บุหรี่ไฟฟ้ามฤตยูตัวใหม่ ภัยคุกคามสาธารณสุขไทย

  • photo  , 1477x1108 pixel , 175,487 bytes.
  • photo  , 600x450 pixel , 40,418 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 108,400 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 139,111 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 141,709 bytes.
  • photo  , 1477x1108 pixel , 146,810 bytes.
  • photo  , 679x960 pixel , 143,571 bytes.

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มฤตยูตัวใหม่ ภัยคุกคามสาธารณสุขไทย

ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นมิตรกับผู้สูบทั้งอุปกรณ์ที่ดูทันสมัย รูปทรงสวยงามแปลกตา สีสันสดใส กลิ่มหอมหลากหลาย สูบแล้วไม่มีกลิ่นปากกลิ่นตัว ประกอบกับความเข้าใจผิดว่าส่งผลร้ายต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา  หากแต่ในความเป็นจริงพบข้อมูลทางวิชาการที่ล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและสังคมอย่างยิ่ง กลายเป็น “มฤตยูตัวใหม่” ที่ต้องสร้างความตระหนักและช่วยเฝ้าระวังต่อคนในสังคมอย่างเร่งด่วน

“บุหรี่ไฟฟ้ากับอนาคตประเทศไทย”  จึงเป็นหัวข้อมาแรงจาก “งานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพภาคใต้ ปี 2564” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ภาคใต้ สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ณ โรงแรมคริสตัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

รศ.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล หัวหน้าคณะทำงาน ศจย. ภาคใต้ กล่าวว่า ความพยายามของผู้บริหารประเทศในการผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายโดยร่วมมือกับอุตสาหกรรมยาสูบทั้งในและต่างประเทศนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาการติดบุหรี่ธรรมดาและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ศจย. ตระหนักถึงผลกระทบทางลบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม จึงรวบรวมงานวิชาการและงานวิจัยต่างๆ มาร่วมนำเสนอในการประชุมวิชาการนี้ รวมทั้ง การประชุมระดมสมองเพื่อหาแนวทางการทำงานเพื่อควบคุมยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังให้ความรู้ทางวิชาการถูกส่งผ่านไปยังประชาชนในสังคมวงกว้างต่อไป” รศ.พญ.รัศมี กล่าว

สำหรับประเด็นการนำเสนองานวิชาการโดยนักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบ ทั้ง ศจย. ส่วนกลาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่และปัตตานี สถาบันนโยบายสาธารณะ และมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย ได้ผลการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีฤทธิ์ทำลายสุขภาพร้ายแรงมาก โดยบุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง มีฤทธิ์นิโคตินเท่ากับบุหรี่ธรรมดา 20 มวน และพบสารเคมี 56 ชนิด สูงกว่าบุหรี่ธรรมดาอย่างมาก

นอกจาก “นิโคติน” ซึ่งเป็นสารที่ติดได้ง่ายมากกว่าเฮโรอีน โคเคน แอลกอฮล์ กัญชา และยาบ้า รวมทั้ง ยังเป็นประตูสู่การติดสารเสพติดอื่นๆ นั้น ในบุหรี่ไฟฟ้ายังพบสารเคมีอื่นๆ ที่น่าวิตกมากๆ คือ สารแต่งกลิ่นที่มีไขมัน น้ำมันกัญขา ที่จะไปเกาะเซลล์ปอด ทำให้ปอดติดเชื้อรุนแรง นอกจากนั้น เมื่อต้องใช้แบตเตอรีและความร้อนมาก เพื่อให้เกิดไอละออง จึงอุดมไปด้วยโลหะหนักที่เข้าไปทำลายปอดโดยตรง อนุภาคเล็กๆ เหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็ง รวมทั้ง การสูบเข้าปากโดยตรง จึงเกิดโรคมะเร็งช่องปากอีกด้วย
ผลแทรกซ้อนจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งทำลายเซลล์ไต ก่อมะเร็งช่องปาก มีผลต่อดีเอ็นเอในช่วงวัยกำลังพัฒนาเกิดการชะงักงัน ทำให้ดีเอ็นเอผิดปกติ ส่งผลต่อเซลล์สมอง ระบบเลือดและตับ และส่วนที่เห็นชัดเจนมากๆ คือ “ปอด” ที่มีความเสียหายสูงถึง 99%

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อการนำเสนอผลการศึกษาที่น่าสนใจทั้งหมด ดังนี้

-ผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า

-บุหรี่ไฟฟ้า ภัยคุกคามใหม่ของปัญหาสาธารณสุข

-การใช้บุหรี่ไฟฟ้าและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของเยาวชนไทยในสถานศึกษา

-การสำรวจการสูบบุหรี่ในตลาดและรถโดยสารสาธารณสุข อำเภอเมืองสงขลา

-พฤติกรรมการบริโภคยาสูบระหว่างการกักตัวในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคใต้ของประเทศไทย

-เลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน

-การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดชองโควิด-19 ระลอกสาม (ภาคใต้)

-การประเมินเสริมพลังโดยใช้แผนที่ผลลัพธ์สำหรับการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับชุมชนท้องถิ่นของเครือข่ายสุขภาพที่ผ่านการอบรมและพัฒนาศักยภาพในเขตบริการสุขภาพที่ 12
หมายเหตุ : การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการหลังหารแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสามที่อัตราการติดเชื้อและอัตราตายลดลง ทำให้การจัดประชุมในลักษณะไฮบริด (onsite and online) รวมทั้ง ปฏิบัติตามนโยบาย distancing อย่างเคร่งครัด

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ม.อ.

Relate topics