ตามติดชีวิตสมชายร่วมเรียนรู้และพัฒนาระบบการดูแลกลุ่มเปราะบางเขต 12
ตามติดชีวิตสมชาย ตอนที่ 1 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565
สมาคมอาสาสร้างสุขได้รับแจ้งข้อมูลจากพี่อ้น บุญบังอร ชนะโชติ เครือข่ายศูนย์บ่อยาง อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา ว่ามีคนไข้เกิดอุบัติเหตุตกต้นไม้ไม่มีบัตรประชาชน และมีฐานะยากจนขอความช่วยเหลือ
พี่อ้นได้เล่าอีกว่า "ภรรยาที่ดูแลอยู่ที่โรงพยาบาลไม่มีเงินติดตัวเลยอาศัยข้าวจากเตียงข้าง ๆ ให้"
ผู้ประสบเหตุคือ นายสมชาย อายุ 31 ปี เกิดอุบัติเหตุตกจากต้นไม้ต้องเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลสงขลา ทางบ้านมีฐานะยากจนมาก มีลูก 2 คนอายุ 5 ปีกับ 2 ปี ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างกรีดยาง และอาศัยบ้านของเถ้าแก่ที่สวนยาง ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา
นายสมชายไม่มีบัตรประชาชนทำให้เสียสิทธิ์การรักษาที่โรงพยาบาล ตอนนี้ได้รับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว อาการไม่สามารถขยับตัวครึ่งตัวล่าง แต่หมอให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน สิ่งจำเป็นสำหรับการไปพักฟื้นที่บ้านจะต้องมีอุปกรณ์เรียกว่าชุดเกราะไว้ดามหลังสำหรับให้นั่งได้ การที่ไม่มีสิทธิ์รักษาพยาบาลทำให้นายสมชายจะต้องจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ จำนวน 2,000 บาท เพื่อให้ตัวเองกลับมาพักฟื้นเพื่อทำกายภาพบำบัดอยู่ที่บ้าน สมาคมอาสาสร้างสุขไม่รอช้าได้ดำเนินการติดต่อไปยังภรรยาและแม่ของนายสมชายทันทีเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น
ตอนนี้สมาคมอาสาสร้างสุขได้ประสานไปยังบัณฑิตอาสาศอ.บต.อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อให้ติดต่อเครือข่ายบัณฑิตอาสาในพื้นที่ ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลาให้สอบถามรายละเอียดการทำบัตรประชาชนให้กับนายสมชายให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้ใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลอย่างน้อยได้บรรเทาเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
สมาคมอาสาสร้างสุขได้มองถึงมิติการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น อาชีพ สิ่งอำนวยควาสะดวกเบื้องต้น และที่อยู่อาศัยของครอบครัวนี้ เพื่อให้ครอบครัวนี้อยู่ได้อย่างน้อยลูกอีก 2 คนมีต้องกินครบ 3 มื้อ
ตามติดชีวิตสมชาย ตอนที่ 2 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565
อัพเดทเรื่องของนายสมชาย ต่อจากเมื่อวานนะครับ วันนี้สมาคมอาสาสร้างสุขมีโอกาสไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลสงขลา ได้พูดคุยกับนายสมชายตอนนี้อาการดีขึ้นสุขภาพใจดีเข้มแข็ง สำหรับเรื่องสภาพร่างกาย ทางหมอแจ้งมาว่าโอกาสพี่จะกลับมาเดินอีกครั้งค่อนข้างน้อย เพราะเส้นประสาทและกระดูกเสียหายไปหลายจุด
ตอนนี้ทางโรงพยาบาลให้ภรรยาฝึกเรียนรู้การดูแลป้องกันแผลกดทับและทำความสะอาดรวมทั้งฝึกทำกายภาพบำบัดคนไข้หลังจากกลับไปพักฟื้นที่บ้าน
สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สุด คือการเร่งทำบัตรประชาชนให้กับนายสมชาย ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าไม่มีบัตรประชาชน นายสมชายไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะเข้าเงื่อนไขผิดระเบียบของทางโรงพยาบาลเรื่องการค้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล สืบเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนทำให้สิทธิ์การรักษาต่าง ๆ ไม่มี ทางหมอได้แจ้งยอดค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดตั้งแต่เข้ามารักษารวมประมาณ หนึ่งแสนหกหมื่นกว่าบาท ที่ต้องจ่าย แต่ถ้ามีเลข 13 หลัก สามารถลดค่ารักษาพยาบาลได้แล้วกลับมาใช้สิทธิ์เหมือนคนทั่วไปในการรักษา
ทางสมาคมอาสาสร้างสุขเร่งดำเนินการติดต่อไปยังผู้นำในพื้นที่บัณฑิตอาสาศอ.บต.ตำบลวังใหญ่ และคุยกับแม่ของนายสมชายให้ไปพบผู้นำชุมชน เพื่อแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่จะนำมาประกอบในการทำบัตรประชาชน
วันจันทร์ที่จะถึงนี้ (14 ก.พ.65) ทางสมาคมอาสาสร้างสุข ได้นัดพื้นที่จะไปเยี่ยมบ้านที่ตำบลวังใหญ่และช่วยประสานดำเนินเรื่องการทำบัตรประชาชนให้เร็วที่สุด ซึ่งทางผู้นำในพื้นที่รับทราบข้อมูลเบื้องต้น หวังว่าสามารถดำเนินการให้ลุล่วงผ่านพ้นไปด้วยดี
ตามติดชีวิตสมชาย ตอนที่ 3 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
ในวันที่สมชายยังคงนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลา กับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึันทุกวัน ที่ทำอย่างไรคนในครอบครัวก็ไม่มีกำลังความสามารถในการหามาจ่าย ทางออกเดียวที่ทำได้ตอนนี้ คือ การขอบัตรประชาชนให้สมชาย เพื่อให้ได้สิทธิ "บัตรทอง" ในการรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
สมาคมอาสาสร้างสุขเดินทางไปหาแม่อ้อย แม่ของนายสมชายที่ตำบลสะกอม เทพา เพื่อไปพบผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลวังใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายสมชายตามที่ได้นัดหมายผู้ใหญ่บ้านเอาไว้ ทีมงานได้พบกับน้าสาวของนายสมชาย ซึ่งพอเราให้ดูภาพถ่าย ก็จำได้ว่าเป็นหลานชายคนหนึ่งที่ไม่ได้เจอกันมานาน จากการสอบถามเรื่องราว ทำให้เราได้ทราบถึงความยากลำบากของครอบครัวนี้อีกหลายอย่าง
สมชายเป็นลูกคนที่ 2 ของแม่อ้อยกับพ่อนอม ซึ่งพ่อนอม ได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2542 แม่อ้อยจึงพาลูกชายทั้ง 4 คน คือ พี่ชายของสมชายซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว สมชาย เอ็ม และอุดม เร่รอนหางานรับจ้างทำ เคยไปทำงานรับจ้างถึงจังหวัดพัทลุง ทำให้สมชายได้เรียนหนังสือถึงชั้น ป.2 แต่ด้วยไม่มีหลักฐานการเกิด ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อได้ จากการเร่ร่อน ทำให้ลูกทั้ง 3 คนไม่ได้แจ้งเกิดและไม่ได้เรียนหนังสือเลยสักคน จากการพูดคุยกับน้าสาวและผู้ใหญ่บ้าน เราได้หลักฐานเพิ่มเติม คือ ใบมรณบัตรของนายนอม พ่อของสมชาย สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนพี่ชายของสมชายคนที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงเก็บไว้เป็นหลักฐานในการของบัตรประชาชนต่อไป
สมชายมีภรรยาและลูกน้อยอีก 2 คน อายุ 2 ขวบ และ 7 ขวบ เมื่อเราขอดูเอกสารใบสูติบัตร พบว่า มีแค่ชื่อบิดาที่ไม่มีรายละเอีดยอะไรเพิ่มเติมเลย พอสอบถามข้อมูลเรื่องของเด็ก ๆ กับแม่อ้อย พบว่า เด็กน้อย 2 คน ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นสิทธิที่พึงได้รับ แต่คนเป็นแม่เด็กไม่มีความรู้จึงไม่ได้ไปยื่นของสิทธิ ทำให้ลูกคนโตเสียสิทธิตรงนี้ไปแล้วเพราะอายุเกิน 6 ปี ในขณะที่คนเล็กตอนนี้ต้องรีบดำเนินการให้
แม่อ้อย บอกกับทางทีมงานว่าอายุ 58 ปี เพราะไม่รู้หนังสือ แต่เมื่อเราขอดูบัตรประชาชนกลับพบว่า แม่อ้อย อายุ 61 ปี แล้ว เพราะตามบัตรประชาชน เกิดปี พ.ศ. 2504 ซึ่งแม่อ้อย ต้องได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เพราะความไม่รู้หนังสือ ไม่มีคนแนะนำ ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิที่พึงได้รับ
สมาคมรวบรวมเอกสารข้อมูลทั้งหมดถ่ายเอกสาร ส่งต่อข้อมูลให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านควนหมาก และน้าสาวของสมชายให้คอยติดตามข้อมูล แล้วพาแม่อ้อยพร้อมน้องอาทิตย์ ลูกชายตัวน้อยของสมชาย ขึ้นรถเดินทางไปที่ว่าการอำเภอเทพาเพื่อยื่นเรื่องขอทำบัตรประชาชนให้กับสมชาย เอ็ม และอุดม ลูกชายทั้ง 3 คน ของแม่อ้อยแบบรวดเดียวเลย จะได้ไม่เสียเวลาในการสืบหาพยานหลักฐาน
ที่ว่าการอำเภอเทพา ออกจะวุ่นวายเล็กน้อย มีคนมาจดทะเบียนสมรสเยอะ
เพราะตรงกับวันวาเลนไทน์ ทีมงานได้เข้าพบกับปลัดอำเภอเพื่อยื่นเอกสาร พูดคุยสักถามข้อมูล และให้คำแนะนำเบื้องต้นในการช่วยเหลือสมชาย เพราะกระบวนการได้มาซึ่งบัตรประชาชนยังมีอีกหลายขั้นตอน อาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือน แต่อำเภอรับจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะก่อนที่ทีมงานจะเดินทางมาที่อำเภอ ผู้ใหญ่บ้านได้โทรมาประสานงาน บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟังแล้ว
เสร็จจากอำเภอเทพา เราพา 2 ย่าหลาน ไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลสะกอมตามที่อยู่ในบัตรประชาชนและใบสูติบัตร ทำการยื่นเรื่องขอรับสิทธิเงินยังชีพผู้สูงอายุให้แม่อ้อย และขอเอกสารเพื่อยื่นเรื่องของสิทธิสงเคราะห์บุตรให้กับทางน้องอาทิตย์ ซึ่งต้องนำเอกสารกลับไปให้ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. หมู่ 7 ตำบลสะกอมเซ็นรับรองให้ เสร็จแล้วจึงพาทั้ง 2 คน กลับไปส่งที่บ้านที่เป็นบ้านญาติที่แม่อ้อยมาพักอาศัยอยู่ระหว่างที่สมชายยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
ที่บ้านพักของแม่อ้อย ซึ่งเป็นบ้านของพี่สาวที่มีอายุเกือบ 70 ปี อาศัยอยู่กับหลานชายตัวน้อยอีกคน สามีเสียชีวิตไปแล้ว อาศัยเงินยังชีพผู้สูงอายุในการใช้จ่าย และรายได้บางส่วนที่ลูกส่งมาให้ ซึ่งก็แทบจะไม่พอจ่ายในแต่ละวัน เรียกได้ว่า ทั้งคนช่วยเหลือ แะละคนพึ่งพา มีสภาพความยากลำบากที่ไม่แต่ต่างกันเลย ถามว่า ทำไมแม่อ้อยไม่ไปอยู่ที่กระท่อมในสวนยางพาราที่รับจ้างกรีดยาง เพราะที่นั่น ไม่มีไฟไฟ้า ไม่มีเพื่อนบ้าน แม่อ้อยขับรถมอเตอร์ไซด์ไม่เป็น ไม่มีมอเตอร์ไซด์เป็นของตนเอง การมาอยู่บ้านญาติ อย่างน้อยเด็ก ๆ ได้มีคนคนช่วยดูแล มีไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย และสามารถจับจ่ายหาซื้ออาหารให้เด็ก ๆ ได้ง่าย เพราะอยู่ในชุมชน
การเดินทางเพื่อช่วยเหลือสมชายเพียงคนเดียว เรากลับพบเรื่องราวความยากลำบากของครอบครัวนี้อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับ สิทธิความเป็นคนไทย สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิผู้สูงอายุ สิทธิของเด็กและเยาวชน และเราเชื่อว่า เรื่องราวเหล่านี้มีอยู่จริง และยังคงมีอยู่อีกมากมายในสังคมบ้านเรา จะทำอย่างไรถึงจะช่วยคนเหล่านี้ให้หลุดพ้นวงจรความยากจน หลุดพ้นวงจร โง่ จน เจ็บ และสร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำได้จริง
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ ศูนย์อาสาสร้างสุขภาคใต้
Relate topics
- หนุงเสริมพลังโครงการ“การผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน” บ้านบางใหญ่ สุราษฏร์ธานี
- หนุนเสริมพลังโครงการเครือข่ายสุขภาวะยุคใหม่สร้างเมืองปลอดภัยห่วงใยคุณภาพชีวิตชาวบ้านหาร สงขลา
- นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ร่วมแลกเปลี่ยน “แนวคิดจัดตั้งสมาคมฯ: เสียงจากประชาชนสู่การขับเคลื่อนสันติภาพ”
- UNDP และกระทรวงพม. เดินหน้ารับมือความท้าทายท่ามกลางสังคมสูงอายุและภาวะโลกรวน
- โซ่ข้อกลางเพื่อประชาชน: สันติวิธี เส้นทางสู่สันติสุขที่ยั่งยืนที่ชายแดนใต้
- หารือการขับเคลื่อนงานตามโครงการ “วัยรุ่นใต้ล่างรู้ทันบุหรี่ไฟฟ้า” พื้นที่สตูล
- สช.ผนึกกำลัง กขป. ทั่วประเทศเคลื่อนงานพัฒนารองรับสังคมสูงวัย มุ่งวางทิศชี้ทาง บูรณาการร่วม-เน้นทำบนฐานข้อมูลพื้นที่เป็นหลัก
- กขป.เขต ๑๒ จัดประชุมสร้างความร่วมมือการดำเนินงานปี ๒๕๖๘
- พมจ.กระบี่ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการปี 68 มุ่งสู่กระบี่อยู่เย็นเป็นสุข
- สสว.11 ชวนใช้ข้อมูลครัวเรือน(กลุ่มเสี่ยง)จากสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างพุ่งเป้า