สมัชชาสร้างสุขตรัง ตอนที่ 6 : การจัดการขยะทะเลและชายฝั่ง

  • photo  , 1536x1067 pixel , 186,492 bytes.
  • photo  , 1536x1067 pixel , 134,880 bytes.
  • photo  , 1536x1067 pixel , 137,745 bytes.
  • photo  , 1536x1067 pixel , 141,043 bytes.
  • photo  , 1478x1108 pixel , 203,846 bytes.

งานสมัชชาสร้างสุขตรัง (ตอนที่ 6 การจัดการขยะทะเลและชายฝั่ง)

ประเด็นห้องย่อยสุดท้ายกับเรื่องราวของขยะซึ่งปัจจุบันเป็นโจทย์ร่วมทั้งในระดับชุมชน ตำบล จังหวัด ประเทศ หรือนานาชาติที่พยายามหาทางแก้ไข  แต่เพื่อให้มีความคมและชัดในประเด็นนี้ทั้งการวิเคราะห์ภาคีทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และการมีรูปธรรมความสำเร็จบางส่วนจากการขับเคลื่อน Node Flagshipจังหวัดตรังในประเด็นการจัดการขยะที่มีพื้นที่ต้นแบบที่ควรขยายผลเชิงนโยบาย ผนวกกับต้นทุนการขับเคลื่อนเรื่องนี้จากหลาย ๆภาคส่วน  คณะทำงานเห็นว่าควรเน้นไปที่การจัดการขยะทะเลและชายฝั่ง

ประเด็นนี้ผมเข้าไปมีส่วนในการเอื้ออำนวยการพูดคุยปรึกษาหารือไม่มากนัก เพราะมีน้องตาลน้องในทีม Node Flagship จังหวัดตรังเป็นผู้ประสานงานประเด็นอยู่แล้ว มีโอกาสเข้าไปฟังตอนมีการประชุมคณะทำงานวิชาการอยู่ประมาณ2-3 ครั้ง

เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องชื่นชมความเสียสละและหัวจิตหัวใจของทีมวิชาการที่ล้วนแล้วแต่มีภาระงานประจำทั้งสิ้น แต่ใช้เวลาช่วงค่ำวันธรรมดาบ้าง วันเสาร์อาทิตย์บ้างประชุมปรึกษาหารือกันผ่าน zoom

ทั้งปู จากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริภาคใต้ พี่สมโชค จากรพ.สต.มดตะนอย อ.อเนก จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวีชัย วิทยาเขตตรัง ผอ.วรรณ จาก สนง. ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 ผอ.พิมพ์ประกาย จาก โรงเรียนบ้านทุ่งยาว พี่เจีย จากมูลนิธิอันดามัน และน้องตาลจากทีม NFT ประกอบทีมกันจากหลากหลายภาคส่วน

เนื้อหาข้อมูลนำเข้าก็น่าสนใจเพราะเมื่อไปทบทวนก็จะพบว่าประเด็นนี้มีหลายหน่วยงานที่พยายามดำเนินการหาทางออกเรื่องนี้ มีต้นทุนกันอยู่พอสมควร สำหรับกรณีการจัดการขยะตัวอย่างเพื่อการเรียนรู้ มีการถอดบทเรียนพื้นที่ตัวแบบการจัดการขยะในพื้นที่ 3 พื้นที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล ทั้งกรณีของบ้านมดตะนอย  ต.เกาะลิบง ที่นำโดยชุมชนร่วมกับ รพ.สต. กรณีเกาะสุกร ที่นำโดยท้องถิ่น และกรณีโรงเรียนบ้านท่าข้ามที่นำโดยโรงเรียนและร่วมกับชุมชน

ทราบว่าวันพิจารณาระเบียบวาระนี้เข้มข้นมากได้พี่นก ภาคภูมิ จากมูลนิธิอันดามัน เป็นประธาน มีทางปู จากแหลมผักเบี้ย เป็นเลขานุการ มีพี่สมโชคจากรพ.สต.มดตะนอย มาเป็นทีมวิชาการ และมีผู้เข้าร่วมเข้ามาอย่างหลากหลายผ่านระบบ zoom

ทั้งชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ชายฝั่งทะเล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการที่เกาะติดในประเด็นนี้

ข้อสรุป 10 มติที่มีการอภิปรายและรับรองมีตั้งแต่การขอให้จังหวัดปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพิ่มคณะกรรมการร่วมเพื่อการบริหารจัดการขยะทะเลและชายฝั่ง การขอให้อบจ.เป็นกลไกหลักในการกำจัดขยะ การขอให้อปท.ทีมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล แม่น้ำ บริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง การให้สำนักงานประมงจังหวัดร่วมกับภาคีส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจประมงมีมาตรการและดำเนินการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ให้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมให้องค์กรเอกชนและผู้ประกอบการมีมาตรการดำเนินการลดขยะและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การขอให้ ทสจ.เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่าย การให้สถาบันการศึกษาสนับสนุนการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรมการจัดการขยะทะเลและชายฝั่ง และการให้มีการประเมินผลนโยบายการจัดการขยะทะเลและชายฝั่งและรายงานความก้าวหน้าต่อสาธารณชนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

รับรองมติกันในภาคบ่ายวันที่ 1 กรกฎาคมพร้อม ๆ กับอีก 4 ประเด็น

นับเป็นอีกก้าวของการรักษาทะเลตรัง ก้าวเมืองคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

สมัชชาสร้างสุขตรัง

การจัดการขยะทะเลและชายฝั่ง

NodeFlagship จังหวัดตรัง

งานสร้างสุขภาคใต้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

เชภาดร จันทร์หอม บันทึกเรื่องราว

Relate topics