เกษตรสุขภาพเขต ๑๒

photo  , 960x540 pixel , 110,275 bytes.

"เกษตรสุขภาพ เขต ๑๒"

เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง

งานด้านเกษตรอินทรีย์ของภาคใต้ ยังอยู่ในช่วงปรับฐานใหม่ก็ว่าได้ ด้วยเหตุเพลี่ยงพล้ำให้กับสวนยางและวิถีเกษตรสมัยใหม่เนิ่นนาน ทำให้ละเลยภูมิปัญญาเดิม ประกอบกับฐานทรัพยากรเราหลากหลาย มีสภาพภูมิประเทศและธรรมชาติที่แตกต่างจากภาคอื่น ทำให้การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นไปได้ช้า

เกษตรกรจำนวนมากผูกพันอยู่กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ตีความแคบๆ บวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องที่ดินที่กระจุกอยู่ในมือเจ้าสัวไม่กี่คนทำให้เกิดผลสำเร็จได้ในบางคน ส่วนมากเป็นเกษตรกร "หัวขบถ" หรือไม่ก็เป็นอดีตข้าราชการที่พอจะมีเงิน มีที่ทาง กลุ่มปัจเจกชนเหล่านี้ต่อสู้ฝ่าพันการผลิตด้วยตัวเองทั้งสิ้น ทำให้เกิดความรู้เฉพาะที่ เฉพาะจุด กระจัดกระจายไปทั่ว ไม่สามารถรวมตัวได้อย่างมีพลัง มิหนำซ้ำไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ แต่ก็มีข้อดีในแง่เป็นการผลิตเพื่อแบ่งปันในชุมชน หากขยายตัวได้ก็จะทำให้เกิดตลาดในชุมชน ทำให้ชุมชนได้บริโภคอาหารสุขภาพได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกัน เราเริ่มมีเกษตรกรรุ่นใหม่ กลับมานำความรู้ด้านการตลาดมาใช้กับโอกาสทางเทคโนโลยีที่เปิดกว้างให้ทุกชนชั้น ทำให้เกิดการยกระดับการผลิตขนานใหญ่ แต่ด้วยวิถีนโยบายและวัฒนธรรมองค์กรของภาครัฐที่แยกส่วนส่งเสริมทำให้เกิดลักษณะต่างคนต่างทำเช่นเดิม มีองค์กรใหม่ก็สร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ ต่างคนต่างก็มีกลุ่มก้อนของตัวเอง ในฟากชุมชนเอง การท่องเที่ยวชุมชนทำให้เกิดตลาดในชุมชน ควบคู่กับตลาดในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ตลาดเขียวในเมือง ปรากฏไปทั่วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งมีที่พึ่ง แต่ก็ยังไม่อาจตอบโจทย์การส่งผลผลิตในเชิงพาณิชย์ได้

เครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา ต่อยอดจากประสบการณ์ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่ปัจจุบันมาใช้คำว่าเกษตรกรรรมยั่งยืน กลุ่มเหล่านี้หากไม่เป็น NGOz ก็ได้รับอิทธิพลความคิด เป้าหมายพวกเขาอยู่ที่การผลักดันนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ละเลยรากฐานการสะสมความรู้การผลิตในวิถีแบบใหม่ มารวมกับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่บางคนยืนหยัดกับการยึดพื้นที่ผลิตและส่งผลผลิตจำหน่าย เป็นเกษตรกรเต็มตัว มีความคิดเป็นผู้ประกอบการ แต่ก็เป็นรายย่อยต้องการเครือข่ายเพิ่มเติม บางคนก็เป็นคนเมืองที่พอจะมีที่ทางและสนใจในวิถีเกษตรกร หันมาลงมือทำการผลิต ทำไปเรียนรู้ไป บางคนมาจากสวนผักคนเมืองหาดใหญ่เติบโตเป็นเกษตรกรจากปัญหาสุขภาพของตัวเองและครอบครัวทำให้จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ผลิตด้วยตัวเอง มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ทำให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคและสมาชิกของตน ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรก็สามารถปลูกผักได้ ความเชื่อเช่นนี้ทำให้งานเกษตรและอาหารสุขภาพเป็นประเด็นร่วม เมื่อมีการตลาดมาหนุนในบางจังหวะเวลาทำให้สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ มาจนถึงจุดหนึ่งก็สามารถยกระดับมาเป็นเครือข่ายระดับจังหวัด

เมื่อต่างเปิดพื้นที่ทางความคิด เปิดโอกาสให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายข้ามพื้นที่ ข้ามองค์กร ข้ามสายการผลิต เชื่อมโยงความรู้ใหม่ๆเข้าหากัน เท่ากับเป็นการเติมเต็มกันและกัน มาร่วมกันลดทอนข้อจำกัดที่มี จึงเกิดผลที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

แผนภููมิที่เห็นก็คืออีกรูปแบบการขับเคลื่อนในพื้นที่ ซึ่งว่าไปแล้วก็มีอีกหลายเครือข่ายกำลังลงมือทำเช่นกัน ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องดี คิดแล้วทำ ลองผิดลองถูก ไม่จำเป็นจะต้องคิดเหมือนกัน ช่วยกันเติมช่องว่างที่มีอย่างมหาศาล ถึงที่สุดแล้ว รูปธรรมของความสำเร็จจะเป็นคำตอบ ทำไปแล้วมาเรียนรู้ สรุปบทเรียนเพื่อก้าวต่อไปด้วยกันก็ยังได้

ปักธงไกลๆไว้ที่ธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีฐานการทำงานแบบเครือข่ายรองรับ บนฐานกติกาหรือธรรมนูญของตน มีการตลาดนำการผลิต มีหลายระดับให้เลือก ประหนึ่งขั้นบันไดของงาน ทำงานบน Platform เดียวกันที่มีทั้งแอพพลิเคชั่น เวทีกลาง กติกากลาง ข้อมูลกลางที่จะใช้ร่วมกัน

Relate topics