เครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา ประชุมคณะทำงานผ่านแอป zoom เตรียมความพร้อมจัดทำตลาดเคลื่อนที่ผ่านรถโมบาย

  • photo  , 960x720 pixel , 86,397 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 102,713 bytes.

เครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา SGS-PGS

ประชุมคณะทำงานผ่านแอป zoom เตรียมความพร้อมจัดทำตลาดเคลื่อนที่ผ่านรถโมบาย เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๓
เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น.

มีเรื่องสำคัญๆ ดังนี้

๑.การจัดการตลาดเคลื่อนที่จำหน่ายผลผลิตในเขตเมืองรับมือโควิด จัดทำในนามของเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา (Songkhla Green Smile) โดยนางณัฐกฤตา อารมณฤทธิ์ หรือปลาเป็นผู้รับผิดชอบ ปัจจุบันได้มีการเตรียมการเรื่องรถขนส่ง ตกแต่ง ติดตั้งเครื่องเสียงแล้วเสร็จ และประสานงานเพื่อหาจุดจอดจำหน่ายสินค้า ๑) บริเวณในอำเภอหาดใหญ่ ประสานงานกับเกษตรกรอำเภอเพื่อประสานนายอำเภอหาดใหญ่ เพื่อขอจอด กำหนดขายทุกวันจันทร์ ๒) จุดจอดบริเวณสรรพากรหาดใหญ่ กำหนดไว้ทุกวันศุกร์ช่วงบ่ายสาม ซึ่งหากเหตุการณ์ปกติสามารถประสานผลผลิตที่ขายยังรพ.หาดใหญ่ ไปจำหน่ายต่อที่สรรพากร ๓) บริเวณ มอ. โดยจะประสานผ่านคุณบัญชร เพื่อใช้สถานที่หน้าสถานีวิทยุมอ.

๒.ปัญหาการผลิตที่พบก็คือ กลุ่มเกษตรกรขาดแคลนน้ำ ผู้ผลิตชะลอการผลิต เพราะไม่มั่นใจว่าผลผลิตที่จะออกขาดตลาดรองรับและหลายพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอในการปลูกผัก รวมถึงความหลากหลายของผลผลิตที่ตลาดต้องการ และปริมาณผลผลิตที่เพียงพอ รวมไปถึงการบริหารจัดการในช่วงเริ่มต้น

๓.รูปแบบการจำหน่ายจะมีทั้งออร์เดอร์ล่วงหน้า แล้วนัดส่งสินค้าตามเส้นทางไปยังจุดจอดประจำ และตลาดเคลื่อนที่ตามจุดนัดจอดประจำ(ควรเป็นตลาดต่อเนื่อง ๓ วันต่อสัปดาห์)

๔.ปลาต้องการให้เครือข่ายเกษตรกรวางแผนการผลิต โดยคำนึงถึงความต้องการของคนเมือง ทั้งนี้ผลผลิตที่ขายดีสำหรับคนเมือง เช่น ถั่วฝักยาว แตงกวา กระหล่ำปลี หัวผักกาด พริก ฟัก มะระขี้นก ข้าวโพด หัวมันโดยเป็นผลเล็ก ๆ ไม่ใหญ่เกินไป ราคาขายเป็นกำหรือมัดต้องไม่ใหญ่ กำละไม่เกิน ๒๐ บาท ผู้บริโภคจะนิยมมาก พร้อมกับสินค้าอื่นๆ ได้แก่ ข้าว ปลาแห้ง หอม กระเทียม กะปิ เครื่องครัว

๕.ร่วมกันจัดทำข้อมูลผลผลิตที่ต้องการนำมาขาย พร้อมช่องทางการขายในนามส่วนตัวและในนามเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัด ประสานเครือข่ายที่ผ่านการรับรอง PGS เพื่อจัดระบบการรวบรวมผลผลิตและจัดส่ง ในรูปแบบ ๕ คนต่อ ๑ จุดรวมผลผลิต

๖.ปลาจะเป็นคนกำหนดราคาซื้อจากเกษตรกร รวบรวมสินค้าแล้วนำมาคัดแยกใส่บรรจุภัณฑ์เอง พร้อมกับจัดหาตู้แช่เพื่อจัดเก็บผลผลิต และหาทางระบายสินค้ากรณีที่จำหน่ายไม่หมด

๗.ใช้สื่อประชาสัมพันธ์เครือข่ายผ่านผ้ายางประกอบติดกับรถเคลื่อนที่ เป็นทั้งสื่อและกันสาดบังร่มไปในตัว กรณีจัดทำสติกเกอร์ของเครือข่ายเพื่อติดฉลากบนผลผลิตแต่ละชนิด รอประเมินอีกครั้งหลังทดสอบตลาดแล้ว

๘.ให้ปลาจัดทำประเภทผลผลิตที่ต้องการพร้อมราคาที่จะซื้อจากเกษตรกร สื่อสารในกลุ่มไลน์ก่อนประชุมใหม่อีกรอบ เพื่อช่วยกันเติมเต็มข้อมูลและประสานเครือข่ายพันธมิตรจัดส่งผลผลิตมาร่วม พร้อมกำหนดวันลองตลาด

นัดประชุมอีกครั้งวันพุธที่ ๒๒ เมษายน ๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น.

ชาคริต โภชะเรือง  รายงาน

Relate topics