ธรรมนูญออนแอร์ครั้งที่ ๑๖ : "ตลาดแบ่งปัน" บทสรุปของการรับมือและปรับตัวของเครือข่ายตลาดชุมชน

  • photo  , 960x540 pixel , 73,869 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 112,403 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 92,106 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 66,979 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 58,116 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 66,638 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 46,162 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 93,370 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 101,687 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 57,784 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 60,329 bytes.

"ตลาดแบ่งปัน" : บทสรุปของการรับมือและปรับตัวของเครือข่ายตลาดชุมชน

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓  เครือข่ายกขป.๑๑ และกขป.เขต ๑๒ ภาคใต้ร่วมวงธรรมนูญ on air ครั้งที่ ๑๖ เผยให้เห็นว่าภายใต้วิกฤตคือโอกาส ต่างอาศัยพื้นฐานความเป็นเครือข่ายและแนวคิดการแบ่งปัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปสู่การรับมือและปรับตัวของตลาดรูปแบบต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ผลผลิตบางแห่งล้นตลาด บางแห่งไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

๑.ตลาดนัด ๑๐๐ ปีวัดคูเต่า นับเป็นตลาดดั้งเดิมของชุมชน “พหุวัฒนธรรม” ปลายลุ่มน้ำอู่ตะเภา ที่มีทั้งไทยพุทธ มุสลิม นำสินค้าชุมชนรวมทั้งปลาในทะเลสาบ เปิดขายทุกเช้าวันพฤหัสบดี มีการเก็บค่าสถานที่เพื่อบำรุงให้กับวัด ร้านค้าละ ๕-๑๐ บาท ภายใต้สถานการณ์โควิด มีการปรับรูปแบบตลาดใหม่ โดยการจัดพื้นที่ใหม่ ให้มีการจองล็อค จัดพื้นที่ให้กระจายไม่กระจุกอยู่บริเวณทางเช้า และการประชาสัมพันธ์ในการดูแลป้องกันโรค สวมหน้ากากผ้าทั้งคนขายและคนซื้อ มีการตรวจวัดอุณหภูมิตรงประตูทางเข้าตลาด ช่วงแรกดำเนินการโดยกองทุนหมู่บ้านตำบล ต่อมาอบต.และกองทุนสุขภาพตำบลก็มาร่วมโดยมีภาคีและภาคส่วนต่าง ๆ เช่น รพ.สต., อบต.แม่ทอม, อสม, .ผู้นำชุมชน

๒.ตลาดภูมิปัญญา จังหวัดสุราษฏร์ธานี แนวคิดเริ่มจากการต่อยอดผลิตภัณฑ์และผลผลิตที่มีในชุมชนอย่างหลากหลาย เช่น ปลาในแม่น้ำตานี ขนมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาในด้านวิถีชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยดำ อาหาร ฯลฯ จึงได้รวมกลุ่มกันนำมาจำหน่ายร่วมกับสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด การท่องเที่ยว เกษตรจังหวัด ในการออก Event ในระดับชุมชนและระดับจังหวัด โดยแกนนำยุวชนสร้างสรรค์ดำเนินการ โดยมูลนิธิเอสซีจีสนับสนุนโครงการต้นกล้าชุมชน ให้เยาวชนได้มีโอกาสกลับมาพัฒนาหมู่บ้านชุมชนของตนเอง ทางทีมจึงได้เสนอโครงการตลาดภูมิปัญญา เพื่อให้เชื่อมโยงคนภายในภายนอกและเครือข่ายให้เข้ามามีส่วนร่วม

ตลาดตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำโรงเรียนบ้านไทรงาม ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมีวัดดอนมะลิเป็นศูนย์ประสานงานกลาง แนวคิดคือเรื่องของการสืบทอดภูมิปัญญา โดยคัดเลือกภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ไทยดำ หรือลาวโสร่ง ซึ่งเป็นชนดั้งเดิม อพยพมาจากตอนเหนือของประเทศจีน เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วงภาวะสงครามโลก และตั้งแต่สมัย ร.๕ ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี มีลาวโสร่งจำนวนประมาณ ๑๐๐ ครัวเรือนหรือ ๑,๐๐๐ คน พิธีกรรมความเชื่อที่เด่น ๆ ของพื้นที่ มีลายผ้า การแต่งกาย อาหารพื้นบ้าน การละเล่น ที่เป็นเอกลักษณ์ ดำเนินการตลาดมาได้จำนวน ๑๒ ครั้ง โดยเปิดขายเดือนละ ๒ ครั้ง ในช่วงต้นและปลายเดือน ตอนนี้ตลาดปิดตัวลงโดยภาวะสถานการณ์

การปรับตัวด้านตลาด ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดในทุกวันศุกร์ เพื่อขายสินค้าผ่านเพจ มีทีมจัดการแบ่งผลกำไรเข้าสู่กลุ่ม เป็นกองทุนชุมชนในเรื่องของอาชีพในการนำไปสู่การพัฒนาฐานภูมิปัญญา ขายในลักษณะกลุ่มเพื่อนมากกว่าเปิดขายทั่วไป

ร้านค้าออนไลน์ HealthD ริเริ่มโดยร้านตวงรักษ์ เป็นร้านหนึ่งในตลาดภูมิปัญญา ที่มีแนวคิดหลักในเรื่องของการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ รณรงค์ให้สมาชิกร้านค้า ลูกค้าในตลาด นำภาชนะมาเอง โดยจะมีส่วนลดราคาให้เป็นแรงจูงใจและจะมีการถ่ายรูปลงในเพจตลาดภูมิปัญญา เพื่อเป็นการสร้างกระแสรณรงค์ ต่อมาได้เปิดเพจ HealthD เพื่อส่งผลิตทางไปรษณีย์ แต่ก็พบปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้พลาสติกห่อหุ้มทำให้สินค้าเสียหายระหว่างทาง ได้ปรับมาใช้กล่อง reuse ของไปรษณีย์ที่มีวัสดุกันกระแทก

๓.ตลาดรอมฎอน จังหวัดยะลา เทศบาลนครยะลามีการปรับตัวโดยปิดตลาดเดิม และเปิดพื้นที่ใหม่ริมถนน พร้อมกับวางเต้นท์แบบห่างจากกันให้พ่อค้าแม่ค้ามาจำหน่าย ช่วงแรกให้เช่าต่อมาให้ให้ใช้พื้นที่ฟรี แต่ประสบปัญหาไม่มีคนมาซื้อ เนื่องจากการเข้ามาในเมืองยะลามีด่านทุกสายที่ตั้งตรวจ เป็นการสกัดกั้น ทำให้คนจากภายนอกเข้ามาในเมืองค่อนข้างลำบาก คาดว่าจะดีขึ้นในช่วง ๑๐ วันสุดท้ายของรอมฎอน

๔.เครือข่าย "เกลอกรีน" : มะม่วงออนไลน์เชื่อมเครือข่ายใต้-อีสาน เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าชุมชนและการหนุนเสริมช่วยเหลือกัน โดยแนวคิดเรื่องการทำฐานทรัพยากร การเฝ้าระวังสุขภาพ เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตด้วยกัน ภายใต้เครือข่าย “เกลอกรีน” เป็นการผูกความสัมพันธ์ในการจัดการผลผลิตทางการเกษตร เป็นการเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนซื้อขาย ได้มีการสั่งมะม่วงมาตรฐาน GAP จากมหาสารคามจำนวน ๒๐๐๐ กก.

กระบวนการทำงาน ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในความเป็นเพื่อน ร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดตรัง บริษัทประชารัฐฯจังหวัดสารคาม เชื่อมโยงกับเครือข่ายมะม่วงสารคาม ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน

การจัดการ กำหนดราคาและความต้องการร่วมกัน รอบแรกเป็นการแบ่งปันกันให้ทุกคนได้กินในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ คุ้มค่าขนส่งและค่าแรง การทำงานครั้งแรกใช้อาสาสมัคร ขนส่งมาทางรถ บางส่วนบรรจุกล่อง โดยทั่วไปเทกองคละกันมา ในรอบแรกเจ้าของสวนเป็นคนจัดการ โดยเก็บผลผลิตแล้วใช้เวลาส่ง ๒ วัน มะม่วงจะสุกพอดีทานได้ใน ๓ วัน แต่รอบหลังที่จะสั่งจำนวน ๒๖๐๐ กก. มีการคัดคุณภาพและบรรจุกล่องรวมค่าขนส่ง กิโลกรัมละ ๑๕ บาทโดยบริษัทประชารัฐฯมหาสารคามรับผิดชอบ ส่งมาให้บริษัทประชารัฐฯตรังและเครือข่ายกระจายผลผลิต

การสื่อสาร ใช้วิธีทำข้อมูลสั่งซื้อล่วงหน้า รอบนี้สั่งซื้อจำนวน ๒ ตันครึ่ง โดยการชวนเพื่อนจากพัทลุง ตรัง สตูล มาเป็นหุ้นส่วน โดยหุ้นส่วนจะได้มะม่วงในราคาขนส่งที่กิโลกรัมละ ๑๕ บาทเหมือนๆกัน เมื่อมะม่วงไปถึงพื้นที่ มีการกระจายมะม่วงไปยังกลุ่มเพื่อนในแวดวงต่าง ๆ โดยขายในเครือข่ายคนหัวใจสีเขียวราคากิโลกรัมละ ๒๐ บาท ตอนนี้เป็นผู้ช่วยขายให้กับบริษัทประชารัฐฯเป็นหลัก เน้นการแบ่งปัน รักษ์โลกและมีส่วนแบ่งนิดหน่อย ต่อไปเราอาจจะเชื่อมโยงผลผลิตอื่นๆร่วมกันอีก เช่น กะปิ อาหารทะเลจากเกาะลิบง ส่งข้ามจังหวัด

๖.สวนผักภูธาร ร่วมกับเครือข่ายสวนผักคนเมือง ปรับพื้นที่และปรับปรุงดิน เพื่อปลูกผักสลัด ในพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ มี ๙ โรงเรือน โดยทำแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการปลูกผักกินเอง โดยขายความคิดให้คนเมืองมีสวนเล็ก ๆ ปลูกผักกินเองในพื้นที่รอบบ้าน โดยขายต้นพันธุ์ ขายทั้งกระถาง และตัดต้นขาย ให้กับผู้บริโภค การขายแบบออนไลน์ต้องหากลุ่มลูกค้าที่สนใจ ตั้งเป็นกลุ่มชุมชน โดยต้องผลิตและส่งเองให้คุ้มกับสินค้าที่เราขาย มีการจ่าย ๒๕ เปอร์เซ็นต์ให้กับคนที่จัดการ

๗.ตำบลชะอวด นครศรีธรรมราช ภายใต้แนวคิดพื้นที่ปลอดภัยเริ่มจากการสำรวจข้อมูลอาหารในชุมชน ใครมีอะไรที่ไหน มากน้อยเพียงใด นำไปสู่การแบ่งปันอาหาร โดยการจัดตั้งกลุ่มไลน์ มีกติการ่วมกัน โดยทำในรูปแบบอินทรีย์ สั่งซื้ออาหารผ่านไลน์ แล้วนัดเวลาในการส่งผลผลิตมาแขวนและรับเงินที่วางไว้ ต่อมามีอาสาสมัครเป็นคนกลางในการรับส่งสินค้า มีรถกะบะในลักษณะตู้กับข้าวเคลื่อนที่ ตอนนี้สินค้าเริ่มหมด เลยปรับตัวมาทำเรื่องการปลูกผักระยะสั้น ให้คนที่ว่างงานปลูกสร้างรายได้ เริ่มแรกมีสมาชิก ๑๐ คน ตอนนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ๓๐๐ คน ซึ่งกิจกรรมซื้อขายดังกล่าวได้รับความสนใจของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก

๘.ตลาดกรีนปั้นสุข รพ.รัตภูมิ ร่วมกันในนามเครือข่ายเกษตรอินทรีย์โรงพยาบาลอำเภอรัตภูมิ มีการ MOU จำหน่ายผลผลิตเพื่อส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยให้กับผู้ป่วย และมีการปรับรูปแบบเป็นการขายผลผลิตผ่านตลาดกรีนในโรงพยาบาล เชื่อมโยงการทำงานระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค มีการปรับตัวก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิดโดยการขยายจุดจำหน่ายรวบรวมสินค้า ผลผลิตจากเครือข่ายฯ ที่สี่แยกคูหา มีการประชาสัมพันธ์ การขายสินค้าล่วงหน้า มีมาตรการในการป้องกัน การรักษาความสะอาด การฆ่าเชื้อ เมื่อตลาดหลักที่รพ.ปิดจึงไม่กระทบมาก แนวทางการทำงานต่อไป อาจนำแผงเดิมไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นก่อน โดยไม่ต้องลงทุนใหม่หรืออาจมีการตกแต่งพื้นที่ตลาดที่สี่แยกคูหา ในการทำให้เป็นลักษณะซุปเปอร์มาเก็ตที่มีสินค้าหลากหลาย

๙.“รถเขียว” greensmile mobile โดยเครือข่ายเกษตรสุขภาพควนลังดำเนินการในนามเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา เริ่มจากการเป็นผู้บริโภค ปลูกผักกินเอง และเชื่อมโยงกับเครือข่ายสวนผักคนเมือง มีการแลกเปลี่ยนความรู้แลกเปลี่ยนอาหารร่วมกันจนพัฒนาเป็นเครือข่ายจังหวัด ภาคีความร่วมมือ เช่น รพ.หาดใหญ่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานพัฒนาที่ดิน สาธารณสุขจังหวัด อบจ.สงขลา บริษัทประชารัฐรักสามัคคีสงขลา มูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมสนับสนุนให้เกิดการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SGS-PGS สงขลา รับสมัครและตรวจแปลง ออกใบรับรองให้เกษตรกรแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๗๐ ราย สามารถส่งผลผลิตไปยังโรงครัวโรงพยาบาลและในตลาดกรีนสมาย และจะมีการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างโดยโรงพยาบาลหาดใหญ่ ตลาดปิดตัวลงชั่วคราวภายใต้สถานการณ์โควิด

การปรับตัว คือ การใช้ “รถเขียว” เป็นตลาดเคลื่อนที่ เพื่อนำผลผลิตวิ่งขายให้กับผู้บริโภคในเมือง เริ่มครั้งแรกวันที่ ๑๑ พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นที่สนใจของผู้บริโภค เนื่องจากรถเขียวมีเอกลักษณะที่น่าสนใจ มีจุดแบ่งปันผักเพื่อให้ผู้บริโภคได้นำไปบริโภค ขายทุกวันจันทร์และวันพุธ เส้นทางที่รถวิ่งคือ จากตำบลควนลังจนถึงในเมืองหาดใหญ่ แล้วมาจอดหน้าที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ โดยมีแนวทางการขยายเส้นทางที่จะวิ่งขนส่งให้มากขึ้น

๑๐.ข้อเสนอแนะ/แนวทางความร่วมมือ

๑) ขยายแนวคิดร่วมของเครือข่ายที่เป็นการทำตลาดแบ่งปันในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยฐานทุนเดิมที่มีทั้งความไว้วางใจและฐานทรัพยากร

๒)พัฒนาการตลาด การส่งผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคทั้งรูปแบบกลุ่มที่มีคนกลางในการทำหน้าที่ส่งสินค้าผ่าน platformต่างๆ ทั้ง line เพจ(โดยเฉพาะเพจที่มีสมาชิกจำนวนมาก จะช่วยให้เกิดการประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายผลผลิตที่ไม่ได้มีจำนวนมาก) รูปแบบเครือข่ายส่งผลผลิตจำหน่ายข้ามจังหวัด ข้ามภูมิภาค ข้ามฐานทรัพยากร และขายตรง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติกในกรณีบรรจุสินค้าออนไลน์

๓)วางแผนและพัฒนารูปแบบตลาดนัดชุมชน ให้สามารถมีคลังสินค้า หรือสั่งซื้อผลผลิตล่วงหน้า และนัดรับผลผลิต เพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิดกันของตลาดชุมชน

๔) เปิดพื้นที่การเรียนรู้ มีวงคุยแลกเปลี่ยนวงเล็กและวงใหญ่ มีเพื่อนร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด ให้กำลังใจกัน รวมทั้งการช่วยเหลือกัน การประสานร่วมกับเครือข่าย ใต้บนจะมีกขป.เขต ๑๑ จัดกระบวนการ ใต้ล่างมีกขป.เขต ๑๒ และมีวงกลางมาร่วมเรียนรู้ระดับภาคอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดประเด็น มีการนำเสนอชุดความรู้ของแต่ละพื้นที่ทั้งที่มา แนวคิด วิธีการ ความสำเร็จ ข้อค้นพบ ปัญหาอุปสรรค ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ เป็นการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดของเครือข่ายแต่ละพื้นที่ เช่น ประเด็นการจัดการตลาดกรีนในโรงพยาบาล การใช้ระบบข้อมูลกลางผ่านแอพพลิเคชั่น GREEN SMILE เชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภคและผู้สนับสนุน

ปราณี  วุ่นฝ้าย / ชาคริต โภชะเรือง  รายงาน

Relate topics