“ถนนกินได้ ไร้สารพิษ” ของเทศบาล ต.ช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

photo  , 1000x1000 pixel , 192,400 bytes.

โครงการ “ถนนกินได้ ไร้สารพิษ” ของเทศบาล ต.ช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี นับเป็นโครงการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล” ที่ประสบผลสำเร็จ

โครงการนี้ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การชักชวนให้ทุกหมู่บ้านในตำบลมาช่วยกัน “ปลูกผัก”แต่ไม่ได้ปลูกธรรมดาๆ เพราะโครงการฯ จะให้แต่ละหมู่บ้าน “เลือกเส้นทาง” สำหรับใช้พื้นที่ริมทางปลูกผัก หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร

หลักการสำคัญคือ ห้ามนำไปขาย ห้ามใครแสดงความเป็นเจ้าของ และห้ามใช้สารเคมี

สำหรับการสนับสนุน ทางโครงการจะจ่ายให้หมู่บ้านละ 6,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอ หากแต่ก็ถือเป็น “ทุนเริ่มต้น” ที่สำคัญ ก่อนที่ทุกคนจะมาช่วยกันลงแรง-ลงใจกันต่อ

แม้ว่า ต.ช้างซ้าย จะมี 12 หมู่บ้าน แต่ปัจจุบันมีผักที่ปลูกริมทางยาวรวมกันถึง 21 กิโลเมตร

ผักที่ปลูกกันก็มีเช่น ชะอม ยอดมะขาม ยอดผักเหลียง ส้มป่อย ยอดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ชาวบ้านไม่ได้ขอเงินสนับสนุนจากโครงการเพิ่มเติมนับตั้งแต่ปี 2552 แม้ว่าเส้นทางการปลูกผักจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

นั่นคือความยั่งยืน ที่เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือของชาวบ้านอย่างแท้จริง

โครงการ “ถนนกินได้ ไร้สารพิษ” เป็นเพียง 1 โครงการ ในหลากหลายโครงการภายใต้กองทุนสุขภาพเทศบาล ต.ช้างซ้าย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. ร่วมกับการสมทบโดยท้องถิ่น

เงินทั้งหมด ถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมแผนงานโครงการหรือกิจกรรมในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนที่จริงแล้ว กรอบการดำเนินงานของ “กองทุนสุขภาพเทศบาลช้างซ้าย” จะอยู่ภายใต้หลักการดูแลสุขภาพ “3 อ.”  ประกอบด้วย

“อ. ออกกำลังกาย” มีโครงการเด่น เช่น โครงการแอโรบิคเพื่อสุขภาพ โครงการฟื้นฟูสภาพข้อเข่าผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรมพรมกะลา กิจกรรมปั่นเพื่อสุขภาพ

“อ. อาหาร” มีโครงการเด่นคือ โครงการถนนกินได้ ไร้สารพิษ

“อ. อารมณ์” มีโครงการเด่นคือ โครงการส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยธรรมะ ที่มีการอบรมชุมชนร่วมกันนั่งสมาธิตลอดทั้งปี

“นายชูชัย อุดมศรีโยธิน” นายกเทศมนตรีตำบลช้างซ้าย เล่าว่า แต่ละปีมีการเสนอโครงการเข้ามาให้กองทุนพิจารณามากถึง 50-60 โครงการ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการทำงานเชิงรุกของคณะกรรมการกองทุน

สำหรับการอนุมัติงบประมาณของกองทุนฯ นั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสมและบริบทของพื้นที่ โดยมีการกลั่นกรองเป็นอย่างดี หากโครงการที่ยังไม่ผ่านก็จะตีกลับไปให้ทำการศึกษาและเสนอเข้ามาใหม่

ส่วนในปี 2563 ได้มีการอนุมัติใช้งบประมาณของกองทุนฯ ไปแล้วมากกว่า 90%

“การปลูกพืชผักปลอดภัยของชาวบ้าน ได้ทำให้เกิดความหลากหลายของพืชพันธุ์พื้นเมืองเดิม ซึ่งบางชนิดอาจหายไปได้ถูกกลับเข้ามาปลูกใหม่ รวมถึงเกิดการต่อยอดของชาวบ้านที่มีการปลูกเพิ่มนอกเส้นทาง หรือตามหน้าบ้านต่างๆ” นายกเทศมนตรีตำบลช้างซ้าย เล่า

ด้าน “นพ.ประจักษวิช เล็บนาค” รองเลขาธิการ สปสช. บอกว่า กปท.เทศบาลตำบลช้างซ้าย เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้กองทุนฯ ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ที่สามารถส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ป้องกันก่อนที่จะไปเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

นพ.ประจักษวิช บอกอีกว่า ความสำเร็จจากโครงการจนทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีนั้นเป็นกำไรที่วัดค่าไม่ได้ และสิ่งที่สำคัญที่ได้จากการดำเนินโครงการก็คือทำให้คนในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ช่วยกันสร้างความยั่งยืนที่สอดคล้องกับความต้องการ

“การมีกองทุนท้องถิ่นฯ นับเป็นความก้าวหน้าในการกระจายอำนาจ ที่มีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมกำหนดทิศทางตามบริบท แทนการกำหนดจากภาครัฐส่วนกลางที่มีความแข็งตัวเกินไป” คุณหมอประจักษวิช ระบุ

ถนนกินได้

อาหารปลอดภัย

กองทุนตำบล

ขอบคุณข้อมูลจาก เพจ The Coverage

Relate topics