วพส. ชวน สปสช. และ สวทช. วางแผนพัฒนา Data warehouse ด้านสุขภาพคนไทย

  • photo  , 960x720 pixel , 84,864 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 83,779 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 72,660 bytes.

"ชวน สปสช. และ สวทช. วางแผนพัฒนา Data warehouse ด้านสุขภาพคนไทย"

(นาน ๆ ที จะได้เล่าเรื่องในส่วนของงานประจำบ้าง ปกติที่เคยโพสมักจะเป็นงานพาร์ทไทม์ หรืองานนอกเวลา เพราะหลายคนนึกภาพไม่ออกว่าเราทำงานอะไร)


เมื่อวานนี้ (31 มกราคม 2563)  ในบทบาทของสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ม.อ. นำโดย ศ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ได้ชักชวนสองหน่วยงานสำคัญคือ สปสช.​ และ สวทช. มาหารือร่วมกันในเรื่องการพัฒนาคลังข้อมูลด้านสุขภาพที่ สปสช. ถืออยู่ เรียกกันเล่น ๆ ว่า Data warehouse


สปสช. เป็นหน่วยงานที่อุดหนุนงบประมาณดูแลสุขภาพคนไทยส่วนมากมาเกือบ 20 ปี จึงมีข้อมูลด้านสุขภาพประชาชนอยู่มากราว 50 ล้านคน ข้อมูลเหล่านี้หากนำมาวิเคราะห์ วิจัย ก็จะสามารถบอกอนาคตสุขภาพคนไทย ชี้นำได้ว่าประเทศควรลงทุนไปกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องใดบ้าง ซึ่ง นพ.​จเด็จ รองเลขาธิการ สปสช. บอกว่า ปกติก็มีนักวิจัยกว่า 100 ราย เข้ามาขอข้อมูลดิบจาก สปสช. อยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ถูกจัดการให้เป็นระบบมากนัก ซึ่ง สปสช.​เองก็มีเป้าหมายอยากบริหารจัดการข้อมูลนี้ให้เป็นระบบ เอื้อต่อการวิจัย และตรงตามหลักจริยธรรมการวิจัย

จะให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น จะต้องจัดให้มีทรัพยากรเพียงพอ ทั้งด้าน data storage กำลังคน ออกแบบระบบ การบริหารการวิจัย ซึ่งเกินกำลังและความเชี่ยวชาญของ สปสช.


สวทช. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องไอที แถมมี data scientist น่าจะมากที่สุดในประเทศจึงจะเป็นพระเอกที่จะมาตอบโจทย์นี้ได้ โดย ศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า ในเรื่อง data storage นั้นเป็น mandate หรือวาระสำคัญที่ สวทช. อยู่แล้ว พร้อมสนับสนุน แต่ก็ต้องคุยในเรื่องการออกแบบฐานข้อมูล การเข้าใช้ข้อมูล การบริหารจัดการอื่น ๆ อีกมากมาย


เพื่อทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ปรับจูนร่วมกัน ก้าวข้ามข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงาน จำเป็นต้องอาศัย "พ่อสื่อ" คอยเชื่อมโยงให้เกิดวงพูดคุย ซึ่งเป็นบทบาทที่ วพส. ทำได้

โดยในเบื้องต้น ขอให้แต่ละฝั่งฟอร์มทีมเล็ก ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในข้อมูลและความต้องการของตนเอง นัดพูดคุยกันเพื่อวางแผนเป้าหมาย บรรลุข้อจำกัดเชิงนโยบาย ก่อนที่จะร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาคลังข้อมูลนี้ร่วมกัน


หากแนวคิดการพัฒนา Data warehouse ด้านสุขภาพคนไทย เกิดขึ้นได้ จะเป็นโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการ นักสถิติของไทยได้เข้ามาดึงข้อมูลแบบ unidentified หรือไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลส่วนตัวของประชาชน เพื่อนำไปวิเคราะห์ แล้วเกิดเป็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาสุขภาพประชาชนได้ แต่ก็ต้องคำนึงในเรื่องจริยธรรมการวิจัย ความน่าเชื่อถือ และการรายงานผลหลังจากนำข้อมูลไปใช้แล้วด้วย


เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นงานที่ต้องผลักดันกันไปอีกเป็นปี แต่ถ้าเกิดขึ้นก็น่าดีใจที่เราได้เป็นส่วนสำคัญเล็ก ๆ ๆ เบื้องหลังนี้

นิพนธ์ รัตนาคม รายงาน

Relate topics