ละหมาดวันศุกร์ยุคโควิด๑๙

  • photo  , 960x640 pixel , 50,162 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 117,949 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 78,834 bytes.

ละหมาดวันศุกร์ยุคโควิด๑๙

เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง

มัสยิดนูรุดดีน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในมัสยิดที่ได้เริ่มต้น new normal ในการละหมาดวันศุกร์ วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เป็นวันแรกที่สามารถละหมาดวันศุกร์ในพื้นที่มัสยิดนูรุดดีนได้ แต่ต้องมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพสต. อสมและกรรมการมัสยิด มาร่วมสังเกตการณ์ และอำนวยความสะดวกวัดอุณหภูมิ นำเจลล้างมือมาให้

ครูหมัด-อะหมัด หลีขาหรี ได้กล่าวถึงบทบาทศาสนสถาน ว่ามัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีการละหมาดวันละ ๕ เวลา ในวันศุกร์จะมีการละหมาดรวมกัน ถือเป็นกิจพิเศษ มัสยิดเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ จัดการศึกษาของสัปบุรุษหมายถึงมุสลิมและมุสลิมะห์ทุกคน เมื่อสถานการณ์โควิด ๑๙ เกิดขึ้นสำนักจุฬาราชมนตรีออกประกาศห้ามการละหมาดในมัสยิด และการงดละหมาดในวันศุกร์ ช่วงแรกประกาศเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ต่อมาเมื่อมีการระบาดของโรคมากขึ้น จึงมีการประกาศงดละหมาดในทุกมัสยิดทั่วประเทศ

เมื่อสถานการณ์คลี่คลายมีมาตรการที่ผ่อนปรน ได้มีการมอบอำนาจให้ทางจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีการอนุญาติให้แต่ละมัสยิดทำการละหมาดวันศุกร์ได้ เริ่มวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา สำนักอิสลามจังหวัดได้มีการประกาศและมาตรการหรือแนวปฏิบัติออกมา ดังนี้

๑) ให้มีการอาบน้ำละหมาดไปจากบ้าน โดยการละหมาดทุกครั้งต้องมีการล้างมือล้างหน้า ซึ่งมีความเสี่ยงหากมีการใช้ก๊อกน้ำร่วมกัน จึงประกาศให้อาบน้ำไปจากที่บ้าน

๒) ให้ใช้ผ้าปูละหมาด (ผ้าสะยาดะฮ์) ส่วนตัว โดยนำมาจากบ้าน

๓) ให้ผู้เข้าร่วมละหมาดวันศุกร์ (ญุมอัต) ไปก่อนเวลาอาซานประมาณ ๑ ชั่วโมง (เวลา ๑๑.๑๕ น. ) เพื่อทำการคัดกรองวัดอุณหภูมิจาหน่วยงานสาธารณสุข

๔) หน่วยงานสาธารณสุขจัดบริการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่มัสยิดจัดเตรียมเอาไว้

๕) ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการปฏิบัติศาสนกิจ ผู้ใดไม่สวมหน้ากาก ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาติให้เข้ามัสยิดและเชิญกลับบ้าน

๖) กำหนดให้มีการใช้ประตูมัสยิดทางเข้าทางออกได้ทางเดียว โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ ผอ.รพ.สต หรือเจ้าหน้าที่ทหาร มาสังเกตการณ์

๗) เจ้าหน้าที่ทำการควบคุมทางเข้าออกมัสยิดและจัดระเบียบระยะห่างขณะเดินเข้าและเดินออกจากมัสยิดหลังเสร็จสิ้นการละหมาดวันศุกร์

๘) ให้นั่งหรือละหมาดตามจุดพื้นที่เครื่องหมายสีแดงที่สามารถระบุตำแหน่งได้ โดยให้เว้นระยะห่าง ๑.๕๐ เมตร

๙) งดสลามด้วยการสัมผัส การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือพร้อมกับการสลามเท่านั้น

๑๐) หากมีการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้จะมีอาการไม่มาก ให้งดการไปร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด

๑๑) มีการทำความสะอาดมัสยิดในวันพฤหัสบดี ล่วงหน้า ๑ วันก่อนมีการละหมาดในวันศุกร์

๑๒) มีการระบุตำแหน่งที่นั่ง ระยะห่าง ๑.๕๐ เมตร เป็นแถวเป็นแนว โดยมุสลิมจะให้ความสำคัญกับการเข้าแถว เชื่อว่าแถวที่สมบูรณ์เป็นการละหมาดที่สมบูรณ์ หากทำได้สมบูรณ์การละหมาดก็จะสมบูรณ์ได้ โดยปกติแถวจะชิดกันไหล่ต่อไหล่ แต่ตอนนี้มีการเว้นระยะห่างประมาณ ๑ เมตร

๑๓) การอ่านคุตะบะห์หรือบทสวดต่าง ๆ มีกระบวนการที่กระชับมากขึ้น ปกติการละหมาดจะใช้เวลาในการอ่านประมาณ ๑ ชั่วโมง

แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ยึดตามมาตรการที่ออกโดยจุฬาราชมนตรีและกรรมการมัสยิดประจำจังหวัดประกาศ รวมทั้งมีเครือข่ายมัสยิด และชมรมต่าง ๆ ช่วยประชาสัมพันธ์และสื่อสารให้เป็นที่รับรู้อย่างทั่วถึง ช่องทางการสื่อสารจะมีเสียงตามสายที่ประกาศในหมู่บ้าน และปัจจุบันใช้สื่อโซเซียลผ่านไลน์กลุ่ม โดยกรรมการมัสยิดสื่อสารต่อไปยังกลุ่มไลน์ต่าง ๆ รวมทั้งการบอกกล่าวตัวต่อตัว เป็นการสื่อสารในระดับวงที่กว้างขึ้น

กล่าวได้ว่าบทบาทการทำงานของสำนักจุฬาราชมนตรี มีความสำคัญมากในการอธิบายความเข้าใจต่อกรณีที่มีผลต่อการปฎิบัติศาสนกิจ เช่น หากมีความจำเป็นต้องขาดการละหมาดในวันศุกร์ติดต่อกันเกิน ๓ สัปดาห์ ทำให้คนในชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ความสำคัญของการละหมาดวันศุกร์ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ อธิบายว่าเป็นการกำหนดวันสำคัญให้ศาสนิกรวมตัวกันที่ศาสนสถาน เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักคำสอนของศาสนา เพราะหากห่างไกลจากศาสนสถานลงไป ศาสนิกจะมีค่านิยมในการลืมเลือนจากศาสนา จะไหลไปตามกระแสทุนนิยม การเลือกละหมาดวันศุกร์เป็นวันที่พระเจ้ากำหนดไว้แล้ว คือ การไปตามเสียงเรียกร้องคือที่มัสยิด มีการกำหนดไว้คือผู้ชายทุกคนที่บรรลุเพศศาสนภาวะแล้ว บังคับเฉพาะกับผู้ชาย โดยมีหลักคำสอนว่าในแต่ละวันศาสนิกมีการใช้ชีวิตประจำวันที่อาจมีความวุ่นวาย แต่วันศุกร์ให้มีเวลาไปมัสยิดเพื่อการรับฟังคำสั่งสอน เพื่อความเข้าใจในการใช้ชีวิต ถ้าทำติดต่อกันเป็นเวลานานจะช่วยสร้างประชาสังคมมุสลิมให้เข้มแข็งขึ้น เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างประชาสังคม

กิจกรรมนอกจากมีการฟังธรรมด้วยกัน สามารถทำกิจกรรมอื่นที่ต่อเนื่องได้ เช่น มีการกินน้ำชาร่วมกัน มีการบริจาคทาน ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนขับเคลื่อนด้วยการช่วยเหลือของสัปปุรุษกันเอง หากต่างคนต่างอยู่ต่างไป ชุมชนจะอ่อนแอมาก ในหลายๆ ศาสนา ที่มีวัตถุนิยมมากขึ้นก็ห่างจากศาสนาออกไป จึงทำให้ค่านิยมทางศาสนาค่อยๆ หายไป

กรณีการขาดละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดติดต่อกัน ๓ ครั้งนั้น คนคนนั้นเป็นมุสิลมแค่ภายนอกแต่จิตใจไม่ใช่แล้ว องค์อัลเลาะห์ไม่อาจลงโทษในทางกายภาพได้ แต่จะมีการลงโทษโดยสังคม เป็นที่จับตาและจ้องมองของคนในสังคมได้ ซึ่งในหลักคำสอนอนุโลมเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถละหมาดได้ เช่น การเจ็บป่วย อยู่ระหว่างการเดินทาง หรือกรณีโควิด ถือว่าเป็นข้อขัดข้องอย่างหนึ่ง ที่ไม่ถือว่ามีโทษใด ๆ ทั้งนี้ผู้นำศาสนาได้มีการประเมินการณ์ คือการให้งดการละหมาดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ดูตามความจำเป็น หากสถานการณ์ผ่อนคลายแล้ว ก็ต้องให้มีการละหมาด หากไม่ให้มีการละหมาดถือเป็นการละเมิดสิทธิทางศาสนา ตอนนี้มีการผ่อนปรนแล้ว เนื่องจากมีการควบคุมและทุเลาลง สถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หากห้ามเกินไปจะเป็นการตึงเกินไป ขัดกับหลักของศาสนา แต่ก็อยู่ภายใต้มาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยการละหมาดให้เป็นไปตามที่สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศ

หมายเหตุ แต่ละมัสยิด มีกรรมการบริหารมัสยิดละไม่เกิน ๑๕ คน หัวหน้าคืออิหม่ามมัสยิดและกรรมการบริหาร อิหม่ามทุกมัสยิดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยคณะกรรมการประจำจังหวัดเป็นคนเลือกจุฬาราชมนตรี ซึ่งถือว่าจุฬาราชมนตรีอยู่ในฐานะประมุขเป็นผู้นำสูงสุด ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามทุกเรื่องที่ไม่ขัดแย้งกับหลักศาสนา เมื่อมีประกาศใด ๆ ออกมาก็ต้องดำเนินการตาม โดยจะมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดส่งคำประกาศไปยังมัสยิดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ปฎิบัติการพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด

ธรรมนูญ onair ครั้งที่๒๐

ขอบคุณภาพจากเพจ สำนักข่าวอามาน - Aman News Agency

Relate topics