ธรรมนูญออนแอร์ครั้งที่ ๑๔ : "สุขภาพจิตในสถานการณ์โควิด"

  • photo  , 960x540 pixel , 104,811 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 108,351 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 51,556 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 57,929 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 109,651 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 78,436 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 68,646 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 89,127 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 77,619 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 68,234 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 72,031 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 82,671 bytes.

"สุขภาพจิตในสถานการณ์โควิด"

ธรรมนูญ on air ครั้งที่ ๑๔ วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓  ประสานบุคลากรและภาคีเครือข่ายร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาสุขภาพจิตและหามาตรการรองรับ

สรุปประเด็นสำคัญ

๑.ศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ โดยนพ.นพพร ตันติรังสี ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ กล่าวถึงปัญหาสุขภาพจิต สามารถวัดได้จากพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อารมณ์เครียดง่าย ซึมเศร้า ความสัมพันธ์กับคนอื่นแย่ลง ทะเลาะกับคนอื่นมากขึ้น การทำงานแย่ลง การดูแลตัวเองมีปัญหานอนไม่หลับ กินไม่ได้ ความเครียดส่งผลต่อร่างกาย หากจัดการไม่ได้จากภาวะเครียดธรรมดาจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง คนธรรมดา ๒-๓ วันสามารถจัดการได้ แต่หากมีปัญหาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่การรักษา

ในพื้นที่เขต ๑๒ ได้มีการประเมินความเครียดของผู้ที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง บุคคลที่มีภาวะเครียดมากที่สุดคือ บุคลากรทางการแพทย์ จากการสำรวจแบบสอบถามตั้งแต่เดือนมีนาคม - ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พบว่าบุคคลากรทางการแพทย์ ๓,๕๖๒ คน ระดับความเครียดสูงสุด ๒๒๑ คน หรือราว ๖ % (อาจเกิดจากความกังวลในเรื่องของการติดเชื้อและการดูแลรักษา โดยเฉพาะในการดูแลคนไข้ และไม่ได้กลับไปพบครอบครัว) นอกจากนี้พบผู้ติดเชื้อเองมีความเครียด ๑% กลุ่มญาติมีความเครียด ๓% และประชาชนทั่วไปมีความเครียด ๑ %

กรมสุขภาพจิตมีคู่มือในการดูแลสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบ และบุคลากรทางด้านสาธารณสุข มีเนื้อหาหลักๆ คือ หลักการในการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิต ประกอบด้วยการประเมินความเครียดทบทวนใจตัวเองเพื่อให้รู้ตัวว่าเครียดหรือไม่ อยู่ในภาวะหมดไฟหรือไม่ ควรมีคนรับฟัง การเคลียร์ใจกันทุกวันในระหว่างการทำงาน และวางแผนในการดูแลเพื่อป้องกัน การวางเป้าหมายและการจัดการปัญหา บริหารเวลาในการดูแลตัวเอง เวลาในการพักผ่อน การปรับพื้นฐานสุขภาพกายใจให้เป็นปกติ และการสร้างพลังใจด้วยสติบำบัด เข้าใจและรับฟัง

ศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ ให้การดูแลด้านจิตใจ มีสายฮอทไลน์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะโดยมีภาษาที่ใช้สื่อสาร ๒ ภาษาคือ ภาษาไทยอย่างเดียวเบอร์โทร ๐๘๖-๔๘๘๕๘๔๒ ภาษาไทยและมลายูเบอร์โทร ๐๘๖-๔๘๘๕๘๔๔

๑.๒ โครงการ Heartcare เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ท้อ นักจิตฯ ขอดูแล โดยผศ.ดร. จุลราพร สินสิริ และมีสสส.ให้การสนับสนุน วัตถุประสงค์คือ การให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ โดยการรวมตัวของนักจิตวิทยาในหลายองค์กร ตอนนี้เริ่มดำเนินการไปแล้ว มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเพจ เฟสบุ๊ค ให้การดูแลบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไป ในเรื่องของความรู้ด้านจิตวิทยาโดยบริการทั่วประเทศ หากบุคลากรไม่มีเวลาสามารถให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือได้

โครงการ Heartcare เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ท้อ นักจิต ขอดูแล ติดตามข้อมูลได้ที่เพจ

https://www.facebook.com/HeartcareOfficial/

และโครงการ Telehealth ศูนย์กู้ใจ by Relationflip  ติดตามข้อมูลที่เพจ  ศูนย์กู้ใจ By Relationflip

https://www.facebook.com/FightCovid19ByRelationflipOfficial/?epa=SEARCH_BOX


๑.๓ ศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง ครัวชุมชน ๖ ครัว ในพื้นที่ชุมชนหัวป้อมและชุมชนหลังอาชีวะขอปิดครัวแบบถาวร แต่มีพื้นที่เขารูปช้างเพิ่มเข้ามาแทน สำหรับสมาชิกกลุ่มใหม่นี้ทางกลุ่มสนับสนุนเป็นข้าวสารและอาหารแห้ง จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ๒๙๕ คน ผลกระทบด้านสุขภาพจิตในช่วงแรกชุมชนมีความกลัวโดยเฉพาะความกลัวตาย กลัวติดโรคโควิด มีพฤติกรรมสวมแมส ๒ ชั้น ระแวง ความกังวลที่มากที่สุด คือ ความอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งมี ๒ ราย โดยอยากฆ่าตัวเองและฆ่าลูกฆ่าเมีย ทางชุมชนจึงได้มีการแยกครัวเรือน แต่ให้อยู่ในบ้านมีงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำ ตอนนี้ยังไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงาน เมื่อมีกิจกรรมปิ่นโตตุ้มตุ้ย ชุมชนรู้สึกว่าเหมือนมีที่พึ่งทางใจ เพราะมีพื้นที่กลางในการแสดงออกของความรู้สึกนอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนดีขึ้น ตอนนี้หน่วยงานที่เข้ามาช่วย คือ ศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ ในการให้คำแนะนำในการเช็คสุขภาพจิต เรียกว่า “กระจกวัดใจ”เป็นเครื่องมือเทียบเคียงอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน

๑.๔ อบต.คูหา อ.สะบ้าย้อย มีการจัดทำพื้นที่กักตัว ๖ ศูนย์แต่เปิดใช้งาน ๓ ศูนย์ คนที่อยู่ในพื้นที่กักตัวมาจากประเทศมาเลเซียและภูเก็ต โดยชาวบ้านอยากให้มีการกักตัวที่ศูนย์เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่ามีมาตรการและการควบคุมที่ดีกว่า กรณีแรกๆ ที่เข้ามาในหมู่บ้าน เป็นคนที่เดินทางมาจากประเทศปากีสถานและอินเดีย ซึ่งในการทำงานตอนนี้มีการช่วยเหลือจาก รพ.สต. อสม. และชรบ. พบปัญหาเรื่องของสุขภาพจิตของคนในชุมชนในพื้นที่ห้วยเต่า และผู้ที่มากักกันตัวเรียกร้องในเรื่องความต้องการด้านความเป็นอยู่ในมาตรฐานเดียวกับภูเก็ต อยู่ในพื้นที่รีสอร์ท มีแอร์ ทีวี ตู้เย็น แต่ชุมชนก็มีความพร้อมในการดูแลผู้ที่กักกัน มีการอำนวยความสะดวกในเรื่องของอาหาร ของใช้ส่วนตัว

๑.๕ จังหวัดสตูล เครือข่ายภาคประชาสังคมมีการเข้าไปในพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนกลุ่มดาวะห์ ๑๘ ราย แนะนำเรื่องการป้องกันตัว การดูแลสุขภาพ และพบปัญหาความเครียดของบุคลากรในการดูแลกลุ่มลูกเรือ ๑๐๐ กว่าคน ที่เรียกร้องความต้องการในการดูแลไม่เหมือนกัน อันเกิดจากปัจจัยพฤติกรรมส่วนบุคคล และภาวะเครียดสะสมจากการไม่ได้กลับบ้าน หรือเกิดจากเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ รายได้

๒. ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ เสนอต่อศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ โครงการ Heartcare เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ท้อ นักจิตฯ ขอดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๑)นอกจากประเมินความเครียดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ควรขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังบุคลากรหน่วยงานท้องถิ่น อสม. /อาสาสมัครเฝ้าระวัง ประชาชนในชุมชน

๒)ร่วมกันพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ทั้งในแง่ทักษะความรู้ส่วนบุคคล และการวางแผนรับมือ

๓)ร่วมแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ หรือประชาชนที่มีภาวะซึมเศร้าในช่วงสถานการณ์ จัดหลักสูตรด้านการพัฒนาสุขภาพจิตแบบออนไลน์ เช่น หลักสูตรสติบำบัด การรู้อารมณ์จัดการอารมณ์ของตัวเองได้ หรือมีแบบประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ หรือมีการแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่มเล็กๆ การเยี่ยมเยียนถึงบ้าน การสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง

๔) ร่วมกันพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิต พัฒนาเครื่องมือ กระบวนการต่างๆ ในลักษณะแบ่งปันทรัพยากรที่มีส่งต่อความร่วมมือ หรือร่วมกับชุมชนเป้าหมาย หรือมีการทำงานเชิงรุกไปยังกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน

๕)กรณีมีกลุ่มเสี่ยงกำลังจะเดินทางเข้าพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งข้อมูลล่วงหน้าถึงลักษณะเฉพาะ ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นไปยังพื้นที่ จะทำให้สามารถวางแผนในการจัดการทั้งแพทย์ผู้ดูแลและความต้องการอื่นๆได้อย่างเหมาะสม หรือแบบสอบถามของบุคลากร ในเรื่องของความต้องการด้านต่าง ๆ เป็นการลดภาวะความเครียดได้

๖)กรณีตำบลบ่อยาง ร่วมกับครัวกลางชุมชนคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบ และใช้แบบสัมภาษณ์คัดกรองภาวะซึมเศร้าเบื้องต้น โดยทีมวิชาการโทรสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ จำนวน ๔๐ ราย การแบ่งกลุ่มคนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ปัญหาจากยาเสพติด บุหรี่ หรือด้านอื่น ๆ เพื่อที่จะได้วางแผนในการช่วยเหลือได้ถูกช่องทาง ศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ ลงไปให้คำแนะนำ พร้อมมอบ “กระจกวัดใจ”เป็นเครื่องมือวัดสภาวะสุขภาพจิตเทียบเคียงอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวันพร้อมสื่อประชาสัมพันธ์ ต่อไปในอนาคตจะสามารถกลไกผู้ช่วยนักจิตเวชระดับชุมชนพัฒนา ในการสร้างกำลังใจให้กับคนจนเมือง คือ อย่าสร้างความคาดหวัง แต่ให้เขาสร้างกำลังใจได้ด้วยตนเอง ให้เขาพึ่งตนเองได้มากที่สุด ปล่อยให้เขาดูแลตัวเองสักระยะ และหากมีภาวะซึมเศร้ามาก ก็ส่งต่อหน่วยงาน

๗) กรณีอบต.คูหา ได้จัดให้มีชุด careset ประจำตัวให้กับผู้ถูกสังเกตุอาการ ที่สำคัญคือปรอทวัดไข้เพื่อป้องกันบุคลากรมีความเสี่ยงเข้าไปใกล้ชิด และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง มีการซื้อปรอทวัดไข้ให้กับบุคลากร และมีการแบ่งบทบาทการทำงานในลักษณะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปทำงานเพื่อลดความเครียด เช่น ฝ่ายจัดซื้อของ ฝ่ายสถานที่ การอยู่เวรกลางวัน กลางคืน ฝ่ายสาธารณสุข

๘)กรณีผู้ที่มีความเครียดในภาวะวิกฤติอาจมีช่องทางด่วนในการเข้าถึงการรักษา โดย รพ.จิตเวช ต้องเปิดช่องทางดังกล่าวไว้ เพื่อช่วยลัดขั้นตอนไม่ให้ยุ่งยากมากจนเกินไป

๙)สังคมควรปรับทัศนคติต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตว่าไม่ใช่คนเสียสติเท่านั้น จะได้รองรับภาวะความเครียด โรคซึมเศร้า หรือการทำร้ายตัวเอง

ชาคริต โภชะเรือง รายงาน

Relate topics