"Care set รับมือโควิด ๑๙ ของ อบต.คูหา"

  • photo  , 960x720 pixel , 98,596 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 88,233 bytes.
  • photo  , 960x794 pixel , 113,742 bytes.
  • photo  , 720x960 pixel , 100,893 bytes.

"Care set รับมือโควิด ๑๙ ของ อบต.คูหา"

เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง


ทันทีที่เข้าสู่สถานการณ์โควิด ๑๙ ก็มีคำสั่งจากทางอำเภอ ทาง รพ.สต. รับไปประสานงานต่อ  โดยคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะลงไปเยี่ยมบุคคลคนนั้นเพื่อพิจารณาว่าจะให้กักตัวอยู่ที่บ้านหรือต้องกักตัวอยู่ที่ศูนย์กักตัว กรณีคนที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯและพื้นที่เสี่ยง บังคับว่าต้องมีการกักตัวอยู่ที่ศูนย์ฯเท่านั้น ส่วนคนที่พิจารณาให้กักตัวอยู่ที่บ้านได้ ก็คือคนที่สภาพแวดล้อมที่บ้านเอื้ออำนวย มีพื้นที่เป็นสัดส่วน มีห้องน้ำ ห้องครัว ไม่มีสมาชิกที่ไม่เป็นคนกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง หากมีคนแปลกหน้าเดินทางเข้ามาในพื้นที่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หรือ รพ.สต ทราบโดยด่วน

การป้องกันในช่วงแรก เน้นมาตรการกินร้อนช้อนกลางล้างมือ ใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงการไปในตลาดหรือชุมชนแออัด ที่สำคัญมีกิจกรรมประชาสัมพันธ์ทุกครั้งที่มีการประชุมหมู่บ้าน หรือผ่านเสียงตามสาย เป็นการให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันเบื้องต้น เป็นการปรับตัวเองอยู่ที่บ้าน นอกจากนั้นทางอบต.ได้สนับสนุนในด้านแอลกอฮอล์เจลและหน้ากากผ้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มนี้ได้มอบสบู่ล้างมือให้ในการทำความสะอาด และการรับส่งคนที่เดินทางจากพื้นที่ต่าง ๆ เข้าศูนย์กักตัวสังเกตุอาการ โดยทางศูนย์ฯดูแลด้านค่าอาหารและเวรยามดูแลใกล้ชิด

ประชากรในพื้นที่ตำบลคูหามีจำนวน ๑ หมื่นคน ในช่วงแรกใช้งบกองกรมส่งเสริมฯจัดทำหน้ากากผ้าจำนวน ๘,๐๐๐ กว่าชิ้น งบประมาณชิ้นละ ๔.๕๐ บ. โดยระดมจิตอาสามาช่วยเย็บ และต่อมาใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อทำให้ครอบคลุมประชากร ๑๐๐% และทำเพิ่มให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่ต้องพบปะกับคนอื่น ๆ มากกว่าปกติ มีการวัดไข้ให้วันละ ๒ ครั้ง คนที่อยู่ที่ศูนย์จะมีแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยให้ทุกวัน วันละ ๒ ชิ้น

การจัดระบบการทำงาน เริ่มจากนายกเรียกประชุม ผู้อำนวยการ รพ.สต. กำนัน ผญ. และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจ ถามความคาดหวัง ความกังวล และความจำเป็นในการใช้วัสดุอุปกรณ์ จึงเป็นที่มาของการจัด careset ขึ้น(ชุดอุปกรณ์ประจำตัวเพื่อรับมือโควิด) สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ อสม.มายืมปรอทวัดไข้ จากอบต.บ่อยครั้ง จึงได้ปรับแนวคิดนี้ให้ อสม. นำไปใช้ได้โดยไม่ต้องมายืม จึงได้มีการจัดทำปรอทวัดไข้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งแอลกอฮอล์เจล เพื่อช่วยในการล้างมือ จัดรวมในชุด careset ดังกล่าว

กลุ่มเสี่ยงที่ดูแล ส่วนใหญ่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย อบต.จะร่วมกับ รพ.สต.เพื่อคัดกรองคนที่เดินทางจากต่างประเทศให้มารายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านหรือ ผอ.รพ.สต. แล้วมอบชุด careset ให้ ทำให้มีคนมารายงานตัวเพิ่มมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าได้รับการดูแลที่ดี และมีความห่วงใยจากหน่วยงาน

จำนวนคนที่เข้ามาในหมู่บ้านรอบแรก ๑๑๐ คน นั้นได้เข้ามาก่อนที่จะมีการตั้งศูนย์กักตัวในหมู่บ้าน อพยพกลับมาก่อนที่ประเทศมาเลเซียจะประกาศปิดด่าน เคสแรกสุดของพื้นที่คือคุณแม่ท้องแก่ ที่เข้ามาทางสะเดา กรณีคนที่กลับจากประเทศมาเลเซียนี้ ส่วนใหญ่ทำงานร้านอาหาร ซึ่งช่วงนี้หยุดการดำเนินกิจการ หรือบางส่วนถูกเลิกจ้าง และมีเพิ่มเข้ามามากขึ้นในช่วงต่อมารวมแล้วประมาณ ๒๐๐ กว่าคน

การประชาสัมพันธ์ได้ทำอย่างทั่วถึง เพื่อให้คนในพื้นที่ ได้ทราบข้อมูลข่าวสาร ได้รับความร่วมมือจากปลัดอำเภอ รพสต. ทหาร มาประชุมร่วมกันและทำรถแห่ประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์ในพื้นที่ประมาณ ๑๐ วัน รวมทั้งการออกพื้นที่ประชาสัมพันธ์ เป็นบูทเคลื่อนที่ พร้อมแจกหน้ากากและแอลกอฮอล์เจล และให้ความรู้ในเรื่องของการใช้หน้ากากและเจลล้างมือ สำหรับการป้องกันตัวเอง

นอกจากนั้นยังใช้งบของแม่ข่ายตำบลสุขภาวะของสสส.สำนัก ๓ ในการทำ careset ให้กับอปท.ลูกข่าย เป็นการกระจายนวัตกรรมในการดูแล

มาตรการจะเน้นในระดับหมู่บ้าน ทั้งผู้นำและชาวบ้านมีความตื่นตัวในเรื่องของการเฝ้าระวัง หากมีใครหน้าตาแปลก ๆ เข้ามาในหมู่บ้าน จะมีการแจ้งให้ผู้นำชุมชนรับทราบ ชาวบ้านมีการตื่นตัวและช่วยกันดูแล เฝ้าระวังร่วมกัน ให้ความร่วมมือด้วยดี พบว่ามีบางรายเท่านั้นที่ปกปิดข้อมูลไม่แจ้งกรณีมีคนจากภายนอกมาพักในบ้าน และบางคนไม่มีความเข้มงวดในการออกไปซื้อของภายนอก เป็นคนที่กลับจากจังหวัดภูเก็ตและกรุงเทพ

การคัดเลือกสถานที่จัดตั้งศูนย์กักตัวเพื่อสังเกตุอาการ ๖ แห่งกระจายทุกหมู่บ้าน เริ่มจากการประชุม ให้แต่ละหมู่บ้านค้นหาว่า ศูนย์กักตัวอยู่ที่ไหน เริ่มแรกกรรมการหมู่บ้านจะใช้มัสยิดหรือตะดีกา เพราะอยู่ใกล้กับสถานที่กลาง แต่มีปัญหาเรื่องความหวาดกลัวของชุมชน และท้ายที่สุดได้ย้ายไปที่โรงเรียน เพราะเป็นที่กว้างห่างจากชุมชน ทำให้เกิดความไว้วางใจ

เพื่อลดความเครียดในการดูแล ได้มีการจัดระบบหมุนเวียนโดยผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวรของบ้านห้วยเต่า เวลา ๖ โมงเช้า - ๔ โมงเย็น เป็นเวรของสมาชิกอบต. และ ๖ โมงเย็น- ๖ โมงเช้า เป็นเวรของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ส่วนบ้านทับยาง การสลับเวรในช่วงกลางวันเป็นของ สมาชิกอบต.และอสม. ส่วนกลางคืนเป็นเวรของชรบ. ซึ่งการปรับเปลี่ยนเวรยามเป็นบทบาทของชุมชนที่ดำเนินการกันเอง ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะทางหมู่บ้านดูแลกันเอง

การทำอาหารดูแลกลุ่มเสี่ยง มี ๒ รูปแบบคือ

๑)ครอบครัวทำให้ผู้กักตัวเอง กรณีที่ครอบครัวทำอาหารให้ผู้กักขังทางศูนย์จะจ่ายเป็นค่าอาหารให้มื้อละ ๕๐ บาท โดยการใส่ปิ่นโตไปส่ง หากครอบครัวไหนไม่สะดวกเรื่องการเดินทาง ถ้าอยู่ใกล้โรงเรียนก็ให้แม่ครัวของโรงเรียนทำอาหารให้ หรือถ้าอยู่ใกล้ศูนย์เด็กเล็กก็ให้แม่ครัวของศูนย์เด็กเล็กทำอาหารให้ โดยในช่วงเดือนถือศีลอดจะมีการทำอาหารหวานเพิ่มขึ้นให้ด้วย โดยทางศูนย์จ่ายค่าอาหารให้เพิ่มด้วยเช่นกัน

๒)ศูนย์ดำเนินการไปส่งให้ ซึ่งกรณีนี้ศูนย์จะทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้กักตัว ตามความเหมาะสม

ผลการดำเนินงานอย่างเข้มข้นทำให้ตำบลคูหา ไม่พบผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว มีกรณีที่ส่งไปตรวจหาเชื้อ ๓ รายเท่านั้น คือ เคสที่เดินทางมาจากจังหวัดปัตตานี แต่ไม่พบการติดเชื้อ และอีก ๒ เคส เป็นนักศึกษาที่เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน แต่ไม่มีการพบเชื้อ

ข้อกังวลที่มีก็คือ ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กกำลังจะเรียกคืนสถานที่เพื่อเปิดเรียน ทำให้ชุมชนไม่มีสถานที่กักตัวสังเกตอาการ

ปัจจัยความสำเร็จ

๑. หากพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือได้เร็ว ปัญหาจะน้อยมาก เกิดการเรียนรู้ปัญหาร่วมกันแก้ไขได้ทันท่วงที และเป็นระบบ เมื่อการจัดการเป็นระบบก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเชื่อถือ นำมาซึ่งความตื่นตัว ให้ความร่วมมือ

๒. ในพื้นที่มีการตั้งด่านระดับอำเภอ และส่งข่าวผ่านระบบของตำบล รวมทั้งการตรวจคัดกรองบริเวณด่านระดับตำบล แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักมากเท่ากับระบบของหมู่บ้าน

๓. ระบบสาธารณสุขในพื้นที่เข้มแข็ง โดยมีรพ.สต.และอสม.เป็นหน่วยปฎิบัติ ในการคัดกรอง เฝ้าระวัง และให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตัวเอง ในช่วงสถานการณ์โควิดมีการดูแลผู้ป่วยตามปกติ แต่เพิ่มมาตรการสวมหน้ากากผ้า เจลล้างมือ การเว้นระยะห่าง ให้ยาในจำนวนที่มากขึ้น

๔. ต้นทุนที่มีคือ มีข้อมูลในการทำ care plan อยู่แล้ว ใช้เป็นฐานข้อมูลว่าเด็กคนไหนต้องการอะไร แล้วไปลงซ้ำเพื่อตรวจสอบข้อมูล ส่งต่อไปยังหน่วยงาน หรือกรณีอาชีพสำหรับคนพิการที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ลงเยี่ยมบ้านซ้ำ และเก็บข้อมูลซ้ำเชิงลึก โดยเปิดโครงการสอนอาชีพที่บ้าน เพื่อความสะดวกในการเรียนการสอนและเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น ทำดอกไม้จันทน์เหรียญโปรยทาน

Relate topics