ธรรมนูญ ON AIR ครั้งที่ ๒๖ เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นตำบลน่าอยู่ปัตตานีกับการรับมือโควิด๑๙

  • photo  , 960x540 pixel , 62,291 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 48,785 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 38,278 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 38,937 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 49,703 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 46,255 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 57,886 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 378,415 bytes.

"สถานการณ์โควิดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังประมาทไม่ได้ ควรดูข้อมูลจากมาเลเซียประกอบการตัดสินใจมากกว่าข้อมูลในประเทศ และการพัฒนาควรผสานหลักศาสนาไปด้วยกันบนฐานวิถีชีวิต..."

คือบทสรุปธรรมนูญ ON AIR ครั้งที่ ๒๖ ประจำวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ ที่มีประเด็นหลักคือ บทบาทเครือข่ายสภาผู้นำชุมชนกับการทำงานในสถานการณ์โควิด

สรุปสาระสำคัญดังนี้

๑.รพ.สต.ปุยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่นี่มีลักษณะเป็นพื้นที่เป็นรอยต่อ ระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอยะรัง ยังไม่มีผู้ป่วยโควิด และมีการดำเนินการในเรื่องของศูนย์กักตัว ร่วมกับโรงเรียน ชุมชนปุยุด และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลปุยุด โดยแยกชายและหญิงชัดเจน ตอนนี้เหลือเพียงที่เดียวคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลปุยุด ซึ่งศูนย์เด็กเล็กกำลังจะเปิดเรียน จึงได้มีการย้ายสถานที่ไปยังพื้นที่อื่นเพื่อรองรับประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย ที่ผ่านมามีจำนวนผู้กักตัวในศูนย์กักตัว ๔๓ คน มาจากจังหวัดภูเก็ต ๑๘ คน ที่เหลือเป็นคนจากประเทศมาเลเซีย ได้รับความร่วมมือจาก อบต.ในการคัดกรองและการช่วยเหลือด้านอื่นๆอย่างดี โดยมีสาธารณสุขมีบทบาทในการดูแลสุขภาพ และการตรวจเฝ้าระวัง ป้องกัน

๒.คุณบอรอเฮง ดีเยาะ สสอ.ยะรัง เล่าว่าจังหวัดปัตตานี มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๙๖ ราย อำเภอยะรัง ๓๑ ราย เสียชีวิตอำเภอยะรัง ๑ ราย คนที่เสียชีวิต เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว พื้นที่อำเภอยะรังผู้ติดเชื้อมาจากกลุ่มที่กลับจากร่วมปฏิบัติศาสนกิจในประเทศมาเลเซีย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทราบเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๖๓ แต่เดินทางกลับตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๖๓ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปจำนวนหนึ่ง สิ่งที่อำเภอยะรังต้องทำในตอนนั้นก็คือ ไล่ตามเชื้อเดิมและการติดตามเชื้อใหม่ที่เดินทางกลับมา ปัจจุบันนี้มีเพียง ๑ คน เดินทางกลับจากทำงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งไม่มีการแพร่เชื้อ ทำการรักษาและหายแล้ว และมีอีก ๒ คนที่เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย

บทเรียนสำคัญ คือ หากทราบข้อมูลได้รวดเร็วจะทำให้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือได้เร็วด้วย การปล่อยให้มีการกักตัวที่บ้าน ทุกรายจะมีการแพร่เชื้อต่อ ซึ่งการกักตัวที่ศูนย์กักกันจะทำให้สามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้ดีกว่า ตอนนี้เข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ทีมสาธารณสุขและทีมอำเภอก็ยังมีเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์ภายในประเทศจะไม่มีผู้ติดเชื้อแล้ว แต่อาจมีผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน รวมทั้งมีแนวโน้มคนที่จะเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียอีกเป็นหลักหมื่นคน ซึ่งตอนนี้ประเทศมาเลเซียยังปิดประเทศต่อไปอีก ๓ เดือน โดยตัวชี้วัดของจังหวัดปัตตานีต้องดูที่ตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ของประเทศมาเลเซียด้วย

๓.เครือข่ายอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กำลังระดมจิตอาสาของบประมาณจากโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในการเฝ้าระวัง การค้นหาซึ่งมีการเฝ้าระวังคนที่เดินทางกลับเข้าประเทศอย่างถูกต้อง และคนที่เดินทางกลับโดยอาศัยเส้นทางธรรมชาติ ตอนนี้คนในชุมชนเริ่มไม่มีการระวังตัว โดยผ่อนปรนกันมากขึ้น มีการเดินซื้อของในตลาดนัด ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่แออัด แต่ไม่สวมหน้ากาก ไม่มีการเว้นระยะห่าง ซึ่งต้องมีการตรวจเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

๔.เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คุณกัลยา เอี่ยวสกุล เล่าว่าโครงการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ดำเนินการใน ๓ จังหวัด จังหวัดปัตตานีดำเนินการในพื้นที่ ๕ ชุมชน ขับเคลื่อนประเด็นสถานการณ์ปัญหาของตัวเอง เช่น ชุมชนรามง ต.ปุยุด ดำเนินการในเรื่องของการจัดการขยะ การส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ ฯ กลไกที่สำคัญของชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือ สภาผู้นำชุมชน ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านที่เป็นประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำศาสนา ตัวแทนท้องถิ่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสตรีฯ เป็นกลไกหลักในการดำเนินการ

๔.๑ อาจารย์สุวิทย์ หมาดอะดำ คณะทำงานเครือข่ายชุมชนตำบลน่าอยู่ปัตตานี กล่าวว่าหลักคิดของงานชุมชนน่าอยู่ คือ ทำอย่างไรให้ทั้งหมู่บ้านมีชุดการทำงานที่ครบวงจร มีโครงสร้างกลไกการทำงาน ที่บูรณาการทุกภาคส่วนในหมู่บ้าน การประชุมจะเป็นไปในลักษณะสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน สภาผู้นำจึงเป็นทางเลือกนำเอา ๔ เสาหลัก คือผู้นำท้องที่ ผู้นำฝ่ายศาสนา ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายท้องถิ่น ฝ่ายชุมชน มาทำงานร่วมกัน ทำให้การทำงานมีความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มต่างๆ อยู่ในสภาผู้นำ เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มศาสนา กลุ่มอาชีพ กลุ่มเยาชน กลุ่มมัสยิด บัณฑิตอาสาฯ โดยกลไกมีการแบ่งทีมในการดูแลงาน แบ่งพื้นที่เป็นโซนหมู่บ้านรองรับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเข้ามากระทบชุมชนทำให้เกิดการแก้ปัญหาระดับครัวเรือน เกิดความร่วมมือได้ง่าย

ยกตัวอย่าง ในพื้นที่บ้านโสร่ง ในสถานการณ์โควิด เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งมาก ที่นี่มีการตัดสินใจปิดหมู่บ้าน ๒๔ ชั่วโมง เพื่อควบคุมการเข้าออกของชุมชนในแต่ละเขตแดน กลไกการปิดหมู่บ้านเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน ได้รับการยอมรับมากกว่าคำสั่งการจากภาครัฐ

๔.๒ สภาผู้นำชุมชนรามง นางรอมละ ราโมง เลขานุการเล่าว่านี่มีครัวเรือนประมาณ ๒๐๐ กว่าครัวเรือน จำนวนประชากร ๑,๗๐๐ กว่าคน ชุมชนแบ่งการทำงานออกเป็น ๒ โซน สภาประธานเป็นผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ๖ ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายแผน ฝ่ายการพัฒนา ฝ่ายสิ่งแวดล้อม ฝ่ายศึกษาวัฒนธรรม ฝ่ายสังคม มีตัวแทนองค์กรศาสนา กรรมการมัสยิด อสม.และตัวแทนจากองค์กรทุกองค์กร จำนวน ๒๐-๔๐ คนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ส่วนในระดับโซน ก็มีตัวแทนผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ผู้นำธรรมชาติรับผิดชอบ กลไกสภาผู้นำหรือหากกรรมการที่เป็นตัวแทนองค์กรไม่สามารถประชุมได้ ก็มีการส่งตัวแทนเข้าร่วม

สภามีการทำงานที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถแต่ไม่เคยได้รับโอกาสแสดงออกได้เข้ามาร่วมคิดร่วมแลกเปลี่ยน การเปิดสภาทำให้ทราบว่าในชุมชนมีปราชญ์มีคนดีมีความสามารถ ทำให้เข้าถึงข้อมูล โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ตัวแทนรพ.สต. ตัวแทนเกษตร ตัวแทนอบต. ตัวแทนอำเภอ เข้ามาเสริมหนุนทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เช่น การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การจัดการขยะ กลไกการทำงานยังเชื่อมโยงระหว่างตำบลและเครือข่ายภาคีมากขึ้น

ในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน จะมีตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วม รวมทั้งเปิดกว้างให้ปัจเจกที่ไม่มีกลุ่มเข้าร่วมด้วย เพื่อระดมปัญหาและแนวทางในการแก้ปัญหาโดยตรง เป็นระบบปลายเปิดให้สำหรับคนที่มีใจหรือมีความรู้เข้ามามีส่วนร่วม ในปีหนึ่งจะมีการปรับกลไกสภาผู้นำเพื่อให้เหมาะสม ทั้งสมาชิกและเวลาประชุมบางครั้งจะเป็นช่วงกลางคืน เพื่อให้อบต.หรือคนที่ทำงานรับราชการหรือกลุ่มอาชีพต่างๆสามารถเข้าร่วมได้ การประชุมแต่ละครั้งจะมีตัวแทนของแต่ละองค์กรรวมกันประมาณ ๒๐ คน ซึ่งหากประธาน(ผู้ใหญ่บ้าน)ไม่อยู่จะมีตัวแทนทำหน้าที่เป็นประธานแทน สภาทำงานมาประมาณ ๓ ปี

ยกตัวอย่างการแก้ปัญหา เช่น น้ำท่วมขัง มีการศึกษาสาเหตุว่าน้ำท่วมขังเกิดจากอะไร ก่อนที่จะมีน้ำท่วมรอบใหม่ได้ระดมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องมาช่วย เช่น ขุด ลอก มีทหาร ชุมชน และภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน หรือกรณีผู้เปราะบาง มีการศึกษาว่ากลุ่มเป้าหมาย ว่าเป็นกลุ่มวัยใด โดยประสานการทำงานกับภาคี เช่น กศน. อบต. โดยนำเรื่องเข้าแผนและส่งต่อให้พมจ. หรือนำเยาวชนลงไปร่วมดูแล หรือในเรื่องของอาหาร มีการสนับสนุนจากอบต. สำนักงานเกษตรตำบล/เกษตรอำเภอ ร่วมบูรณาการภายใต้สภาผู้นำ

บทบาทการทำงานของสภาฯในช่วงสถานการณ์โควิด คือ การแจกหน้ากากอนามัย การสำรวจคนที่เดินทางมาจากต่างถิ่น/ต่างประเทศ ส่งต่อข้อมูลในกลุ่ม line รายวัน การแบ่งบทบาทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอสม.สำรวจคนที่อพยพมาจากต่างถิ่น จัดทำแผน และส่งแผนเข้าอบต.โดยอบต.สนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือ นอกจากนี้มีการสำรวจข้อมูลคนที่ตกหล่น และสำรวจกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยทีมสภาร่วมในการให้บริการในการคัดกรอง และแจกหน้ากากอนามัยให้กับเด็กอีกด้วย

๔.๓ ข้อค้นพบที่ได้จากการดำเนินการสภาผู้นำ

๑) กลไกสภาทำให้รู้จักวิถีดั้งเดิมของชุมชน และความเชื่อว่าการเกิดโรคแต่ละโรค เป็นบททดสอบให้เราเข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ โดยการส่งเสริมให้ชุมชนมีการปลูกผักบริโภคกันเอง พึ่งตนเองด้านอาหาร

๒) การทำงานร่วมกันเป็นสภาทำให้มีเพื่อน การมีเพื่อนทำให้ชุมชนรู้สึกว่ามีที่พึ่งด้านจิตใจ

๓) กระบวนการดำเนินงานสภาฯทำให้ได้ค้นพบปัญหาของเราเอง นำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน และสามารถค้นหาคนที่มีศักยภาพ มีจิตใจจิตอาสามาสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เช่น ในเรื่องของการปลูกผัก หรือผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงมาเป็นวิทยากรต้นแบบ

๔) การบริหารจัดการการสภาเกิดจากการบูรณาการการทำงาน เชื่อมโยงระหว่างแนวทางปฏิบัติในชุมชน และมีผู้นำศาสนาที่เข้าใจแนวทางการบริหารการปกครอง ทำให้เกิดแนวทางการบริหารจัดการหมู่บ้านตามแนวทางศาสนา

๕) กลไกที่ทำงานได้ดีในพื้นที่สามจังหวัดคือ ศาสนาต้องอยู่ในกลไกหลักการพัฒนา ซึ่งศาสนาเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลมากในพื้นที่ ทุกเรื่องที่ตัดสินใจกันผู้นำศาสนาจะรู้ที่มาที่ไปของปัญหา การนำหลักศาสนามาใช้ในการบูรณาการในการแก้ปัญหา เป็นสิ่งง่ายมากกว่าสั่งให้ทำ

๖) การบูรณาการงบประมาณจากองค์กรต่าง ๆ เข้าสู่สภาผู้นำ ทำให้ทุกคนได้เห็นงบประมาณร่วมกัน สร้างธรรมาภิบาลในการจัดการ

๗) เรียนรู้ตัวเองด้วยการใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูล ซึ่งแบบสอบถามขึ้นอยู่กับประเด็นว่าจะเก็บข้อมูลอะไร จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสู่การทำแบบสอบถามร่วมกัน เช่น ข้อมูลการทำเกษตร ข้อมูลเริ่มจากการกินข้าวกี่มื้อ การดูแลสุขภาพ พื้นฐานของสุขภาพ แยกเป็นความเสี่ยง เป็นโรคต่างๆ เก็บข้อมูลค่อนข้างละเอียด และนำข้อมูลไปสู่การวางแผน จัดทำโครงการแก้ปัญหาเพื่อให้บุคคลากรที่มีความรู้แนะนำให้ความรู้ เช่น เชิญตัวแทนสำนักงานเกษตรมาให้ความรู้ในเรื่องของการกินผัก ประสานรพ.สต.มาเจาะเลือด คัดกรองและประเมินผลให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ทราบเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพฤติกรรม และครั้งต่อไปก็เชิญกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น ไปสู่เวทีแลกเปลี่ยนให้กลุ่มเป้าหมาย/สมาชิกในชุมชนได้เรียนรู้พูดคุยกันเอง เน้นการใช้ต้นแบบในชุมชนในกลุ่มนั้นคุยกันเอง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุคุยกับผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงคุยกับกลุ่มเสี่ยง ไม่ต้องจ้างวิทยากรจากต่างพื้นที่ แต่ใช้วิทยากรเป็นต้นแบบเป็นวิทยากรกันเอง และใช้การทำแผนร่วมกับ รพ.สต. มีการคืนข้อมูลให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนเห็นข้อมูลทั้งหมด

๘) ใช้เป้าหมายร่วมของชุมชน เป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน ทำให้ทุกคนมุ่งมั่นเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน และมีการทบทวนเป้าหมายเป็นระยะ

๙) การสร้างกิจกรรมวันอาทิตย์ให้กับเด็กรอบๆ ตาดีกา หลักเลิกเรียน เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในด้านการอนุรักษ์และความสะอาดไปในตัว โดยเมื่อมีการจัดกิจกรรมจะมีการแจกกระบอกน้ำให้กับเด็ก แนะนำการดื่มน้ำสมุนไพรแทนน้ำอัดลม และสร้างกระบวนการในการแบ่งปัน เช่น การกินข้าวจากปิ่นโต ทำให้เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ทุกคนมีความสุขที่จะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

๑๐) สภาผู้นำเป็นบทบาทหนึ่งในการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน และใช้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน จนกระทั่งกิจกรรมเหล่านั้นอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความยั่งยืน

๑๑) ความเชื่อว่าการสร้างคุณค่าเกิดจากการเป็นผู้ให้ โดยการทำงานภายใต้สภาผู้นำคือผู้ที่รับบทบาทหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ แม้ไม่ได้รับเงินเดือน แต่จะได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่จากองค์อัลเลาะห์

๑๒) นอกจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองแล้วยังมีการแลกเปลี่ยนการทำงานข้ามพื้นที่กัน ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนากลไกของสภา

๑๓) การทำงานปลูกฝังแนวคิดการมีสัจจะ การสร้างความตระหนักในฐานะมนุษย์ด้วยกัน เช่น ในเรื่องของการทำเกษตร เราปลูกให้เขากิน ปรุงอาหารให้เขากินเหมือนที่เรากินเอง ฝึกทำเองกินเอง กินสมุนไพรเป็นหลักกินผักเป็นยา

๑๔) การพัฒนาต่อไปภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้นำมากขึ้น โดยเฉพาะคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทั้งในเรื่องกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม การพัฒนาเครื่องมือการทำงาน การทำแผนพัฒนา การบริหารจัดการ

ปฎิบัติการพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด

แชร์ต่อข้อมูลสู้ภัยโควิด

ชาคริต โภชะเรือง รายงาน

Relate topics