"ศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเองรับมือโควิดระลอก ๔"

  • photo  , 1000x611 pixel , 148,576 bytes.
  • photo  , 1000x486 pixel , 146,698 bytes.
  • photo  , 1000x486 pixel , 85,018 bytes.
  • photo  , 1000x486 pixel , 121,796 bytes.
  • photo  , 1710x957 pixel , 109,232 bytes.
  • photo  , 1000x486 pixel , 137,224 bytes.
  • photo  , 960x1706 pixel , 167,965 bytes.
  • photo  , 1477x1108 pixel , 178,768 bytes.
  • photo  , 1711x957 pixel , 100,606 bytes.
  • photo  , 1713x955 pixel , 155,853 bytes.
  • photo  , 1708x959 pixel , 122,053 bytes.
  • photo  , 1000x863 pixel , 206,170 bytes.

"ศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเองรับมือโควิดระลอก ๔"


พี่อ้น-บุณย์บังอร ชนะโชติ แกนนำศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บอกเล่าพัฒนาการทำงานรับมือโควิดระลอกใหม่ว่าหลังจากมีประสบการณ์การรับมือโควิดระลอกแรก เมื่อชุมชนประสบเหตุการแพร่ระบาดระลอกใหม่ จึงได้ต่อบทเรียนเก่ามาปรับใช้


ปฏิบัติการปิ่นโตตุ้มตุ้ยจึงกลับมารับใช้พี่น้องคนจนเมืองบ่อยางอีกครั้ง รอบนี้เปิดบริการทุกวันอังคาร รูปแบบโดยรวมเหมือนเดิมแต่ปรับจากการให้อย่างเดียวมาเป็นการจำหน่ายอาหารในราคาถูก เพื่อให้อาสาสมัครที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวได้มีรายได้ไปด้วย เงินที่ได้จะนำไปหมุนเวียนจัดหาวัตถุดิบที่ได้จากการบริจาคไม่ว่าจะจากสมาคมเครือข่ายสุขภาพผู้สูงอายุส่วนหนึ่งและการสนับสนุนจากมูลนิธิชุมชนสงขลาในด้านอุปกรณ์และวัตถุดิบเบื้องต้นอีกส่วนหนึ่ง

อาศัยต้นทุนนี้ต่อยอดค่อยๆสะสมความเชื่อถือและแสวงหาเครือข่ายมาร่วมช่วยเหลือผู้คนไปเรื่อยๆ หลายหน่วยงานจึงให้ความเชื่อมั่น ทั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พมจ. เกษตรอำเภอ ธนารักษ์ รวมถึงทน.สงขลา ฯลฯ การเป็นผู้ประกอบการมาก่อน จึงได้นำแนวคิดการตลาดมาปรับใช้ บวกกับการเปิดพื้นที่ให้กับเด็กๆนอกระบบ กลุ่มเปราะบางด้วยกันมาช่วยงาน และเดินหน้าควบคู่กับแนวทางการพัฒนาโดยอาศัยศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเองเป็นองค์กรหลัก

ชมปฎิบัติการปิ่นโตตุ้มตุ้ยได้ที่

สกู๊ปที่ 1




สกู๊ปที่ 2

(1)

"เก็บข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา"

นอกจากรู้จักใช้วัตถุดิบในพื้นที่มาต่อยอดใช้ประโยชน์แล้ว การสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของตนผ่านสื่อช่องทางต่างๆก็เป็นอีกจุดเด่นของที่นี่ เล่าเรื่องต่างๆอยู่ตลอดเวลา พี่อ้นเขียนเล่าเหตุการณ์นี้ไว้ในกลุ่ม line อย่างที่ชวนคิดว่าช่วงสายๆแดดกำลังเปรี้ยงๆ วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2564 ทีมศูนย์บ่อยางฯพบแหล่งข้อมูลที่ข้างถนนโดยบังเอิญ คือ คุณตาวัย 70 ปี กำลังเข็นรถอย่างช้าๆให้ยายผู้เป็นภรรยานั่ง ที่รถเข็นมีรูปหนังตะลุงปักเสียบไว้เพื่อเร่ขายไปเรื่อยๆ ทีมศูนย์บ่อยางฯ ได้ลงไปนัดแนะกับตาว่าให้เข็นรถพายายไปหลบแดดรอพวกเราที่หน้าป้อมยามสำนักงานอัยการภาคก่อน ฝากลุงยามไว้ว่า ช่วยดูแลไว้สักครู่พวกเราจะนำข้าวกล่องพร้อมข้าวสารและปลากระป๋อง มาช่วยเหลือในเบื้องต้น

หลังจากส่งมอบความช่วยเหลือเบื้องต้นกันเรียบร้อยแล้วก็มีการสัมภาษณ์ข้อมูลเบื้องต้นสรุปได้ว่า ยายถือบัตรคนพิการ มีลูกด้วยกัน 1 คนแต่สมองไม่สมบูรณ์ ช่วยพ่อแม่ด้วยการเดินเร่ขอเงินตามตลาดนัด เงินที่ลูกชายได้มาก็เอามาจ่ายค่าเช่าบ้านที่เดิมอยู่ในเขตเมืองบ่อยาง แต่เมื่อไม่นานมานี้ถูกให้ออกจากบ้านที่เช่าอยู่และต้องไปเช่าบ้านอยู่แถวฝั่งหัวเขาแดง สิงหนครตอนเช้ามาก็พากันเข็นรถข้ามฝั่งมาทางแหลมสนอ่อน เพื่อเร่ขายหนังตะลุง ไปเรื่อยๆ มืดลงก็เข็นข้ามฝั่งกลับบ้านเช่าฝั่งหัวเขาแดง ที่เห็นได้ชัดตรงหน้าของทีมงานคือ ยายพูดไม่ได้ กับแววตาที่หม่นหมองของตาและความอ่อนล้าด้วยแรงกายที่ถดถอยตามอายุขัย เมื่อถามว่าตามีวันพักผ่อนบ้างมั้ย วันที่ไม่ต้องเข็นรถตากแดดร้อนๆแบบนี้ ตาก้มหน้านิ่งไม่มีคำตอบ

ความช่วยเหลือเบื้องต้นที่ศูนย์บ่อยางฯเป็นสะพานบุญนำสิ่งของที่ผู้บริจาคนำมอบไว้ส่งต่อให้สองตายายในวันนี้คือ ข้าวสารจำนวน 10 กิโลกรัม ปลากระป๋องจำนวน 10 กระป๋อง อาหารกล่องพร้อมรับประทานจำนวน 4 กล่องพร้อมช้อน และน้ำดื่มอีก 2 ขวด แต่ด้วยข้าวสารจำนวน 10 กิโลกรัมหนักมากเกินกว่าที่ตาจะเข็นไปพร้อมกับยายได้ พี่ๆเจ้าหน้าที่ รปภ.ของสำนักงานอัยการภาคจึงรับฝากไว้ให้ก่อนแล้วให้ตาค่อยทยอยมารับคืนตอนช่วงขากลับบ้านก่อนค่ำของวันนี้

(2)

"ไรเดอร์กระปุกอ้วน""

เด็กๆนอกระบบจำนวนหนึ่ง เข้ามาร่วมกิจกรรม ช่วงสถานการณ์โควิด ต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว แต่จากการช่างสังเกตและใช้แนวคิดต่อยอดจากต้นทุนของตน จึงเกิดแนวคิดการบริการรับส่งสินค้า อำนวยความสะดวกให้กับคนเมืองที่ต้องการคนช่วยบริการรับส่งของอุปโภคบริโภค โดยแกนนำกลุ่มที่ตั้งชื่อได้น่ารักสมตัวว่ากระปุกอ้วน(นัยยะหมายถึงกระปุกออมสินที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามกำลังทรัพย์ที่เก็บออม-ซึ่งเป็นกิจกรรมกลางของกลุ่ม)สร้างกิจกรรมเป็นไรเดอร์บริการส่งของ เช่นตัวอย่างหนึ่ง...ลูกค้าที่อยู่กรุงเทพฯ ส่งรูปแพมเพิร์สที่ต้องการซื้อ ส่งให้คนในครอบครัวที่บ่อยาง ลูกค้าที่สนใจจะใช้บริการให้น้องไปซื้อของให้ ในการใช้บริการ จะมี 2 แบบ

แบบที่ 1 สั่งรายการสินค้าที่จะซื้อ ให้น้องๆจ่ายเงินไปก่อน (ในส่วนนี้ พี่อ้นจะโอนเข้าบัญชีน้องกระปุกอ้วนให้ก่อน รับเงินจากลูกค้าแล้วค่อยโอนกลับมาคืน)

แบบที่ 2 ลูกค้าแจ้งว่า ลูกค้าจะโทรไปสั่งของที่ร้านและโอนเงินจ่ายค่าสินค้าให้กับทางร้าน น้องๆมีหน้าที่แค่ไปรับสินค้าจากร้านนำส่งถึงบ้านของลูกค้า

ทีมน้องๆเยาวชนกลุ่มกระปุกอ้วน ยินดีบริการลูกค้าโดยการรับจ้างไปซื้อของและนำส่งถึงที่บ้าน ในราคาครั้งละ 30 บาท(จะซื้อของกี่ชิ้นก็ได้ แต่ให้เหมาะกับการขนส่งด้วยมอเตอร์ไชค์) พื้นที่บริการคือ เขตเทศบาลนครสงขลา ช่วงเวลาที่ให้บริการคือ ตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น.ของทุกวัน

ผู้สนใจใช้บริการติดต่อได้ที่ ศูนย์บ่อยางสงขลาพึ่งพาตนเอง โทรศัพท์ 099 362 1717

ชมเรื่องราวของไรเดอร์กระปุกอ้วนได้ที่ 


(3)

"กำลังใจ"

ระหว่างทางของกิจกรรมรายวัน ในช่วงนี้เอง วันที่ 1 สิงหาคม 2564 มีการประชุมการประชุมวิชาการการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคม  ระดับชาติครั้งที่ 20 University Engagement  ในการนี้ชาวชุมชนแหลมสนอ่อนรู้สึกมีกำลังใจในการพัฒนาชุมชนของตนเองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีผู้นำเสนอผลงานทางวิชาการ จำนวน 2 ผลงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนแหลมสนอ่อน คือห้อง  CSD 05  ผลงานที่ได้มีการนำเสนอชื่อ "การมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะของชาวบ้านในชุมชนแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา" และห้อง CSD 10  ผลงานที่ได้มีการนำเสนอชื่อ "การจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทางสังคมในช่วงสถานการณ์โควิด - 19 กรณีศึกษาศูนย์บ่อยางสงขลาพึ่งพาตนเอง"

การนำผลงานที่ผ่านมาเสนอสู่สาธารณะในเวทีวิชาการนี้นับเป็นขวัญกำลังใจให้กับชุมชนได้ดียิ่ง


(4)

"เครือข่ายพัฒนาเมืองสงขลา"

อีกก้าวใหญ่ของการทำงานระดับเมือง นอกจากเข้าร่วมโครงการ SUCCESS ในฐานะเมืองบ่อยางแล้ว ปีนี้ศูนย์บ่อยางฯ ไม่ได้ทำงานเพียงเครือข่ายชุมชนเดิม แต่มีโอกาสได้ขยายเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น สะสมทีมงานเข้ามาช่วยกันมากขึ้น อาศัยวิกฤตโควิดที่เข้ามาปลายเดือนกรกฏาคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ได้ประสานพี่อ้นเข้าร่วมเพื่อรับฟังแนวทางการสนับสนุนเมืองสงขลาที่จะหนุนช่วยชุมชนรับมือโควิด อำเภอเมืองสงขลาเป็นอีกพื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่นี้มีเครือข่ายบ้านมั่นคงและมีคนจนเมืองอาศัยอยู่จำนวนมาก มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย บ้างเป็นคนต่างถิ่น บุกรุกที่ดินของการรถไฟบ้าง เจ้าท่าบ้าง ธนารักษ์บ้าง เป็นอีกปัญหาที่สะสมตัวอยู่ในพื้นที่ จนเป็นที่มาของการจัดทำโครงการที่ยื่นของบของ พอช.ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้กิจกรรมรายชุมชน พี่อ้นได้ประสานงานจนได้โครงการเข้ามาทั้งสิ้น 13 ชุมชน แบ่งเป็นชุมชนแออัด จำนวน 7 ชุมชน และบ้านมั่นคง 6 ชุมชน  งบประมาณที่ยื่นขอ ประมาณ 20,000-40,000บาท ใช้เกณฑ์จำนวนผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 15 ก.ค. ถึง 5 สิงหาคม 64 + จำนวนผู้กักตัวของวันที่ 2 สิงหาคม 64 เป็นเกณฑ์เสนอเพื่อพิจารณา เพื่อการนี้พี่อ้นได้ตระเวณรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของชุมชน ที่บางคนยังไม่รู้แม้กระทั่งชื่อที่แท้จริง เพื่อให้เห็นข้อมูลที่เป็นจริงของชุมชนทั้งในส่วนเชิงกายภาพ ประชากร ผู้ได้รับผลกระทบ

1.ฝ่ายทะเบียนราษฎร  ทน.สงขลา
2.กองสวัสดิการสังคม ทน.สงขลา
3.กองสาธารณสุขฯ ทน.สงขลา
4.ศูนย์ประสานงานโควิด -19 สงขลา
5.อสม.รายชุมชน 13 ชุมชน

ชุมชนในเขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง ได้มีการเสนอโครงการระดับชุมชน จำนวน  13 ชุมชน ดังนี้

1.ชุมชนแออัด ซึ่งเป็นชุมชนใหม่ที่ได้โอกาสเข้าถึงงบประมาณ จำนวน 7 ชุมชนคือ ชุมชนแหลมสนอ่อน ชุมชนวัดแหลมทราย ชุมชนวัดศาลาหัวยางชุมชนศาลาเหลืองเหนือ ชุมชนเมืองใหม่พัฒนา ชุมชนมัสยิดบ้านบน ชุมชนสวนหมาก

2.ชุมชนบ้านมั่นคง จำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหัวป้อม ชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะ ชุมชนเก้าเส้ง ชุมชนกุโบร์ ชุมชนบ่อนวัวเก่า ชุมชนนอกสวน และยังมีโครงการระดับเมืองอีก 1 โครงการ ผลจากการทำการบ้านอย่างดีช่วยให้โครงการทั้งหมดผ่านการอนุมัติให้ดำเนินการแล้วในวันนี้ (20 สิงหาคม 2564)


(5)

"จังหวัดเริ่มเข้ามาสนับสนุน"

ผลการทำงานที่สะสมผลงานมาอย่างต่อเนื่อง เห็นชัดขึ้นในวันนี้ วันที่ 17 สิงหาคม 2564 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นาง สุรียพรรณ์  ณ สงขลา ได้ให้การสนับสนุนครัวชุมชน "ปิ่นโตตุ้มตุ้ย" ชุมชนแหลมสนอ่อน โดยการมอบเงินสดจำนวน 15,000 บาท เพื่อการผลิตข้าวกล่องปรุงสุกใหม่ จำนวน 500 กล่องส่งมอบเป็นกำลังใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 ให้แก่ชาวชุมชน 55 ชุมชน เขตเทศบาลนครสงขลาโดยนายอำเภอเมืองสงขลา นายไชยพร  นิยมแก้วได้กรุณาประสานงานและอำนวยความสะดวกในการเตรียมการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้วิธีการส่งมอบเป็นไปตามมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคทุกประการ โดยจัดให้ตัวแทนจากแต่ละชุมชนทยอยมารับมอบวันละ 11 ชุมชน ในช่วงเวลา 11 นาฬิกาของทุกวันตั้งแต่วันที่ 17 - 21 สิงหาคม 2564

เหล่านี้คือผลงานของศูนย์บ่อยางฯในช่วงการรับมือโควิด ทั้งนี้การทำงานในชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย มีแรงเสียดทานและวิธีการทำงานที่หลากหลายแล้วแต่ประสบการณ์ของบุคคลและหน่วยงาน ที่ต่างก็มีกลุ่มพรรคพวกของตนเอง ผู้ได้ประโยชน์จะวนซ้ำอยู่ในกลุ่มของตน หน่วยงานต่างก็มีกลไกของตนเองทำงาน แต่ก็มีคนตกหล่น หรือบางคนอาจเข้าไม่ถึงบริการ

"กรณีของแหลมสนอ่อนก็รูปแบบเดียวกัน  ถ้าหากจะน้อยใจหรือกล่าวโทษกัน ความคิดส่วนตัวของพี่ เห็นว่า ควรจะพิจารณากล่าวโทษหรือน้อยใจ จากการกระทำของตัวเราเอง  ตัวเราเองนั่นล่ะคือจุดอ่อนของตัวเอง ของครอบครัว ของชุมชนและของเมือง" พี่อ้นว่า "ทุกคนอยากได้ ต้องการ ไม่แตกต่างกัน แต่จิตสำนึกต่างกัน พี่รับของบริจาคแล้วส่งต่อ พยายามให้ทั่วถึงอย่างที่สุด พยายามมีกติกา มีหลักเกณฑ์มากที่สุด แต่ก็ไม่เคยมีชาวชุมชนแหลมสนอ่อนคนไหนๆชื่นชมว่าพี่ดี มีน้ำใจ หรือยุติธรรม  พี่จะน้อยใจหรือโทษใคร ก็ไม่ควร พี่บอกกับตัวเองว่า พี่ทำดีที่สุดเท่านี้แล้ว"

พี่อ้นยกตัวอย่าง...แหลมสนอ่อนได้รับข้าวมาเมื่อวาน 100 กล่อง พี่อ้นเอามากินซะ 1 กล่องเหลือ 99 กล่องให้ครอบครัวคนวิ่งแจก 2 คนเท่ากับจำนวนสมาชิก มีข้าวที่จะแจกราวๆ 90 กล่อง คนจำนวน 300 คน มีข้าว 90 กล่อง อีกตั้ง 200 คนที่ไม่ได้กินข้าวกล่องเมื่อวาน

"คนยกนิ้วชมพี่ว่าดีจังที่หาข้าวมาให้ได้กินกัน ชมแค่ 90 คนที่เหลืออีกตั้ง 200 คนที่ไม่ได้ พอจะจินตนาการได้ใช่มั้ยคะว่าจะตำหนิหรือจะชม

มาวันนี้รับมอบเงาะกับมังคุดมา แบ่งใส่เป็นถุงชั่งน้ำหนักเท่ากัน พี่ใช้เกณฑ์ว่า คนที่ยังได้ข้าวกล่องเมื่อวานแล้ว วันนี้ไม่ให้ผลไม้ ยกเว้นน้องเจี๊ยบกับพี่ล้ดดาที่ช่วยแจกถึงหน้าบ้านทุกหลังคาเรือนจึงจะได้กินผลไม้ในวันนี้ วันนี้คนที่กินข้าวเมื่อวานก็จะไม่พอใจเมื่อไม่ได้ผลไม้  เหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นโดยทั่วไปไม่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง"

พี่อ้นบอกว่า เวลาชวนสมาชิกในกลุ่มมาร่วมมือกัน มักจะบอกทุกคนว่าเรามาทำงานเพื่อตัวเองเพื่อชุมชน ชวนมาเพื่อให้ได้เห็นว่าเรามีกำลังที่เข้มแข็ง เข้มแข็งพอที่จะดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้เท่านั้นพอ

Relate topics