบางได้มาจากการใช้จากระบบแอพพลิเคชั่น iMed@home และให้เยาวชนช่วยป้อนข้อมูลในระบบ เพื่อรายงานผลการเยี่ยมบ้าน

ยังพบปัญหาการอยู่รวมกันของคนในชุมชนเมืองไม่ได้แยกกันอยู่แต่อยู่รวมกัน อาจเกิดความเสี่ยงในการรับหรือแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและเร็ว มีภาวะเครียดของกลุ่มคนยากลำบากที่ขาดแคลนในเรื่องของอาหาร น้ำดื่ม การเคลื่อนย้ายในเขตเมืองห้ามยากมาก ยังมีกิจกรรมกลุ่มที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น การขายอาหารของร้านชำ การขายยาดอง ไม่มีหน้ากากไม่มีการป้องกัน กรณีข้าวสารอาหารแห้งและน้ำดื่มในพื้นที่เขตเมือง ยังไม่มีแนวทางชัดเจนในการช่วยเหลือ

๕) ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ มีการดูแลป้องกันร่วมกับอบต และกศน.รวมทั้งจิตอาสา โดยทำหน้ากากและเจลล้างมือ แจกประชาชน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนตำบล โดยมีจุดบริจาคที่วัดคูเต่า ทางหมู่บ้านมีการทำหนังสือและแจกเจลล้างมือให้ครัวเรือนละ ๑ ขวด มีการรณรงค์ใช้ยาสมุนไพร เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันและการดูแลสุขภาพ

พบปัญหามีการใช้พื้นที่สาธารณะตามร้านน้ำชา นั่งกินรวมกัน ยังไม่มีการใช้หน้ากากอนามัยป้องกัน คนที่ไปตลาดนัด ไม่มีการป้องกันตนเอง มีจุดเสี่ยงคืออิสลามที่อาจมาจากนอกพื้นที่ บางหมู่บ้านที่ไม่ค่อยสนใจติดตามข้อมูล

๖.เรียนรู้การใช้ระบบเยี่ยมบ้านในแอพพลิเคชั่น iMed@home และแนวทางความร่วมมือระดับตำบล -การพัฒนาระบบข้อมูลระดับบุคคลโดยประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูล เฉพาะในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ โดยร่วมกันกับระบบเยี่ยมบ้านและอาหารปลอดภัย หลักการคือ ใส่ชื่อหรือเลข ๑๓ หลัก โดยเจ้าตัวหรือชุมชน สำรวจในเรื่องของอาหาร น้ำ สะท้อนความต้องการ และออกความต้องการว่าในพื้นที่ตำบลนั้น ๆ ต้องการอะไร โดยนำไอเดียจาก iMed@home มาปรับใช้ โดยระยะสั้นคือมีมาตรการไหนที่ยังเป็นช่องว่าง เป็นปัญหาเฉพาะ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนได้ -พัฒนากลไกกลางและการรับส่งข้อมูลข่าวสารมายังศูนย์ประสานงานของชุมชน แล้วมีการรวบรวมข้อมูลในแต่ละตำบล แล้วประสานความช่วยเหลือหรือความต้องการเร่งด่วนจากเทศบาล หรือชุมชน ในลักษณะตาสับปะรดของชุมชน หรือวิทยุเครื่องแดง มีการมองภาพรวมของพื้นที่เพื่อค้นหากลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนทั้งกลุ่มเชิงพื้นที่ กลุ่มวัย กลุ่มอาชีพ ใช้โอกาสนี้เป็นช่องทางในการทำงานสร้างความเป็นชุมชน และสร้างการสื่อสารร่วมกันในระดับตำบล

๗)ข้อเสนอแนะสำคัญต่อเครือข่ายและหน่วยงาน

๑.เครือข่ายตำบลพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลปัญหาและความต้องการของคนเปราะบางและคนยากลำบากในสถานการณ์ภัยพิบัตินี้ด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถแจ้งความเดือนร้อนหรือความประสงค์ขอความช่วยเหลือจากชุมชนหรือหน่วยงานต่าง ๆ

๒.ในชุมชนแออัดใช้การสังเกตอาการเบื้องต้น เป็นการคัดกรองด้วยตนเอง เช่น มีน้ำมูก เจ็บคอ เป็นไข้หรือไม่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและกักตัวเองไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ

๓.คณะกรรมการระดับจังหวัดควรให้ความสำคัญกับมาตรการในร้านน้ำชา ตลาดนัดชุมชน ประวัติเคสที่ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย การสูบบุหรี่ในพื้นที่ร้านน้ำชาและการพูดคุยเป็นกลุ่มล้วนมีความเสี่ยง

๔.เริ่มมีการเตรียมการในเรื่องของอาหารรองรับความต้องการ -อาหารสดจากพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ข้าวสารอาหารแห้ง อาหารแปรรูปพร้อมทาน -ในพื้นที่บ่อยางมีการแปรรูปอาหารรองรับความขาดแคลนทางอาหารในอนาคต เช่น มีการทำน้ำบูดู ปลาแดดเดียว เนื้อแดดเดียว ข้าวตัง และใช้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ถนอมอาหาร และเชื่อมโยงผู้ผลิตอาหารต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ผู้ผลิตไข่ไก่ ข้าวสาร น้ำดื่ม โดยอาจจะซื้อร่วมกันและแบ่งกันไปตามชุมชน และการสร้างระบบออนไลน์เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยลดการออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด โดยส่งผลผลิตตรงถึงบ้าน -คณะอุตสาหกรรมเกษตร และหน่วยโภชนาการ มอ.มีการทำอาหารแปรรูปเป็นกระป๋องหรือข้าวแห้ง สามารถนำมาเตรียมความพร้อมรองรับ -การทำโรงทานเพื่อบริจาคให้กับคนในชุมชนเมือง โดยอาจหาคนที่มีความพร้อม เพื่อกระจายทำไปในแต่ละจุด ซึ่งมีผู้ที่ต้องการบริจาคเงินให้สำหรับการทำโรงทาน

๕.ใช้ทุนหรือกองทุนสาธารณะในพื้นที่ อาทิ อำเภอปาดังเบซาร์มีแนวทางการใช้ฐานข้อมูลที่มีเพื่อเป็นฐานข้อมูลกลาง ใช้กองทุนซากาตในการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น การซื้อชุดป้องกัน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการค้นหาผู้ที่กักตัวเพื่อให้เข้ามารายงานตัวและเฝ้าระวังต่อไป

๖.การรับมือในเขตเมือง ควรมีศูนย์ประสานงานกลาง อาทิ ศูนย์อาสาสร้างสุขมีการวางแผนในการจัดการอาหารเป็นครัวกลางของชุมชนเมือง ในการระดมวัตถุดิบจากห้าง หรือชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการด้านอาหารได้ด้วยตนเอง โดยอาจมีตัวแทนหรือกลไกของสมาชิก เป็นครัวกลางในการผลิต หรือมีเครือข่ายศูนย์ประสานงานออนไลน์มีการประชุมทางไกลผ่านระบบต่างๆเพื่อเป็นช่องทางกลางในการสื่อสารร่วมกันของพลเมือง ที่หากใครสะดวกหรือมีเวลาว่างก็เข้ามาแลกเปลี่ยนในห้อง เป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางอากาศร่วมกัน โดยกำหนดวัน ระยะเวลา ให้ชัดเจนว่าอาทิตย์ละกี่วัน เพื่อชักชวนให้คนอื่น ๆ เข้ามาร่วมในห้องด้วย

๘)จัดให้มีการประชุมทางไกลอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้น ทุกวันอังคาร วันพฤหัส และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น.

ชาคริต โภชะเรือง รายงาน

Relate topics