“ปฏิญญาอ่าวลันตาการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Blue & Green Island”
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มูลนิธิอันดามัน ร่วมกับอำเภอเกาะลันตาและ 45 เครือข่ายเดินหน้า ลงนาม “ปฏิญญาอ่าวลันตาการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Blue & Green Island”
วันที่ 25 เมษายน 2566เวลา 13.30 น. ณ ศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในพิธีลงนามปฏิญญาอ่าวลันตาการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Blue & Green Island
พร้อมด้วยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ,ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ,น.ส.อุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม , นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้แทนมูลนิธิอันดามัน, นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา ,นายชวน ภูเก้าล้วน รวมถึงภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนาม จำนวน 45 หน่วย ทั้งหน่วยงานภาครัฐระดับนโยบาย ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชนและประชาสังคม ,สถาบันการศึกษา รวมถึงพี่น้องประมงพื้นบ้านทั้ง 6 จังหวัดอันดามัน สื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 150 คน
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า " ผมเองให้ความสำคัญกับบทบาทและการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและปากท้องของพี่น้องประชาชน และเวทีวันนี้ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้ สร้างความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้เกาะลันตาเป็นพื้นที่หนึ่งของจังหวัดกระบี่ที่มีต้นทุนที่สำคัญทั้งประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม รวมถึงความสมบูรณ์และความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นต้นทุนที่จะต่อยอดและขยายผลการทำงานของพี่น้องในการคุ้มครองรักษาควบคู่กับการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนและมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และภายใต้“ปฏิญญาอ่าวลันตา” ในครั้งนี้ ผมเองได้มีโอกาสอ่านและเห็นประเด็นที่สำคัญๆ ที่พวกเราได้ร่วมคิด ร่วมออกแบบ และร่วมกันจัดทำเนื้อหาเพื่อเป็นแนวทางในการเดินร่วมกันหลายๆ เรื่อง ทั้งการทำประมงยั่งยืน ,การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล, การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน,การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ,การพัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกภาคส่วน ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้คงไม่จบแค่การลงนาม และประกาศให้สังคมได้รับรู้เท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญคือการขับเคลื่อน หรือนำปฏิญญาไปแปลงสู่การปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ปฏิญญาอ่าวลันตา เป็นแค่เสือกระดาษ และหากเราสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเกาะลันตาสู่เป้าหมายที่พวกเรากำหนดไว้ได้ ผมคิดว่าเกาะลันตาจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาในหลายๆ เรื่อง ซึ่งก็อยากให้ใช้โอกาสนี้ในเกิดผลในทางปฏิบัติมากที่สุด"
น.ส.อุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า " กิจกรรมนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากภาคีหลายภาคส่วน ที่มุ่งมั่น ตั้งใจจะร่วมกันคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟู ประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอำเภอเกาะลันตา ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนภายใต้วัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1.เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ข้อมูล ความรู้ และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
2.เพื่อพัฒนากลไกและเครื่องมือในการทำงาน โดยการทำ “ปฏิญญาอ่าวลันตาการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Blue & Green Island” และ
3.เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนอ่าวลันตาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Blue & Green Island กับภาคีเครือข่าย โดยมีรูปแบบการดำเนินงานที่สำคัญในวันนี้ คือ การเสวนา “การขับเคลื่อนลันตาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Blue & Green Island” และ การลงนามปฏิญญาอ่าวลันตาการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Blue & Green Island ซึ่งมีสาระที่สำคัญ 9 เรื่อง คือ การทำประมงยั่งยืน ,การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ,การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล ,การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ,การเชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น ,การลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล ,การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอลซิลไปสู่พลังงานสะอาด ,การพัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต และ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน"
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นองค์กร สถาบันการศึกษาที่ร่วมทำงานในพื้นที่เกาะลันตามาอย่างต่อเนื่อง ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มอบหมายให้ ดร.ฐิติชญาน์ บุญโสม มาร่วมลงนามแทน และสนส.ม.อ.ก็ขอเป็นองค์กรหนึ่งที่ยินดีและหนุนเสริมการทำงานทางวิชาการในระดับพื้นที่ต่อไป
#สถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ สื่อสร้างสุขภาคใต้
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Facebook ชาญชัย หยังดี
Relate topics
- "จังหวะก้าวโรงเรียนรองรับสังคมสูงวัยเทศบาลตำบลคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา"
- "อบรมการใช้ iMed@home เทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล"
- "ประชุม กขป.เขต 12 ครั้งที่ 2/2566"
- สสส. หนุนพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิสู่องค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ
- "กขป.เขต 12 on air ครั้งที่ 1: รองรับสังคมสูงวัย"
- ความร่วมมือในการพัฒนาระบบข้อมูลกลางประชากรในพื้นที่จังหวัดสตูล
- เครือข่ายสื่อสุขภาวะเพื่อประชาชน เขต 12
- "ประชุมทีมประธานและเลขาฯ กขป.เขต 12"
- พิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU จังหวัดชายแดนใต้ไร้ครรภ์วัยรุ่นภายในปี พ.ศ.2570
- กลุ่มรักจังสตูลและภาคีพัฒนา จัดเสวนาสมัชชาคนสตูล ครั้งที่ 10 “สุขสตูล 10 ประการบนแผ่นดินอุทยานธรณีโลก”