การท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้

  • photo  , 960x720 pixel , 86,961 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 143,423 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 101,204 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 74,087 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 97,424 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 124,442 bytes.
  • photo  , 1280x606 pixel , 120,181 bytes.
  • photo  , 1280x606 pixel , 130,912 bytes.

ก้าวการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้

อีกหนึ่งขบวนเครือข่ายสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้าง “สุขภาวะ”ในพื้นที่ภาคใต้ สุขภาวะบนพื้นฐานการสร้างความมั่นคงทางฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเครื่องมือ

ปัจจุบันภาคใต้มีกลไกขับเคลื่อนงาน CBT ระดับภาคในนาม “สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้”  โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อประสานความร่วมมือและช่วยเหลือกันระหว่างสมาชิก รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “พี่ดูแลน้อง เพื่อนดูแลกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ปีที่ผ่านมาพื้นที่ชุมชนที่จัดการการท่องเที่ยวชุมชนก็ประสบปัญหาจากสถานการณ์COVID19 แต่ความรุนแรงน้อยกว่าการท่องเที่ยวกระแสมาก เพราะอย่างน้อยก็ยังมีฐานทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลังพิงสำคัญในการทำให้สามารถประคับประคองพายุวิกฤติที่โถมรุนแรงช่วงที่ผ่านมาได้

วงพูดคุยในบรรยากาศมวลมิตรเมื่อเสาร์-อาทิตย์ (20-21 ก.พ.64) ที่ผ่านมาของเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากหลากหลายจังหวัด และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมแลกเปลี่ยน  โดยใช้พื้นที่ทำการกลุ่มกลุ่มผ้ามัดย้อมคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช

วาระสำคัญในการปรึกษาหารือ การติดตามการขับเคลื่อนมติงานสร้างสุขภาคใต้ ปี 2562  และการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย งานสร้างสุขภาคใต้ครั้งที่ 12 ปี 2564  ประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และทิศทางการขับเคลื่อนของสมาคมฯ

สำหรับประเด็นการติดตามและทบทวนมติประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2562 มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาคียุทธศาสตร์ ทั้งต่อ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กรมการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.)

ผลการติดตามบางมติก็มีความก้าวหน้าเช่น ข้อเสนอต่อ สสส. สำหรับการให้ สสส.มีแผนงานเชิงรุกในการสนับสนุนการท่องเที่ยวปลอดภัย เป็นต้น แต่อีกหลายมติก็ยังนิ่งอยู่  หลากหลายข้อเสนอก็ต้องผลักดันกันต่อ

ครั้งนี้มีข้อเสนอใหม่ให้เพิ่มภาคียุทธศาสตร์ อบจ. เพราะเป็นหน่วยขับเคลื่อนระดับจังหวัด และการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหลาย ๆ ทีม จะเลือกตั้งก็มีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นโอกาสในการไปสร้างความร่วมมือ อีกหนึ่งข้อเสนอสำคัญคือ อยากเห็นการทำงานสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้ หนุนเสริมกลไก/เครือข่าย CBT ระดับจังหวัด
ทีมทำงานได้ข้อมูลเพื่อยกร่างข้อเสนอนโยบายร่างที่ 1 แล้ว แล้วจะมีการส่งไฟล์ให้เครือข่ายCBTฯ และภาคีเครือข่ายให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากนี้รวมทั้งวิชาการจะลงพื้นที่พะโต๊ะเพื่อถอดบทเรียนกรณีศึกษาพื้นที่จัดการท่องเที่ยวเพื่อรักษาฐานทรัพยากร อาจจะใช้การประชุม zoom สำหรับบางท่านเพื่อการแลกเปลี่ยนรับรองร่างข้อเสนอต่อไป

ในวันที่  24-25 พฤษภาคม 2564  กำหนดจัดงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งที่ 12  ซึ่งครั้งนี้ปรับรูปโฉมใหม่เป็นออนไลน์ ดาวกระจายทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และมีเวทีกลางที่ ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช แล้วจะมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

ก้าวกันต่อ ตามกันต่อ เชียร์กันต่อกับงานสร้างสุขภาคใต้ ประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินะครับ


งานสร้างสุขภาคใต้

ประเด็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เชภาดร จันทร์หอม  บันทึกเรื่องราว

Relate topics