"เรียนรู้จากตู้ปันสุข"

  • photo  , 720x960 pixel , 86,172 bytes.
  • photo  , 467x960 pixel , 61,116 bytes.
  • photo  , 900x600 pixel , 95,192 bytes.
  • photo  , 467x960 pixel , 75,245 bytes.
  • photo  , 467x960 pixel , 75,496 bytes.
  • photo  , 776x960 pixel , 114,273 bytes.
  • photo  , 720x960 pixel , 134,894 bytes.
  • photo  , 720x960 pixel , 118,667 bytes.

"เรียนรู้จากตู้ปันสุข"

เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง

๑)กระแสตู้ปันสุขเกิดขึ้นรวดเร็ว ขยายผลไปได้ทั่วประเทศ เพียงแค่ปรับชื่อ ปรับลีลาปลีกย่อยให้สอดคล้องกับตัวตนของคนทำ แต่รูปแบบไม่แตกต่างกันนัก ด้านหนึ่งสะท้อนจิตใจของผู้ให้ และการแบ่งปันที่อยู่ในสายเลือดความเป็นคนไทยมานาน ทำให้ผมนึกถึงในอดีตภาคใต้เรามี "หลา" กลางเป็นที่พักอาศัยของคนเร่ร่อน เดินทาง มีน้ำ มีปลาแห้ง ข้าวสาร วางไว้ในหม้อ "เพล้ง" เป็นที่รับรู้กัน

๒)จุดเด่นคือ คิดแล้วสามารถทำได้เลย ทำได้ง่าย ลงทุนไม่มาก เห็นผลทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าภาพหลักรับผิดชอบ แค่ลงทุนประเดิมเป็นตัวอย่าง พร้อมกับมีป้ายเขียนสื่อแนวปฎิบัติ คนอื่นที่เห็นด้วยสามารถลงมือทำตาม ทำให้กระแสการให้เช่นนี้จุดประกายความดีงามในใจผู้คน ทลายกำแพงแห่งความเชื่อของสังคมไทยในยุคทุนนิยม "มือใครยาว สาวได้สาวเอา"

๓)สามารถลดช่องว่างการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า กระจายไปยังจุดต่างๆ ทำให้เพิ่มช่องทางการดูแลคนยากไร้ ผู้ต้องการความช่วยเหลือ รูปแบบที่ทำก็เข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องรอ

๔)ผลสะท้อนกลับมาอันเกิดจากการกระทำเชิงปัจเจก เกิดผลในแง่ของการเป็นผู้ให้ เช่น ได้ทำบุญ ทำทาน ได้ความสุข ได้ภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ที่ช่วยเหลือกันในยามยาก ฯลฯ และมีองค์กรต่างๆนำไปขยายผล ทำให้เกิดการแพร่กระจายความคิด สังคมได้เห็นทางเลือกที่มากกว่ารอคอยเงินเยียวยา และสอดรับกับจริตของชนชั้นกลางที่ต้องการแสดงออก

๕)อย่างไรก็ดี ตู้ปันสุขยังมีข้อจำกัดในตัวเช่นกัน(เช่นเดียวกับโรงทานอื่นๆ) กล่าวคือไม่สามารถจำกัดหรือกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน ใครๆก็สามารถเข้าถึงได้ แต่ก็อาจจะแค่บางคน บางกลุ่มที่รับรู้ แต่คนที่เดือดร้อนจริงอาจจะไม่รับรู้เข้าไม่ถึง หรือบางคนอยู่ติดที่ ป่วย ไม่มีใครมาอำนวยความสะดวก การเกิดของตู้ปันสุขของแต่ละที่จึงเหมือนดอกไม้บานเฉพาะจุดให้บางคนที่อยู่ใกล้ๆแถวนั้นเท่านั้นได้ชื่นชมความหอมหวาน และขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้มารับบริการว่าเป็นผู้เดือดร้อนจริง ไม่เห็นแก่ตัวหยิบฉวยแบบ "กินรวบ" เอาไว้คนเดียว (เขาอาจเดือดร้อนกันหลายคน หลายครัว) หรือนำไปขายต่อหาเงิน(กรณีทำมาหากินทุกช่องทาง) หรือเหตุผลสาระพัดที่จะตามมาอธิบายพฤติกรรมในบางคนที่จะมาหยิบของไป

๖)ปัญหานี้เกิดจากการชนเพดานความคิดของวิธีการ ที่ไปได้สุดทางแล้ว ติดกรอบคิดการช่วยเหลือในเชิงปัจเจกที่ว่า คิดในระดับกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำได้ง่าย ใครๆก็สามารถมีส่วนร่วมดำเนินการ สะท้อนการมองไม่เห็นความสัมพันธ์เชิงระบบกับชุมชน สังคม และระบบการช่วยเหลือที่เป็นเรื่องของ "โครงสร้าง" หรือมองเห็นแต่ไม่อยากยุ่งยาก มากเรื่อง ทำอะไรไม่ได้ หรือเหตุผลนานา

๗) ตู้ปันสุขควรจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นระบบเสริม และหากเรามีปฎิสัมพันธ์กับผู้คน รับรู้ปัญหาความทุกข์ยากซึ่งกันและกัน เห็นคนที่เปราะบางที่สุด ลำเค็ญที่สุด ไม่เห็นแต่ความทุกข์ของตน จะนำมาสู่การลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือกันและกัน มีระบบหลักของชุมชนทำหน้าที่สำรวจ ลงทะเบียนความต้องการ และจัดรูปแบบนำส่งหรือมารับ(เช่น ปิ่นโตตุ้มตุ้ยทำกับคนจนเมืองบ่อยาง) หรือหาวิธีการอื่นๆ มาเสริมหนุนกันและกัน(เหมือน "หลา" กลาง) ซึ่งเป็นรูปแบบสังคม ที่มิใช่มีแต่ชื่อชุมชน แต่ปราศจากความสัมพันธ์ ตู้ปันสุขเป็นได้เพียงระบบเสริม และได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว จุดเด่นที่สุดของตู้ปันสุขสำหรับผมก็คือสะท้อนช่องว่างของระบบ สะท้อนช่องว่างทางความคิดของผู้คน สะท้อนช่องว่างเชิงโครงสร้างที่มีความเหลื่อมล้ำกันในทุกมิติ จึงไม่แปลกที่เราเห็นปรากฏการณ์สังคมไม่ไปในทิศทางที่คาดหวัง

Relate topics