17 ประเด็นที่เห็นจาก NHA17
17 ประเด็นที่เห็นจาก NHA17
1.เป็นการกลับมาจัดที่อิมแพ็คเมืองทองธานีอีกครั้ง ในรอบ 7 ปี ครั้งล่าสุดที่จัดที่นี่คือครั้งที่ 10 ในครั้งนั้นมีมติสำคัญ เช่น เพิ่มกิจกรรมทางกาย-พัฒนาพื้นที่เล่น-การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เรียกว่ากลับมาสู่สถานที่และบรรยากาศแบบ “ลานสมัชชา” ที่คุ้นเคยอีกครั้งหนึ่ง
2.ส่วนธีมหลักของครั้งที่ 17 นี้ว่าด้วย “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” สอดคล้องกับประธานจัดงาน ที่มาจากภาคเอกชน มุมมองการพัฒนาประเทศ ด้านเศรษฐกิจจึงทิ้งมิติสุขภาพไปไม่ได้
3.ครั้งนี้มี 2 มติ ที่เสนอให้สมาชิกได้ร่วมให้ความเห็นและประกาศเป็นวาระร่วมได้แก่ พลิกโฉมกำลังคนด้านสุขภาพแนวใหม่ และ การท่องเที่ยวแนวใหม่ เพื่อสุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน
4.การพัฒนาข้อเสนอนโยบายทั้ง 2 มติ ทำงานผ่านคณะอนุกรรมการกำกับฯ มาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดยมีการหนุน Try out มติในระดับจังหวัด เพื่อร่วมพัฒนาข้อเสนอคู่ขนาน ได้แก่ สงขลา : พลิกโฉมกำลังคนด้านสุขภาพ กระบี่ : การท่องเที่ยวแนวใหม่ และมีการรับฟังความเห็นที่ครบถ้วนก่อนทำเอกสารนำเสนอวันจัดประชุม
5.ในวันงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ปกติต้องมีการพิจารณา ถกแถลงและให้ความเห็น จึงเปลี่ยนมาเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนหรือการเห็นด้วย การชื่นชม ต่อมติดังกล่าวแทน การให้ความเห็นจึงอาจเรียกว่าเป็นการ “กล่าวถ้อยแถลง”
6.ในพิธีการห้องประชุมใหญ่ กระชับและลดขั้นตอนเปิดไปเยอะมากๆ แต่ยังเห็นความร่วมมือทั้งองค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานหลักๆ มาร่วมในการสร้างเจตนารมณ์สำคัญ ที่เน้น “Social Participation ในการสร้างสุขสุขภาวะ” แม้เป็นเรื่องเก่าแก่ที่ทำมา แต่มันใหม่มากกับต่างชาติเขา
7.มี “ดาวเด่นหลายดวง” เช่น เวทีคู่ขนานของ IHPP เรื่องการพัฒนาชุมชนและการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิสานพลังแผ่นดิน หัวข้อสานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน (Smart Aging Society : Together, we can)
8.มีลานสมัชชา ที่เรียกว่า “Policy market” ที่หลายคนได้ฟังแล้วน่าจะอยากมาแจมมากที่สุด แต่กลับพบว่าความหลากหลายแบบแลกเปลี่ยนทั้งความรู้ สีสัน บรรยากาศแบบผู้คนล้นหลามมานั่งพัก เล่าเรื่องราวหรือชงข้อเสนอน้อยไป ขาดสีสันความนัวแบบตลาดไปเยอะเลย เวทีกลางควรมีจุดเดียว ใช้ทั้งวงเสวนา และจัด café หรือ creative space
9.มีชื่อบูธย่อยๆ ที่ชื่อเก๋ๆ เช่น Policy café / Creative Space แต่คนก็แทบจะมาร่วมน้อยมากๆ ถ้าไม่มีการจัดตั้งหรือเตรียมกันมาก่อน เรียกว่าเหงากันเลยทีเดียว เข้าใจว่าพื้นที่จัดวางตำแหน่งมันอยู่ลึกลับและหาทางมาร่วมกันไม่เจอ
10.มีพื้นที่จัดนิทรรศการด้านหน้าห้องประชุมใหญ่ ที่เรียกว่าเสียดายของมากๆ เพราะแห้งแล้งไร้ชีวิตไปเยอะ ขาดนิทรรศการแบบ Soft power มีแต่เพียงโครงสร้างแข็งและทางการ ถ้ายกเอา Policy market มาไว้ด้านหน้าอาจช่วยให้พื้นที่แห่งการพูดคุยมันสนุกสนานเต็มไปด้วยเรื่องราวมากกว่านี้
11.ขาดพลังของการแสดงออกที่เป็นเสียงเพลง ดนตรี ศิลปะ มุมนั่งพักพูดคุย ขาดการนำเสนองานดีๆ ของภาคเอกชน ที่มีการคิดค้นนวัตกรรมและทำงานพัฒนาในมุม “เศรษฐกิจสุขภาวะ”
12.ขาดกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งกลุ่มคนเข้าร่วมที่เป็นคนรุ่นใหม่ พี่น้องชุมชนคนเปราะบาง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่มีพื้นที่ในการเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ เราจึงไม่เห็นคนใส่เสื้อผ้าชนเผ่าหรือแต่งกายตามภูมิภาค ไม่เห็นนักเรียนนักศึกษา ที่มาแสวงหาความรู้ในงาน เดินชมบูธ หรือสอบถาม
13.ภัยพิบัติ เป็นอีกหัวข้อที่มีการพูดไว้ในหลายวงย่อย ทั้งเวทีเสวนาโยบาย การถอดรหัสภัยพิบัติ หรือถอดบทเรียน ชวนวิเคราะห์การลุกขึ้นมาร่วมกันรับมือกับภัยในอนาคตที่ประเทศไทยและประชาคมโลกจะต้องเจอ
14.ในวันที่ 2 ของงาน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้คุยกับพี่น้องเครือข่ายหลายคน ยังบอกว่าถ้าจะลงไปวันนี้ต้องพักที่หาดใหญ่ก่อนเพราะไม่สามารถขับรถต่อไปได้ ใจคอหลายคนที่มาร่วมงานก็ไม่ค่อยดีเพราะบ้างมีทิ้งบ้านมาประชุม ขาดคนดูแลผู้ที่อยู่ที่บ้าน จึงเริ่มเห็นความห่วงกังวลในสีหน้าและแววตา
15.ก็ยังต้องลงทะเบียน การเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยังมีการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน กลุ่มองค์กรและต้องให้รายละเอียดข้อมูลมากมายดังเดิม ไม่ว่าจะทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ ทำอย่างไรงานจึงจะเป็นพื้นที่กลาง ที่เปิดกว้างให้ทุกภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมได้แบบง่าย งามและไม่ยุ่งยาก หรือลงแบบไม่ยุ่งยากซับซ้อน
16.โดยรวมบรรยากาศยังเหมือนเวทีรวมญาติ หลายคนถ่ายรูปพูดคุย ให้ของที่เตรียมมาจากบ้านกันสนุกสนาน ถ้ามองในมุมนี้ก็ถือเป็นอีกภาพแห่งความงดงาม โดยเฉพาะในโซนอาหารที่เป็นที่นั่งพบปะพูดคุยของเครือข่ายได้ดีทีเดียว
17.การสื่อสาร ถ้าทำเป็นระบบถ่ายทอดสดแทนระบบ zoom ที่มีช่องทางในการสื่อสารผ่านช่องทางเดียว ไม่แย่งลูกค้ากัน จะทำให้ผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์เห็นภาพรวมทั้งงานได้มากกว่าฉายภาพซ้ำในบรรยากาศห้องใหญ่อย่างเดียว
บัณฑิต มั่นคง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
Relate topics
- พมจ.กระบี่ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการปี 68 มุ่งสู่กระบี่อยู่เย็นเป็นสุข
- สสว.11 ชวนใช้ข้อมูลครัวเรือน(กลุ่มเสี่ยง)จากสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างพุ่งเป้า
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ชู “ข้อเสนอ 3 ข้อ” ปกป้องเด็กเยาวชนจาก “ภัยบุหรี่ไฟฟ้า” ในเวทีระดมความเห็นภาคีปฏิบัติการพื้นที่ “ภาคใต้”
- "ประชุม กขป.เขต 12 ทีมเล็ก"
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบและกลไกการจัดการพื้นที่ตำบลขอนหาด (ภาคีเครือข่าย สสส.)
- "พัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยงและกองเลขาแผนงานร่วมทุนฯสงขลา"
- ประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2567 “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P): กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
- สสจ.สงขลาและเครือข่ายร่วมวางแผนคัดกรองกลุ่มเสี่ยงยาเสพติดและสุขภาพจิต อายุ 12-59 ปี
- "พัฒนามาตรฐานกลางการปรับสภาพบ้านคนพิการสิทธิบัตรทองจังหวัดสงขลา"
- ภารกิจภาคีเครือข่ายโครงการการพัฒนาระบบการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติด้วยข้อมูล ความรู้ แบบสหวิทยาการในพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซากจังหวัดปัตตานี