ธรรมนูญออนแอร์เขต ๑๒ ว่าด้วย "ผู้หญิง เด็กในสถานการณ์โควิด"

  • photo  , 1000x563 pixel , 259,854 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 344,492 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 485,026 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 476,257 bytes.

"ผู้หญิง เด็กในสถานการณ์โควิด"

๑.สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ เล่าว่าในช่วงสถานการณ์โควิดสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ได้รับเรื่องร้องเรียน ๓๘ เคส แยกเป็นปัญหาความรุนแรง  ๑๖ เคส  การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ๗ เคส ที่เหลือ ๕ เคส เป็นปัญหาเรื่องความเป็นอยู่  ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของปัญหาคนที่แบกภาระคือผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ ๑ คนเลี้ยงลูก ๗-๘ คน ที่ต้องแบกภาระและความกดดันปัญหาทางครอบครัวและเศรษฐกิจ รัฐบาลพยายามในการช่วยเหลือปัญหาสถานการณ์โควิดและทำให้ตัวเลขโควิดกลายเป็นศูนย์ แต่มองข้ามปัญหาที่ถูกซุกใต้พรม กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง เกิดความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือดูแล
ปัญหาในพื้นที่คือ ขาดนักจิตวิทยา คนที่เป็นหน่วยม้าเร็วที่จะเข้าไปช่วย มีองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเชิงรุก ลุกขึ้นมาช่วยเหลือชุมชน ทำให้เห็นความเข้มแข็งของคนในชุมชน

สถานการณ์ปีที่แล้วมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ๓๒ ราย แต่ในช่วงโควิด ๓๘ ราย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจ ช่วงสถานการณ์โควิดทุกคนมีการรวมตัวกันกลับไปอยู่บ้าน ยกตัวอย่างบ้านหลังหนึ่งขนาดสี่คูณสี่อยู่รวมกัน ๑๖ คน มีคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตอยู่รวมกัน ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก โดยปํญหาการล่วงละเมิดเด็กมักเกิดจากคนใกล้ตัวเป็นส่วนใหญ่

การช่วยเหลือ มีการส่งต่อเคสไปยังศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและสตรี ชุมชนจึงมีการปรับตัวโดยผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน กรณีที่มีการล่วงละเมิดทางการเพศ เช่น บางเคสมีการให้ผู้ชายรับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นภรรยา

พื้นที่ตัวอย่างบ้านปล่องหอย อำเภอกะพ้อ มีการใช้โรงอาหารของโรงเรียนเป็นโรงครัวของชุมชน ใครมีอะไรก็นำอาหารมายังโรงอาหารกลาง มีการจัดสรรคนทำอาหารวันละ ๒๐ คน แพ๊คไปแจกตามครัวเรือน  กับข้าวทั้งหมดเป็นผลผลิตมาจากชุมชน โดยใช้ทุนชุมชนตามกำลังที่ชุมชนมี  การแบ่งบทบาทผู้ชายขนส่งวัตถุดิบ ผู้หญิงทำกับข้าว และมีเด็กเยาวชนนำอาหารไปส่งตามครัวเรือน โดยการช่วยเหลือจะเน้นในกลุ่มคนยากลำบากที่ช่วยเหลือไม่ได้ก่อน สิ่งที่เห็นคือคนในชุมชนมีการช่วยเหลือกัน มีอาหารกิน คนในชุมชนช่วยเหลือแบ่งปันไปยังพื้นที่อื่นด้วย เช่น ปอเนาะหรือสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ช่วยเหลือการทำบ้านห้องน้ำ มีตู้ปันสุขที่เป็นวัตถุดิบ เช่น มะเขือ ถั่ว ไข่ ฯลฯ

๒.Node เด็กและเยาวชนปัตตานี (สสส.) อาจารย์นัสรินทร์ แซสะ เล่าว่าสถานการณ์เด็กในช่วงปิดเทอม เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจึงได้มีการปรับแผนเป็นกิจกรรมปลูกผักแทน เนื่องจากช่วงนั้นเด็กส่วนใหญ่อยู่บ้าน กิจกรรมดังกล่าวเป็นการเสริมให้เด็กได้มีการปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นกิจกรรมเสริมทักษะให้เด็กได้มีกิจกรรมในช่วงยามว่าง เพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้กับครัวเรือน จากผลกระทบของโควิดที่ส่งผลต่อรายได้ของพ่อแม่ เป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในครัวเรือน โดยมอบเมล็ดพันธุ์ผัก ๕๐ ชนิด เช่น ผักบุ้ง ผักกาด กว้างตุ้ง ปุ๋ยและดิน เป็นชุดปลูกผัก ๕๐๐ ชุด ผ่านการประชาสัมพันธ์ทางเฟสบุ๊ค ออนไลน์ และลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เนื่องจากการลงพื้นที่ทำให้เห็นสภาพพื้นที่ ได้พบเจอกับเด็ก ทั่วจังหวัดปัตตานี ยกเว้นทุ่งยางแดงที่ไม่ได้ขอสนับสนุนเข้ามา

เนื่องจากกิจกรรมปลูกผักเป็นวิถีชีวิตของชุมชน ของเด็กที่มีในครัวเรือนอยู่แล้ว และเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ชุมชนได้รับถุงยังชีพ มาม่า ปลากระป๋อง อาหารแห้ง แต่ไม่มีผัก ซึ่งกิจกรรมปลูกผัก เป็นกิจกรรมไปเสริมในเรื่องของอาหารให้มีบริโภคอย่างหลากหลายขึ้น ผักจึงใช้ประกอบอาหารร่วมกับอาหารที่รับบริจาคมาได้หลากหลายเมนู

๓.สมาคมฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา นางสาวมาเรียม ชัยสันทนะ เล่าว่าสมาคมฟ้าใสร่วมกับสมาคมปกป้องเด็กชายแดนใต้ ทำในเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน และถูกปรับเปลี่ยนไปในช่วงโควิด มีการดูแลเด็กในเรื่องของการสวมใส่หน้ากาก รณรงค์ให้ความสำคัญในการให้เด็กเข้าถึงหน้ากาก มีการให้ความรู้ว่าเด็กควรมีหน้ากากส่วนตัวของแต่ละคน โดยใช้รถแห่จากเครือข่ายปกป้องเด็ก ให้คำอธิบายสอนวิธีการใช้หน้ากาก ล้างมือ ข้อค้นพบก็คือในสถานการณ์โควิดควรมีนักจิตวิทยาในการดูแลเด็กโดยเฉพาะ ถุงยังชีพควรคำนึงถึงโภชนาการของเด็กด้วย เช่น ขนมปัง นม  โดยเฉพาะในสถานที่กักตัวเด็ก บางพื้นที่มีเด็กถึง ๑๐ ครอบครัว และมีคำแนะนำให้เพิ่มเมนูอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ซึ่งสถานที่กักกันตัวให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ยังแนะนำให้เด็กมีหนังสืออ่านในสถานที่กักกันตัว มีการส่งหนังสือทางไปรณีย์ให้เด็กแลกกันอ่าน

นอกจากนั้นแล้วยังร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มอ.ปัตตานี ในการดูแลเด็กและสตรี เปิดร้าน CPN 20 บาท แบ่งปัน โดยมีนายก อบต.ตำบลบือมัง อสม.ชุมชน และชาวบ้านบ้านมาแฮ ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา ดำเนินโครงการโดยชุมชน สมาคมฟ้าใสฯ เครือข่ายปกป้องสิทธิเด็กชายแดนใต้และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกันทดลองทำจุดเดียว เนื่องจากช่วงโควิดหมู่บ้านปิด จึงได้มีการคิดที่จะเปิดร้านบริการให้กับชุมชน  โดยร้าน เปิดทุกวันเวลา๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ซึ่งทุกคนที่เข้ามาในร้าน มีเงินเพียง ๒๐ บาท ก็สามารถซื้อสินค้าได้ทำให้เกิดความภูมิใจว่าไม่ได้มาขอ แต่ใช้เงินมาแลกเปลี่ยน เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเหลือกันในกลุ่ม ทำให้เกิดการการแบ่งปัน สิ่งที่เห็นคือเยาวชนที่ขายออนไลน์ได้มีเงินนำมาบริจาค มีการบริจาคข้าวสาร ไข่ ทำให้เกิดความสุขร่วมกันของคนในชุมชน

มีการเก็บข้อมูลชุมชนที่อพยพมาจากประเทศมาเลเซียมีหลายสิบครอบครัว เด็กคนไหนอยู่ใกล้ศูนย์กักตัวไหนก็ให้กักตัวที่นั่น  และมีการเก็บข้อมูลการได้รับวัคซีน มีการแนะนำให้เด็กได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน

มีโรงเรียนนำร่อง มีกิจกรรมปกป้องสิทธิเด็ก สร้างกระบวนการให้เด็กเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตัวเองในพื้นที่ ๔ โรงเรียนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดสงขลา ร่วมกับสภาสิทธิเด็กในการอบรมสภาเด็กให้ความสำคัญกับสภาเด็ก ให้มีกลไกและขับเคลื่อน ร่วมกับอบต.ในบางพื้นที่ เช่น กลุ่มลูกเหรียง สนับสนุนให้อบต.เข้าใจสิทธิเด็ก โดยใช้กลไกทุกภาคส่วน โดยชุมชนร่วมคุยกันว่าใครเป็นหลักในการดูแล การดูแลเด็กตามวัยต่างๆ โดยสภาเด็กมีกฎหมายรองรับ ซึ่งน่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อดูแลปกป้องเด็กได้เป็นอย่างดี

อนาคตควรมีองค์กรด้านกฎหมายเข้ามาหนุนเสริมเชิงวิชาการ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กและผู้หญิง นำเคสจริงในพื้นที่ เรียบเรียงเป็นหลักสูตร ในการช่วยเหลือการจัดการร่วมกัน

โดยสรุป ผู้หญิงยังอยู่ใต้โครงสร้างทางสังคมที่มีอำนาจชายกดทับ เห็นชัดในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด ทุกภาคส่วนห่วงใยเรื่องปากท้อง แต่ยังละเลยเรื่องการลิดรอนสิทธิระหว่างเพศ


ปราณี วุ่นฝ้าย บันทึก

ชาคริต โภชะเรือง รายงาน

Relate topics