"ธรรมนูญสุขภาพอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ ตำบลบ่อยาง ทน.สงขลา"
"ธรรมนูญสุขภาพอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ ตำบลบ่อยาง ทน.สงขลา"
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา จับมือกับเทศบาลนครสงขลา นำโดยรองนายกฯ รองวิชากร บัวหอม รองดนุพล สุนทรัตน์ เป็นประธานการประชุม มีผอ.สำนักการศึกษา กองสวัสดิ์ กองสาธารณสุข รร.ในชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก ประธานและอสม.11ชุมชนภายใต้ศูนย์บริการสาธารณะสุขสระเกษ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ยกร่างธรรมนูญสุขภาพชุมชนในเรื่องอาหารและโภชนาการสำหรับกลุ่มเปราะบาง(เด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์) เป็นกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนจากสำนักวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) โดยมีนายชาคริต โภชะเรือง สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาเป็นวิทยากร ณ ห้องประชุมวิทยาลัยพยาบาลฯ
ดร.ศิริวรรณ ชูกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยนำเสนอผลการศึกษาสถานการณ์ปัญหา โดยรวมพบว่าเด็กในชุมชน เด็กเล็กเริ่มมีน้อยลง เฉลี่ยพบครัวละ 1-2 คน พ่อแม่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย 20% อยู่กับปู่ย่า มีภาวะเตี้ยและอ้วน ในกลุ่มเตี้ยมีปัญหาจากการเข้าไม่ถึงอาหารหรือขาดสารอาหารเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากเด็กในครอบครัวที่ฐานะยากจน ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล ในกลุ่มเด็กอ้วนจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง มีภาวะอาหารไม่เหมาะสม ที่สำคัญพบว่าหญิงตั้งครรภ์อายุ 21-30 ปีขาดทักษะ รวมถึงความรู้ด้านโภชนาการ แม้จะมีคู่มือสีชมพูแต่ก็ไม่ได้ใช้หรือเรียนรู้
ที่ประชุมได้ร่วมเติมเต็มปัญหา ในส่วนเด็กเล็กที่สัมพันธ์กับปัญหาทางสังคม อาทิ การเป็นเด็กนอกชุมชน ผู้ปกครองเป็นพ่อค้าแม่ค้าไม่มีเวลาใส่ใจดูแล บางส่วนอยู่ในการดูแลของปู่ย่าตายาย เด็กไม่ได้ทานมื้อเช้า เด็กไม่กินผัก ชอบกินขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม หรือเด็กยากจน เช่นกรณีของเด็กในโรงเรียนชัยมงคลวิทย์ที่มีเด็ก220 คน มาเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่เป็นเด็กในชุมชน อาศัยอยู่กับตายาย มีปัญหาชีวอนามัย บางคนใส่เสื้อซ้ำทั้งสัปดาห์ ทั้งหญิง/ชายไม่ใส่กางเกงใน(ต้องรับบริจาคมาให้) มีพฤติกรรมใช้ยาเสพติด-บุหรี่ไฟฟ้า มีการใช้สื่อ(ดูอย่างเพลิดเพลินจนดึกและไม่มาเรียน กระทั่งออกจากการเรียน)
โรงเรียนพยายามแก้ปัญหาอาหารเช้าด้วยการรับบริจาคจัดอาหารข้าวต้มยามเช้า มีผู้ใหญ่ใจดีบริจาครายปีเพื่อให้เด็กๆได้มีอาหารต่อเนื่อง แต่ก็ประสบปัญหาการคัดกรองวัตถุดิบที่ปนเปื้อน แต่ก็มีกิจกรรมปลูกผัก ให้เด็กนำไปจำหน่ายสร้างรายได้
เด็กในโรงเรียนไม่กินผัก ผลไม้ ขาดวิตามินดี
หญิงมีครรภ์ในชุมชนแออัด บางคนใช้ยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาหลักคุกคามชุมชน มีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เด็กไม่ได้กินนมแม่ แม่มีความเชื่อผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กสมบูรณ์ การกินน้ำผลไม้กล่องแทนกินผลไม้สด การกินวิตามินทดแทนนม ไม่สามารถให้ลูกกินนมวันละ 2 แก้ว หรืออาหารว่าง 2 มื้อต่อวัน แถมอาหารนั้นส่วนใหญ่เป็นขนมกรุบกรอบ
ในชุมชนยังมีที่ว่างน้อย อาศัยในที่ดินของราชพัสดุหรือหน่วยงาน วัตถุดิบมาจากต่างถิ่น มีการปนเปื้อน ไม่สามารถทำการผลิตอาหารด้วยตนเอง ร้านค้า ตลาด แม่ค้าพ่อค้าปรุงอาหารรสจัดไม่เอื้อต่อสุขภาพ
ในส่วนนโยบายแจมนม-ไข่ ที่เทศบาลใช้แก้ปัญหายังพบหญิงบางคนเข้าไม่ถึงบริการ อาจเพราะปกปิดข้อมูลการตั้งครรภ์หรืออยู่บ้านเช่า เป็นคนต่างถิ่น เข้าไม่ถึงข้อมูล และบางคนนำนมหรือไข่ไปแลกเป็นอาหาร
อย่างไรก็ดี นอกจากนโยบายแจกนม-ไข่แล้วเทศบาลและหน่วยงานรับผิดชอบก็มีแนวทางแก้ปัญหาที่กำลังดำเนินการ ได้แก่ กองสวัสดิ์ฯ เปิดรับคำร้องให้ความช่วยเหลือสมาชิกชุมชนที่ยากลำบาก 3000บาทต่อคนต่อปีๆละไม่เกิน 3 ครั้ง โดยมีคณะกรรมการร่วมกลั่นกรอง การศึกษา ดูแลโภชนาการโดยมีคณะทำงานลงตรวจอาหารกลางวันให้ได้ตามมาตรฐานThai School Lunch ในสถานศึกษาภายใต้การดูแลไม่ต่ำกว่าเดือนละครั้ง ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง โรงเรียนประถม 4 แห่ง โรงเรียนมัธยม 4 แห่ง ยังพบปัญหาอาหารเหลือ เด็กไม่กินผัก ผู้ปกครองยังไม่รับรู้ข้อมูลเหล่านี้ พร้อมกับเพิ่มโครงการอิ่มท้องสบายดีเพื่อแก้ปัญหาเด็กไม่ทานอาหารเช้า ในการดำเนินการดังกล่าวยังมีคณะกรรมการจังหวัดคอยกำกับอีกชั้น กองสาธารณสุขดูแลอสม.ใน11 ชุมชนจำนวน 85 คน พยายามเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงที่ต้องแจกนมไข่ให้ได้มากที่สุด
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการประชุมผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินภาวะโภชนาการ คืนข้อมูลให้ทราบผ่านกลุ่มไลน์ มีกิจกรรมคน 3 วัยทำร่วมกัน
โรงเรียนเทศบาล 2 ส่งเสริมสุขภาพนามัยนักเรียน ทั้งอาหาร การออกกำลัง มีการประชุมผู้ปกครอง มีการเพิ่มหน่วยการเรียนรู้การงาน/เกษตร
โรงเรียนชัยมงคลวิทย์พยายามหาผู้ใหญ่ใจดีมาสนับสนุน รับอุปการะเด็กยากจน
ที่ประชุมได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะ(ร่าง)คำสัญญา หรือธรรมนูญสุขภาพอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ ตำบลบ่อยาง ทน.สงขลา
วิสัยทัศน์ : เด็กเล็กและหญิงมีครรภ์มีภาวะโภชนาการและอาหารที่ดี สูงดีสมส่วน เข้าถึงความรู้และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ
แนวทางดำเนินการ : สร้างค่านิยมร่วม สร้างแนวร่วมการทำงาน บนพื้นฐานบูรณาการความรู้ บูรณาการเครื่องมือ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนากลไกการทำงานร่วม
กลุ่มเป้าหมาย เด็กเล็ก 0-5 ปีและหญิงมีครรภ์
ทีมวิจัยนำไปยกร่าง และนำมาประชาพิจารณ์ประกาศใช้ต่อไป
(ร่าง)คำสัญญา หรือธรรมนูญสุขภาพอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ ตำบลบ่อยาง ทน.สงขลา
วิสัยทัศน์ : เด็กเล็กและหญิงมีครรภ์มีภาวะโภชนาการและอาหารที่ดี สูงดีสมส่วน เข้าถึงความรู้และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ
แนวทางดำเนินการ : สร้างค่านิยมร่วม สร้างแนวร่วมการทำงาน บนพื้นฐานบูรณาการความรู้ บูรณาการเครื่องมือ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนากลไกการทำงานร่วม
กลุ่มเป้าหมาย เด็กเล็ก 0-5 ปีและหญิงมีครรภ์
ประกอบด้วยหมวดหมู่สำคัญดังนี้
หมวด 1 การสร้างค่านิยมร่วมในการบริโภค
ข้อตกลง
ข้อที่ 1 ผู้ปกครองเด็กเล็ก ไม่ส่งเสริมให้เด็กเล็กดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้กล่อง ลดการกินขนมถุงขนมซอง ที่ไม่มีประโยชน์
ข้อที่ 2 ผู้ปกครองเด็กเล็ก ส่งเสริมให้เด็กเล็กกินผัก ผลไม้ ในปริมาณที่เหมาะสม(ระบุ) ดื่มนมวันละ 2 แก้ว
ข้อที่ 3 เด็กเล็กจะต้องได้กินนมแม่มากกว่านมผงสำเร็จรูป
ข้อที่ 4 สมาชิกในชุมชนร่วมกันปลูกผักเพื่อบริโภค ด้วยรูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับชุมชน
ข้อที่ 5 สมาชิกในชุมชนปรับพฤติกรรมการบริโภตลดหวานมันเต็ม เป็นตัวอย่างให้กับเด็กเล็ก
ข้อที่ 6 เด็กในชุมชนทุกคนจะต้องได้กินอาหารมื้อเช้า ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมทุกมื้อ
ข้อที่ 7 ชุมชนร่วมกันสร้างเมนูอาหารสุขภาพประจำครัวเรือนอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 เมนู
ข้อที่ 8 วิทยาลัยพยาบาล เทศบาลนครสงขลา สถานศึกษา ร่วมกันสร้างนวตกรรมด้านโภชนาการและอาหาร อาทิ อาหารที่ช่วยให้เด็กกินผักได้ง่าย
หมวด 2 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ
ข้อตกลง
ข้อที่ 1 เทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงสุ่มตรวจหาสารตกค้างปนเปื้อนอาหารในตลาดสดหรือตลาดนัดอย่างสม่ำเสมอ มีการรายงานผลการตรวจให้ชุมชนรับรู้พร้อมมีมาตรการควบคุม เข้มงวดผู้ประกอบการ
ข้อที่ 2 เทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาร้านค้าชุมชนสีขาว เป็นต้นแบบ มีมาตรการทางภาษีหรือคูปองสะสมแต้มในการมีส่วนร่วมจำหน่ายวัตถุดิบอาหารปลอดภัย หรือไม่จำหน่ายขนมหรือสินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพของเด็กเล็ก
ข้่อที่ 3 เทศบาลและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ลงเยี่ยมสถานศึกษาในการดูแลอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อรับทราบปัญหาโภชนาการและอาหารและร่วมหาทางแก้ไข
ข้อที่ 4 เทศบาลนครสงขลาร่วมกับชุมชนสำรวจพื้นที่ว่างเพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่การผลิตอาหารปลอดภัยทั้งในชุมชนและสถานศึกษาที่รับผิดชอบ
หมวด 3 การสร้างความรอบรู้ด้านอาหารและโภชนาการ
ข้อตกลง
ข้อที่ 1 เทศบาลนครสงขลา ประธานชุมชน อสม. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมกันสำรวจข้อมูล จัดทำแผนที่เดินดิน วิเคราะห์องค์กรชุมชน ค้นหากลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเป้าหมายเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และร่วมกันจัดทำแผนสุขภาพชุมชน ปรับพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยง
ข้อที่ 2 ชุมชนมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านอาหารและโภชนาการ
ข้อที่ 3 วิทยาลัยพยาบาล เทศบาลนครสงขลาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมกับชุมชน มีความหลากหลาย สอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน
ข้อที่ 4 สถานศึกษานำหลักสูตรอาหารและโภชนาการไปใช้ในการเรียนการสอน สร้างสำนึกและความรับรู้ในการบริโภคให้กับเด็กเล็ก
ข้อที่ 5 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนีสงขลา พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน อสม.ในการเขียนโครงการ เพื่อนำเสนอขอการสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพตำบล
หมวด 4 การพัฒนากลไกความร่วมมือ
ข้อตกลง
ข้อที่ 1 เทศบาลนครสงขลาออกประกาศแต่งตั้งคณะทำงานที่มีองค์ประกอบหน่วยงาน เครือข่าย ตัวแทนชุมชน ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพให้บรรลุผล
ข้อที่ 2 คณะทำงานรายงานผลการดำเนินงานปีละครั้ง และปรับปรุงธรรมนูญสุขภาพทุก 3 ปี
Relate topics
- สช.ผนึกกำลัง กขป. ทั่วประเทศเคลื่อนงานพัฒนารองรับสังคมสูงวัย มุ่งวางทิศชี้ทาง บูรณาการร่วม-เน้นทำบนฐานข้อมูลพื้นที่เป็นหลัก
- กขป.เขต ๑๒ จัดประชุมสร้างความร่วมมือการดำเนินงานปี ๒๕๖๘
- พมจ.กระบี่ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการปี 68 มุ่งสู่กระบี่อยู่เย็นเป็นสุข
- สสว.11 ชวนใช้ข้อมูลครัวเรือน(กลุ่มเสี่ยง)จากสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างพุ่งเป้า
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ชู “ข้อเสนอ 3 ข้อ” ปกป้องเด็กเยาวชนจาก “ภัยบุหรี่ไฟฟ้า” ในเวทีระดมความเห็นภาคีปฏิบัติการพื้นที่ “ภาคใต้”
- 17 ประเด็นที่เห็นจาก NHA17
- "ประชุม กขป.เขต 12 ทีมเล็ก"
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบและกลไกการจัดการพื้นที่ตำบลขอนหาด (ภาคีเครือข่าย สสส.)
- "พัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยงและกองเลขาแผนงานร่วมทุนฯสงขลา"
- ประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2567 “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P): กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”