สธ.เผยความคืบหน้าระบบสุขภาพปฐมภูมิ

  • photo  , 713x960 pixel , 51,344 bytes.
  • photo  , 960x641 pixel , 89,116 bytes.
  • photo  , 960x641 pixel , 73,981 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 54,568 bytes.

สธ.เผยความคืบหน้าระบบสุขภาพปฐมภูมิ

ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2563

กระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนแล้ว 2,090 แห่ง ครอบคลุมประชากร 20 ล้านคน เตรียมแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ติดตามกำกับการดำเนินงานหน่วยบริการ เปิดช่องทางสำหรับร้องเรียนหากไม่ได้รับบริการที่เหมาะสมตามกฎหมาย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิแล้วกว่า 2,090 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมประชาชนกว่า 20 ล้านคน และตั้งเป้าขึ้นทะเบียนให้ได้ 6,500 แห่งดูแลประชาชน 60 ล้านคน ภายในปี 2573

ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศ 3 ฉบับ ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย

1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... กำหนดบุคลากรของรัฐเพื่อกำกับติดตามหน่วยบริการให้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.กำหนด

2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....เพื่อกำหนดวิธีการทำงาน อาทิ การขอข้อมูลจากเอกสารหรือบุคคล การยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุพยาน การถอนการยึดหรืออายัด เป็นต้น

3.ร่างประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง การกำหนดผู้มีสิทธิร้องเรียนต่อผู้บริหารหน่วย บริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และแบบหนังสือร้องเรียน พ.ศ. .... กำหนดวิธีการให้ประชาชนสามารถร้องเรียนไปที่ผู้บริหารหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ได้รับการแก้ปัญหาหากไม่ได้รับบริการที่เหมาะสมตามกฎหมาย


นอกจากนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าดำเนินงานของอนุกรรมการ 6 คณะ ภายใต้คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่

1.การจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ. 2564 - 2568) เพื่อใช้เป็นทิศทางและกรอบในการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิตามพระราชบัญญัตินี้ ระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี

2.ร่างประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข บริการสุขภาพปฐมภูมิที่บุคคลมีสิทธิได้รับ พ.ศ. ....” ที่กำหนดให้มีรายการหรือกิจกรรมการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิตามขอบเขตของบริการสุขภาพปฐมภูมิที่บุคคลมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562

3.แนวทางการบูรณาการประเมินคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ

4.การจัดทำต้นแบบระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล และ Health Information Exchange (HIE) แพลตฟอร์ม โดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งใช้ในการลงทะเบียน การพิสูจน์ตัวตน การยืนยันตัวตน เป็นต้น

5.จัดทำโปรแกรม Private chat ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน “คุยกับหมอ” โดยร่วมกับ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริการในโครงการ telehealth สามารถปรึกษาสุขภาพแบบส่วนตัวกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำคลินิกหมอครอบครัว มีระบบความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ประชาชนไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลลดความแออัด เว้นระยะห่างทางสังคม สำหรับ New Normal Healthcare ขยายผลใน 8  จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ และสงขลา และ


6.การจัดทำแผนพัฒนาการจัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ระยะ 10 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร


ทั้งนี้หน่วยบริการปฐมภูมิ คือ หน่วยที่ให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิในการดูแลสุขภาพประชาชน แบบองค์รวม ผสมผสาน และต่อเนื่อง รูปแบบหน่วยการบริการที่พบมากที่สุดคือ Primary care unit (PCU) ประกอบด้วยโรงพยาบาลชุมชน (รพช.)ที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และโรงพยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน (รพ.สต.) ที่เป็นโรงพยาบาลลูกข่าย


ขอบคุณที่มาข้อมูล สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข

https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/146428/

Relate topics