สมัชชาสร้างสุขตรัง ตอนที่ 5 : ประเด็นความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ “ข้าว”

  • photo  , 1478x1108 pixel , 110,106 bytes.
  • photo  , 1478x1108 pixel , 170,971 bytes.
  • photo  , 1478x1108 pixel , 171,694 bytes.
  • photo  , 720x924 pixel , 48,094 bytes.

สมัชชาสร้างสุขตรัง(ตอนที่ 5 ประเด็นความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ “ข้าว”)

อีกหนึ่งประเด็นที่เข้มข้นไม่น้อยกว่าประเด็นอื่น ๆ กับวาระความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ “ข้าว” ที่ครั้งนี้ถูกบรรจุเข้าเป็น 1 ใน 5 ประเด็นพิจารณา

สำหรับเรื่องราวความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะเรื่องข้าว เป็นความต่อเนื่องการขับเคลื่อนที่เริ่มเห็นดอกผลของการทำงานภายหลังจากเป็นมติวาระสุขภาวะคนตรังยั่งยืนด้วยการดูแลนาข้าวในงานสมัชชาสุขภาพตรังครั้งที่ 2 ปี 2557 ทั้งการเกิดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาข้าวจังหวัดตรังปี 2561-2564  กระบวนการพัฒนาข้าวเบายอดม่วงเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การประกาศข้าวประจำจังหวัด 9 สายพันธุ์ การพัฒนาโครงข่ายเหมืองน้ำ และการรวมตัวเป็นกลุ่มเครือข่ายคนปลูกข้าว

ทั้งนี้จากภาวะวิกฤติCOVID19 ช่วยชี้ให้เห็นสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มคนเปราะบางยากลำบาก และในขณะเดียวก็เริ่มเห็นกลุ่มคนชุมชนที่เริ่มตระหนักปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนเพิ่มมากขึ้น

ถ้าการ“ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” การสร้างความมั่นคงทางอาหารของตรังเรื่องข้าวก็คงต้องใช้ห้วงเวลานี้เป็นโอกาสในการที่จะชวนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และเครือข่ายองค์กรชุมชนในการจะช่วยกำหนดทิศทางแนวทางการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ “ข้าว”จังหวัดตรังบ้านเรา

กระบวนการปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาข้อมูลนำเข้ามีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่พี่เสน่ห์ ทองเกลี้ยง เกษตรอำเภอนาโยง (อำเภอนาโยงเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดในจังหวัดตรัง) มีพี่เล็ก ชนิตา บุรีรักษ์ จากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดที่ช่วยดูแผนงานโครงการในระดับจังหวัด มีเพื่อนซ้ง พิพัฒน์ จุติอมรเลิศ จากสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทีมสนับสนุน  มีดร.พิเชตวุฒิ นิลลออ จาก ม.อ.ตรัง ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการบัณฑิตสู้ภัยโควิดทีมีเจ้าหน้าที่ทั้งบัณฑิตจบใหม่และแกนนำชุมชนกระจายในชุมชนที่ทำนาในหลายตำบล มีพี่สุทัศน์ สัจจา รองนายกอบต.นาข้าวเสีย อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการส่งเสริมให้เกิดกลุ่มนาข้าวอินทรีย์ถึง 3 กลุ่มและ พี่เอี้ยง อ.สำราญ สมาธิ คุณครูจากโรงเรียนต้นบากราษฎร์บำรุง ที่เกาะติดประเด็นนี้และช่วยสร้างการเรียนรู้เรื่องข้าวให้สาธารณะคนตรังมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับวันพิจารณามติ ได้ อ.ชัยพร จันทร์หอม ที่ปัจจุบันก็เป็น old farmer ทำนาที่บ้านในท้องทุ่งนาโยงมาเป็นประธาน มีพี่เอี้ยง เป็นเลขานุการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนทั้งแบบon site และon line ผ่านระบบzoom ช่วงเริ่มต้นก็ได้พี่กวางคนตรัง ที่ไปสร้างชาวนาน้อยโด่งดังที่จังหวัดพิจิตร มาสร้างบรรยากาศสุนทรีย์คีตศิลป์ผ่านเพลง ตรังยังงาม และสานพลังสร้างสุข

11 มติข้อเสนอที่ถูกถกแถลงและรับรองสำหรับประเด็นนี้ ได้แก่  การให้ผนวกรวมมติสมัชชาสุขภาพ สุขภาวะคนตรังยั่งยืนด้วยการดูแลนาข้าว กับมติความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ “ข้าว” การกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่การผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตเป็นร้อยละ 10 ของการบริโภคข้าวของคนตรัง (ปัจจุบันผลิตได้ ร้อยละ 5 ที่เหลือต้องนำเข้าจากต่างจังหวัด) การขอให้มีการจัดทำแผนพัฒนาข้าวจังหวัดตรัง 2565-2569

การส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวนาสวนและนาไร่ได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน การส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้อย่างมีคุณภาพ การส่งเสริมการวิจัยศึกษาข้าวนาสวนนาไร่ประจำถิ่นเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศในสายพันธุ์ และการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI

การสนับสนุนโรงสีข้าวมาตรฐาน การสนับสนุนให้อปท.ร่วมกับชุมชนจัดทำเขตพื้นที่เกษตรกรรมสงวนไว้พื้นที่นาข้าว การส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาข้าวตรังให้กับนักเรียนนักศึกษา การพิจารณาให้ใช้พื้นที่สาธารณะ/พื้นที่ราชการเพิ่มเป็นพื้นที่ผลิตข้าวและพืชอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

กระบวนการพิจารณาถกแถลงเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นการช่วยกันอภิปรายเชิงสนับสนุนเพราะการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เห็นโจทย์ร่วม และพยายามวิเคราะห์ข้อเสนอบนบทบาทภารกิจของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

แม้สมาชิกในห้องประชุมที่วพบ.ตรังจะน้อยเมื่อเทียบกับประเด็นอื่นแต่สมาชิกทางออนไลน์ก็ไม่น้อยกว่าห้องอื่น ๆ นะครับ

ขยับกันอีกก้าวสำคัญ ก้าวความมั่นคงทางอาหารจังหวัดตรัง

สมัชชาสร้างสุขตรัง

งานสร้างสุขภาคใต้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนกรสร้างเสริมสุขภาพ

เชภาดร จันทร์หอม บันทึกเรื่องราว

Relate topics