ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ จุดเปลี่ยนด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญของประเทศไทย เพื่อประชาชนสุขภาพดี
“ ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ จุดเปลี่ยนด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญของประเทศไทย เพื่อประชาชนสุขภาพดี”
เขียนโดย นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ
วันนี้ได้ร่วมเดินหน้า บริหารจัดการและพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ “คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ พรบ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562”
-ระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิหรือ primary care เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบบริการสุขภาพเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
-ด้วยหลักการ การใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based) การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic care) การดูแลที่ต่อเนื่องและผสมผสาน (Integrated and Continuity of Care) รวมทั้งการทำงานเชิงรุก
-ระบบที่จัดบริการสุขภาพในระดับที่เป็นด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับประชาชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งทางด้านการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ในลักษณะผสมผสานการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพได้อย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิดแบบองค์รวมให้แก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยมีระบบการส่งต่อและเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งประสานกับองค์กรชุมชนในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาความรู้ของประชาชนในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตน และสามารถดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้อย่างสมดุล”
-ลักษณะเด่นของการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่
1)เน้นการดูแลแบบองค์รวม คือ ใส่ใจกับชีวิตและความสุขความทุกข์ของคน มากกว่าการดูแลแบบแยกปัญหาสุขภาพออกจากชีวิตของคน หรือมองปัญหาเฉพาะที่อวัยวะเป็นส่วนๆ
2)เน้นการทำงานเชิงรุก คือ มุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มมากกว่ารอให้เกิดโรค ความเจ็บป่วยหรือความทุกข์ลุกลามแล้วค่อยหาทางแก้ไข
3)เน้นการผสมผสานงานส่งเสริม/ป้องกัน/รักษา/ฟื้นฟู ควบคู่กระบวนการทำงานร่วมกับองค์กรและกลไกต่างๆ ในพื้นที่
4)เน้นการดูแลต่อเนื่องตลอดชีวิต มากกว่าเน้นการรักษาเป็นครั้งๆ โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ด้านสุขภาพตลอดอายุขัยของบุคคลที่ส่งผลต่อชีวิตและการดูแลรักษาความเจ็บป่วยของเขา
5)ทำงานเชื่อมโยงหลายระดับ ทั้งระดับบุคคล/ครอบครัว/ชุมชน เพราะปัญหาแต่ละระดับส่งผลถึงกัน การแก้ปัญหาจึงต้องดำเนินควบคู่กันไปทุกระดับ
6)ทำงานเชื่อมโยงหลายมิติทั้งด้านกาย/ใจ/สังคม/จิตวิญญาณ เพื่อให้ทุกมิติเกื้อกูลส่งเสริมกันจนเกิดสุขภาวะได้อย่างมีดุลยภาพ
7)ทำงานเชื่อมโยงกับบริการทางการแพทย์หลายระดับ โดยช่วยเอื้ออำนวยและประสานให้ผู้ป่วยใช้บริการทางการแพทย์ระดับอื่นๆ ได้อย่างสะดวกราบรื่น
8)ใช้ระบบการแพทย์ที่หลากหลายในชุมชน ทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และวิถีสุขภาพทางเลือกอื่นๆ มาผสมผสานเพื่อให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสุขภาพ
9)เน้นการเสริมสร้างระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้
การดูแลสุขภาพปฐมภูมินั้นเป็นศิลปะชั้นสูงของการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะต้องผสมผสานทั้งศาสตร์ทางการแพทย์เข้ากับความรู้ทางสังคมและศิลปะการเข้าใจมนุษย์ เป็นงานที่ต้องใส่ใจสุขภาพในหลายมิติ ทั้งทางกาย ใจ สังคม และมิติทางจิตวิญญาณ
-การดูแลสุขภาพปฐมภูมิมีศักยภาพและเอกลักษณ์ที่เป็นจุดแข็งของตนเอง เพราะแม้จะไม่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงเทียบเท่ากับโรงพยาบาลใหญ่ๆ และไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่สิ่งที่การดูแลสุขภาพปฐมภูมิมีมากกว่าการบริการระดับอื่น ก็คือ
“บริการที่เป็นมิตร ใกล้ชิดและเข้าใจชุมชน สามารถทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชน เพื่อสร้างสุขภาพและแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยที่ซับซ้อนได้ ด้วยความรู้ทางการแพทย์ที่ผสมผสานกับความเข้าใจทางสังคมและความใส่ใจในความเป็นมนุษย์ “
เรียนเชิญทุกท่าน มาร่วมเดินหน้า บริหารจัดการและพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชน ครับ
Relate topics
- กขป.เขต ๑๒ จัดประชุมสร้างความร่วมมือการดำเนินงานปี ๒๕๖๘
- พมจ.กระบี่ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการปี 68 มุ่งสู่กระบี่อยู่เย็นเป็นสุข
- สสว.11 ชวนใช้ข้อมูลครัวเรือน(กลุ่มเสี่ยง)จากสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างพุ่งเป้า
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ชู “ข้อเสนอ 3 ข้อ” ปกป้องเด็กเยาวชนจาก “ภัยบุหรี่ไฟฟ้า” ในเวทีระดมความเห็นภาคีปฏิบัติการพื้นที่ “ภาคใต้”
- 17 ประเด็นที่เห็นจาก NHA17
- "ประชุม กขป.เขต 12 ทีมเล็ก"
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบและกลไกการจัดการพื้นที่ตำบลขอนหาด (ภาคีเครือข่าย สสส.)
- "พัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยงและกองเลขาแผนงานร่วมทุนฯสงขลา"
- ประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2567 “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P): กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
- สสจ.สงขลาและเครือข่ายร่วมวางแผนคัดกรองกลุ่มเสี่ยงยาเสพติดและสุขภาพจิต อายุ 12-59 ปี