Soft Power มาตรการชุมชนภูมิคุ้มกันโควิด-19และการมีส่วนร่วมหนทางถมช่องว่างสังคม

photo  , 1000x1000 pixel , 119,963 bytes.

ในขณะที่ “สหรัฐอเมริกา” ประเทศมหาอำนาจของโลก กำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 อย่างรุนแรง จนมีผู้ติดเชื้อทะลุ 10 ล้านรายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พบว่าประเทศไทยยังสามารถรับมือกับโรคระบาดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการล่มหัวจมท้ายของทุกภาคส่วนอย่างเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ

เบื้องหลังการถ่ายทำจนได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นลำดับต้นๆ ของโลก ในมุมหนึ่งคือการมี “อำนาจอ่อน” (Soft Power) ช่วยหนุนเสริมการทำงานของ “อำนาจแข็ง” (Hard Power) อย่างนโยบายรัฐ

อาจพูดได้ว่าความสำเร็จของประเทศไทยในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ประชาชน” พร้อมใจกันสนับสนุนมาตรการของรัฐ แต่การสนับสนุนดังกล่าวไม่ได้เป็นไปด้วยสมยอมเพราะถูกรัฐชี้นิ้วสั่ง

หากแต่เป็นการดำเนินการกันเองด้วยความสมัครใจ และการดำเนินการเหล่านั้นสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐวางไว้

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี เป็นการสานพลังทางนโยบายจนเกิดการขึ้นรูปแนวปฏิบัติที่จับต้องได้

ตัวอย่างเช่น การร่วมไม้ร่วมมือกันผลิตหน้ากากอนามัยในยามขาดแคลน การจัดทำแอลกอฮอล์แจกจ่ายกันในชุมชน การกำหนดมาตรการช่วยกันเฝ้าระวังโรคในระดับครัวเรือน การเปิดศูนย์อาหารชุมชนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในวิกฤต ฯลฯ

แน่นอนว่าในช่วงวิกฤตการณ์ นโยบายรัฐต้องมีความชัดเจนและเฉียบขาด ทว่าความชัดเจนเฉียบขาดเหล่านั้นมีโอกาสทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง ความอึดอัดขุ่นหมอง หรืออาจนำไปสู่การต่อต้านได้

ดังนั้น ถึงแม้ว่า Hard Power จะมีอำนาจบังคับใช้สักเพียงใด แต่เพื่อที่บรรลุผลแล้ว การใช้ Hard Power อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

การมีกระบวนการบางอย่างเข้าไปจัดการ เพื่อทำให้ Hard Power เหล่านั้นเป็นมิตรกับประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นส่วนหนุนเสริม ช่วยให้นโยบายรัฐเกิดประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลสูงสุด

ในช่วงบ่ายของวันที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง The Coverage มีโอกาสได้พูดคุยกับ “นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แม่ทัพของ “องค์กรสานพลัง” อย่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ผู้ซึ่งเป็นแกนกลาง ชักชวนภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคมและสุขภาพเข้ามาร่วมกัน เพื่อส่งผ่านนโยบายรัฐลงไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ด้วยกลไก “Soft Power” ที่ทุกฝ่ายยอมรับ

‘Soft Power’ หนุนเสริมอำนาจแข็ง

นพ.ประทีป อธิบายว่า ในช่วงแรกที่โควิด-19 ระบาด ประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในความสับสน ตื่นตระหนก แม้ว่ารัฐหรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะให้ข้อมูลมากเพียงใด แต่หลายพื้นที่ในประเทศก็ยังถูกปกคลุมด้วยความกลัว

จังหวะหนึ่งของเหตุการณ์ หลังจากที่รัฐบาลประกาศ “ล็อกดาวน์” กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้คนกรุงและคนที่เข้ามาทำงานอยู่ใน กทม.จำนวนมากต้องเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาหรือต่างจังหวัด ซึ่งแน่นอนว่า คนที่อยู่ในต่างจังหวัดก็รู้สึกหวาดหวั่น กังวลว่าผู้ที่เดินทางมาจาก กทม.จะนำโรคมาแพร่ระบาดในพื้นที่

ความตื่นตระหนกและตื่นกลัวเหล่านั้น ก่อกำเนิดเป็นกระแสความไม่พึงพอใจ ไม่ต้องการให้คนจาก กทม.เข้ามาในพื้นที่ ถึงแม้จะเป็นคนที่เคยรู้จักมักคุ้นกันแต่ก็ยังรู้สึกหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ

ดังนั้น สิ่งที่ สช. และภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคมและสุขภาพ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และองค์กรเครือข่ายอีกกว่า 20 องค์กร ได้ร่วมกันทำก็คือ ...

แผนงานที่มีชื่อว่า “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการติดอาวุธให้ประชาชนที่กำลังตื่นกลัว ยกระดับมาเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เข้าใจสถานการณ์ที่ถูกต้อง และกลายมาเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมมาตรการต่างๆ ของรัฐให้ประสบผลสำเร็จ

เวลากว่า 6 เดือนของการดำเนินแผนงาน หมุดหมายหรือรูปธรรมที่เกิดขึ้นก็คือ การเกิดข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชน หรือเกิดแผนในการรับมือโควิด-19 ที่ชุมชนร่วมกันจัดทำขึ้นมา

แน่นอนว่า เมื่อข้อตกลงเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องของคนในชุมชน คนในชุมชนย่อมสะดวกใจที่จะนำไปปฏิบัติ โดยข้อตกลงเหล่านั้นยังสอดคล้องกับมาตรการใหญ่ของภาครัฐด้วย

นี่คือตัวอย่างการใช้ “อำนาจอ่อน” หนุนเสริมการทำงานของ “อำนาจแข็ง” ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของ สช. ในยุคปัจจุบัน

ร่วมทางเดียวกันอย่างนิ่มนวลขึ้น

นพ.ประทีป เล่าว่า หลักการใหญ่ของแผนงานรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ฯ คือการจับมือ-การสานพลัง ภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคมและสุขภาพต่างๆ ที่โดยปกติก็มีภารกิจและเครื่องมือในการทำงานในระดับพื้นที่อยู่แล้ว ให้มารวมพลังในการสู้ภัยโควิด-19 ร่วมกัน

ตัวอย่างเช่น พอช. ซึ่งมีเครื่องมือคือสภาองค์กรชุมชนในแต่ละตำบล รวมแล้วกว่าแสนสภาทั่วประเทศ มีเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันออมไว้หมื่นกองทุน รวมแล้วกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท หรืออย่าง สปสช. ก็มีเครื่องมือกองทุนสุขภาพระดับตำบลทั่วประเทศ สสส.มีเครื่องมือด้านสื่อการเรียนรู้จำนวนมาก หรือแม้แต่ สช. ก็มีเครื่องมือธรรมนูญสุขภาพตำบล

องค์กรภาคียุทธศาสตร์เหล่านี้ นอกจากมีเครื่องมือแล้ว โดยปกติก็ทำงานในระดับชุมชนหรือพื้นที่ และมีเครือข่ายของตัวเอง ดังนั้น สช.จึงได้ชักชวนกันมาจัดกระบวนทัพร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้ “พื้นที่-ชุมชน” มีความพร้อมรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้น

“หลักการคือเราจะจับมือส่วนกลางทั้งหมดที่มีเครือข่ายและทำงานอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ให้มาทำเรื่องนี้ร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดเวทีของชาวบ้าน ซึ่งเวทีนี้จะนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมหรือออกมาตรการของชาวบ้าน หรือคำของ สช. ที่เรียกว่าธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด” นพ.ประทีป ระบุ

ข้อตกลงชุมชน ก็เช่นว่า หมู่บ้านเราจะรับมือโควิดกันอย่างไร ต้องรับรู้อะไรบ้าง ต้องปฏิบัติตัวกันอย่างไร ยังมีอุปกรณ์อะไรขาดตกบกพร่องหรือไม่ จะช่วยกันจัดหาหรือผลิตขึ้นมาอย่างไร . “ธรรมนูญประชาชนฯ หรือมาตรการประชาชนนี้ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นการเอาองค์ความรู้ต่างๆ มาจากมาตรการของรัฐ ฉะนั้นสิ่งนี้จะเป็นส่วนหนุนเสริมมาตรการของรัฐที่เป็นภาพใหญ่ แต่เป็นไปอย่างยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นการเดินร่วมกันอย่างนิ่มนวลขึ้น นำไปสู่การปฏิบัติจริงบนความเห็นพ้องร่วมกันของชุมชน” อาจารย์ประทีป อธิบาย

รูปธรรมมาตรการที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ อาทิ การวางแผนส่งข้าวส่งน้ำเข้าไปในชุมชน การกระจายอาหาร การเปิดวัดเป็นโรงทานหรือเป็นพื้นที่กักตัวประชาชนที่เข้า-ออก มาจากแนวชายแดน

จากความตื่นกลัวเคลื่อนเข้าสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็ว นี่คือรูปธรรมที่ชัดเจนของการตื่นรู้ของประชาชน “นพ.ประทีป” ย้ำว่า แม้ว่าประชาชนจะมีความรู้และเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่ด้วยปริมาณข้อมูลและความรู้ที่มีจำนวนมาก อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สำลักข้อมูล” ที่จะนำไปสู่ความตื่นตระหนกได้

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการเข้าไปจัดการความรู้ ซึ่งก็คือการเปิดเวที-พื้นที่กลาง เพื่อถกแถลงและทำความเข้าใจข้อมูลและความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น Soft Power จึงเป็นกลไกที่ช่วยเสริมให้มาตรการรัฐมีประสิทธิภาพ

“มาตรการของรัฐในการต่อสู้กับโควิดมีความเข้มแข็งมาก มีองค์ความรู้ มีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าฯ ลงไปจนถึงท้องถิ่น แต่ในบางมุมอาจมีความแข็งตัวอยู่บ้าง ขณะที่มาตรการของประชาชนซึ่งก็ตั้งต้นมาจากองค์ความรู้จากรัฐมีจุดเด่นคือความยืดหยุ่น ทั้งสองส่วนจึงช่วยหนุนเสริมกันและกัน และทำให้ประเทศไทยรับมือกับโควิดได้เป็นอย่างดี” นพ.ประทีป ระบุ

อาจสรุปได้ว่า ผลสำเร็จจากแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19” แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆ หนึ่งคือ “การรับรู้” ของประชาชนมีหลักยึดมากขึ้น สองคือเกิดมาตรการชุมชนหรือธรรมนูญประชาชนฯ ในหลายพื้นที่ และสามคือเกิดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นมากขึ้น

ลดความเหลื่อมล้ำ-ถมช่องว่างทางสังคม

นพ.ประทีป ถอดบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อไปว่า สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ต่างกันระหว่างคนที่มาจากพื้นฐานที่ต่างกัน เช่น ในขณะที่คนหาเช้ากินค่ำต้องการให้รัฐเปิดเมืองเพราะต้องทำงานเลี้ยงปากท้อง คนอีกกลุ่มกลับต้องการให้รัฐล็อกดาวน์ต่อไป เพื่อป้องกันโรคระบาดอย่างจริงจัง

ตรงนี้สะท้อนถึงปัญหาพื้นฐานของประเทศไทย นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงนำไปสู่การแสดงออกหรือความต้องการที่แตกต่างกัน . นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่จะต้องไปด้วยกัน เพราะทั้งหมดมีผลสืบเนื่องและสร้างผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่

ที่สำคัญที่สุดคือ เห็นความจำเป็นที่จะต้องรับมือวิกฤตด้วยการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ-ลดความขัดแย้ง ซึ่งจะนำมาสู่ความยั่งยืน โดยการรับมือดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบที่เข้าไปจัดการ เช่น นโยบายสาธารณะที่คุ้มครองคนเล็กคนน้อย นโยบายที่ช่วยถมช่องว่างทางสังคม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ถึงแม้จะลดไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็เป็นนโยบายที่เอื้อต่อการดูแลคนตัวเล็กได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์ด้วยแล้ว ชัดเจนว่านโยบายหลักประกันสุขภาพฯ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยรับมือได้เป็นอย่างดี

“เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น แน่นอนว่าเราต้องมีมาตรการเฉพาะหน้าออกมาแก้ไขเพื่อลดผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันเราต้องไม่ทิ้งปัญหาพื้นฐานนั่นก็คือช่องว่าง-ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการแก้ไขปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ได้นั้น ต้องมีนโยบายของรัฐที่เอื้อไปสู่ทิศทางนั้น” นพ.ประทีป ระบุ

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายนี้ ยอมรับว่า “เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก” ในการจัดทำนโยบายเช่นนั้น จึงถือเป็นความท้าทายของสังคมไทยที่จะต้อง “ปฏิรูป” เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานต่างๆ

“ปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นจากเขามองอนาคตของเขา เขารับไม่ได้กับวิถีชีวิตเก่าๆ อย่างที่พวกเราเคยชิน จึงต้องการให้เกิดการปฏิรูปให้ระบบการจัดการทางการเมืองเป็นเหตุเป็นผล เพราะตอนนี้มีหลายเรื่องที่คนรุ่นหนึ่งชิน แต่คนรุ่นใหม่ไม่ชิน เพราะเป็นระบบที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล” นพ.ประทีป เทียบเทียงให้เห็นภาพ

อาจารย์ประทีป กล่าวต่อไปถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ซึ่งมีด้วยกัน 3 ระบบใหญ่ๆ ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยปัจจุบันยังมีความแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดที่แตกต่างกัน อีกส่วนหนึ่งคือ “กระบวนการมีส่วนร่วม” ที่เป็นจุดชี้ขาดถึงประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลของระบบ

“ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือถ้าต้องการให้ระบบมีประสิทธิภาพ ต้องสร้างการมีส่วนร่วม ต้องดึงผู้ใช้บริการเข้ามา อย่างบัตรทองซึ่งเป็นระบบที่สร้างมาทีหลังจึงมีการออกแบบให้เกิดการมีส่วนร่วมในทุกระดับ เกิดเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ และขณะนี้มีการพัฒนาหรือขยายไปสู่แนวคิด “สวัสดิการถ้วนหน้า” ที่มองไปไกลกว่าแค่เรื่องสุขภาพแล้ว” นพ.ประทีป อธิบาย

“กระบวนการการมีส่วนร่วม” จึงเปรียบได้กับหัวใจความสำเร็จของระบบบัตรทอง หัวใจแห่งความสำเร็จของการรับมือวิกฤตโควิด-19 และหัวใจแห่งความสำเร็จของความยั่งยืน-ลดความเหลื่อมล้ำถมช่องว่างทางสังคม

“กระบวนการการมีส่วนร่วม” นี้เอง ยังเป็นภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเป็นหมุดหมายที่ สช. ต้องการปัก เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ The Coverage

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม http://www.thecoverage.info/

Relate topics