มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ๔ ภาค ON Zoom เสวนา”ผักพื้นบ้านในสวนยางยั่งยืน ฟื้นคลังยาและอาหารให้ชุมชน”

  • photo  , 940x788 pixel , 559,111 bytes.
  • photo  , 940x788 pixel , 205,898 bytes.
  • photo  , 696x960 pixel , 203,899 bytes.

มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ๔ ภาค

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓

เสวนา”ผักพื้นบ้านในสวนยางยั่งยืน ฟื้นคลังยาและอาหารให้ชุมชน” ผ่านโปรแกรม ZOOM

โดยนายสินธพ อินทรัตน์  นายกอบต.ท่าข้าม  กล่าวแนะนำสถานที่และชี้แจงวัตถุประสงค์

อาชีพหลักของชุมชนตำบลท่าข้าม คือการทำสวนยางพารา โดยการขายน้ำยางเป็นหลัก และได้เพิ่มกิจกรรมพืชร่วมยาง เช่น ปลูกไม้เศรษฐกิจผสมผสาน  ปลูกพืชผักพื้นบ้าน การเลี้ยงผึ้งโพรงไทยหรือผึ้งญวน  ลดการใช้สารเคมี เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว

ผลจากการปลูกพืชร่วมยาง คือ น้ำยางจะมีความเข้มข้นมากกว่าการทำสวนยางเชิงเดี่ยว รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่ของพืช

ในพื้นที่ตำบลท่าข้าม มีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเฉลิมพระเกียรติฯ โดยการส่งเสริมของ อบต.ท่าข้าม และมีการจัดทำหลักสูตรการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในเรื่องของการเลี้ยงผึ้ง มีกิจกรรมเพาะเห็ดแครงเป็นอาหาร และกิจกรรมการจัดการน้ำหรือฝายมีชีวิต ซึ่งทั้งหมดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่ทำร่วมกับชุมชน

กิจกรรมเสวนาครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกพืชร่วมยางในชุมชนแต่ละชุมชน ซึ่งจะได้มีการแลกเปลี่ยนและนำประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ไปปรับใช้กันต่อไป

หลังจากนั้น นายเดชา  ศิริภัทร  ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ  ได้กล่าวถึงพัฒาการและความสำคัญของพันธุกรรมพื้นบ้าน และแนวทางและทางออกของเกษตรกร

๑)การปลูกแบบเกษตรกรรมยั่งยืน  การพึ่งพาตนเอง โดยการปลูกเพื่อบริโภคเอง ใช้พันธุกรรมของตัวเอง  ควบคุมปัจจัยการผลิตได้ และที่สำคัญ ต้องควบคุมพันธุกรรมให้ได้ก่อน เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

๒)ต้องศึกษาปัญหา และย้อนกลับไปที่ต้นเหตุ เพื่อค้นหาสิ่งที่จะปรับ ปรับปัจจุบัน เพื่อแก้ไขอดีต

๓)หากเราจะนำพันธุ์พืชใหม่ๆ มาใช้ เราต้องรู้เท่าทัน ว่าเราคือใคร เราจะไปไหน ที่ผ่านมาเรามีอะไรผิดพลาดไปบ้าง และเราจะพัฒนาของใหม่มาต่อยอดได้อย่างไร  แล้วอนาคตจะดีกว่าที่เคยผ่านมา

๔)การเกษตรเป็นความจำเป็นของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่อยู่ยารักษาโรค การเกษตรเป็นการพึ่งตนเองได้  ในภาวะโควิด ๑๙ สิ่งที่เราต้องใช้คือ ปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น หากไม่เกิดวิกฤติบางทีเราไม่รู้ว่าชีวิตอยู่ได้อย่างไร เพราะบางทีเราไม่ค่อยสนใจชีวิต แต่สนใจอย่างอื่นมากกว่า ซึ่งเงินไม่สามารถตอบปัญหาสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตได้ทั้งหมด

๕)เกษตรอินทรีย์เป็นการทำเกษตรเพื่อชีวิตตัวเอง เมื่อถึงเวลาคนรวยก็เลือกเกษตรอินทรีย์เพื่อกินก่อน ไม่ได้คิดเพื่อขาย เกษตรกรเองต่างหากที่ผลิตอาหารแย่ๆ ตัวเองไม่กล้ากิน และคิดว่าจะขายได้แพงๆ

๖)การใช้พันธุกรรมต้องเลือก พันธุกรรมที่ดี ซึ่งมีจากธรรมชาติ เกษตรกรคัดเลือกและเก็บใช้เอง

๗)ทำอย่างไรให้เกษตรกรรู้ว่าคุณค่าของเกษตรกรรมยั่งยืน มีมากกว่าด้านเศรษฐกิจ

๘)พันธุกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ต้องเป็นพันธุกรรมที่เกษตรกรหรือผู้บริโภคพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง

๙)ต้องทำพันธุกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองเพื่อบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงแบ่งปันให้ผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งจะอยู่ได้ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ซึ่งดีต่อทุกฝ่าย

๑๐)เกษตรกรต้องพัฒนาระบบเกษตร พันธุกรรมของตัวเอง ทำตลาดที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม

๑๑)พันธุกรรรมยั่งยืนอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเหมาะสม และมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเกษตรกรแต่ละที่ต้องพัฒนาพันธุกรรมนั้น ๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ วัฒนธรรมของตัวเอง

๑๒)ตราบใดที่เกษตรกรรมยังไม่ยั่งยืน เกษตรกรก็อยู่ไม่รอด ซึ่งระบบเกษตรกรรมต้องสอดคล้องในแต่ละพื้นที่ภูมินิเวศน์ เกษตรกรต้องพัฒนาพันธุกรรมนั้น ๆ ขึ้นมาเอง หากพันธุกรรมไม่ยั่งยืน เกษตรกรรมก็จะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ

และมีการเสวนา ผักพื้นบ้านในสวนยางยั่งยืน ฟื้นคลังยาและอาหารให้ชุมชน

วิทยากรโดย

๑.นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

๒.นายอภินันต์ หมัดหลี ประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมธาตุ ๔

๓.นายสมนึก หนูเงิน ประธานเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมีและโครงการสวนยางยั่งยืน

๔.นายอาทร สุขสว่างผล ผู้ประสานงานโครงการสวนยางยั่งยืน

๕.นายบุญมี  แป้นจันทร์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย หาดใหญ่

ดำเนินรายการโดย นายกำราบ พานทอง ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้

และเปิดแลกเปลี่ยน/แสดงความคิดเห็น สรุปได้ดังนี้

๑)การสงเคราะห์การทำสวนยางส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของกองทุนฯที่ให้มีการโค่นยางออกหมด แต่ปัจจุบันรัฐกลับหันมาส่งเสริมเกษตรผสมผสานกันมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรหลายคนอยากทำ แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง อยากให้มีการบังคับว่าหากมีการขอทุนปลูกยาง ต้องปลูกร่วมพืชร่วมยางหากไม่ปลูกพืชร่วมยาง การยางจะไม่ให้สงเคราะห์กองทุน โดยเสนอรูปแบบหลากหลายที่นอกเหนือจากยาง ต้องมีแรงจูงใจ ซึ่งต้องมีกฎเกณฑ์ที่เป็นกติการ่วมกัน

๒)สภาพแวดล้อมแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ระบบดิน ระบบน้ำ ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชร่วมยาง ไม่เหมาะกับการปลูกผักเหมียง มีปัญหาเรื่องการตลาด ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ไม่สามารถปลูกพืชร่วมยางได้

๓)ทางภาคอีสาน ตอนนี้มีปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ และแห้งแล้ง เกษตรกรเริ่มกลับมาปลูกข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย กันอย่างเดิม หลายคนถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ เอายางออก และปลูกอ้อยและมัน ที่เป็นพืชหลักของคนอีสาน ในพื้นที่ยังไม่สามารถใช้วิธีคิดเรื่องพืชร่วมยางไปส่งเสริมได้  โดยรวมยังไม่มั่นใจว่าจะสร้างรายได้อย่างยั่งยืน  พี่น้องภาคอีสานทำงานร่วมกับกยท. น้อยมาก ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกองทุนสวนยาง พี่น้องที่ปลูกยางตาสอย ตอนนี้ได้เลิกปลูกยางแล้ว  ปลูกประมาณ ๔ ปี แล้วยางไม่โต และคนที่ปลูกประมาณ ๑๐ ปีแล้ว บางแปลงไม่สามารถเปิดกรีดได้ เพราะน้ำยางไม่ออก

๔)ในเชิงนโยบายเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เริ่มเห็นความสำคัญของการสร้างความหลากหลายในพื้นที่สวนยางและเริ่มปฏิบัติการมากขึ้น  การทำงานของภาคประชาชนตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ใช้เวลานานมากกว่าจะเกิดผลให้ กยท.เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น จุดที่สำคัญคือ ความยากของสวนยางยั่งยืน เกษตรกรบางกลุ่มติดข้อจำกัดในเรื่องระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจสังคม สามารถปรับได้ยาก เกษตรกรบางกลุ่มมีข้อจำกัดด้านความพร้อมในเรื่องของพื้นที่น้ำ ดิน ตลาด ในระบบห่วงโซ่อุปาทานต้องมีการเตรียมการทางด้านการตลาด พืชร่วมยางบางชนิดตลาดรองรับแต่บางชนิดตลาดยังไม่มีกำลังซื้อ  และเกษตรกรบางกลุ่มยังไม่พร้อมไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็นสวนยางยั่งยืน ควรเน้นในเรื่องของการสร้างสวนยางยั่งยืน ในเรื่องผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น  การพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ เช่น การกรีด การใส่ปุ๋ย  การดูแลรักษา พยายามทำให้สวนยางปรับเข้าสู่มาตรฐาน โดยต้องสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ ซึ่งมีการปรับสหกรณ์ไปสู่มาตรฐาน GMP และมาตรฐานอื่น เวลามองสวนยางยั่งยืนต้องมีการขยายกรอบไปสู่ความยั่งยืนระดับโลกด้วย

๕)หากเราจะอยู่ให้มีความสุขบนโลกนี้ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม และต้องคำนึงว่าเรารังแกสิ่งแวดล้อมด้วยหรือไม่ เราจะเอาชนะสิ่งแดวล้อมไม่ได้ แต่เราปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกับเราได้อย่างไร เราต้องอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม หากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เราก็ถือโอกาสปรับเปลี่ยน จัดระบบใหม่ เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันด้านอาหาร ด้านชีวภาพ บางสิ่งเรายิ่งทำยิ่งทำลายตนเอง

๖)ในสวนยางต้องมีการสร้างความมั่นคงอย่างอื่นด้วย เช่น ผลไม้ ลองกอง การทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนวิถีและรูปแบบ โดยใช้หลักเกษตรทฤษฏีใหม่ เช่น การปลูกทุเรียนในสวนยาง ซึ่งได้ผลผลิตดี นอกจากการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พืชเศรษฐกิจอย่างอื่น สามารถปลูกร่วมกับยางพารา ไม่ว่าจะเป็นมังคุด ลองกอง การเลี้ยงผึ้ง ผลไม้ผสมผสาน ได้ผลผลิตที่ดี แต่ทั้งนี้เกษตรกรต้องกล้าเปลี่ยนที่จะทำเกษตรแบบเดิม ๆ ทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ในการวางแผนการผลิตที่หลากหลาย  มีพันธุ์พืชเป็นของตัวเอง การเพิ่มมูลค่า การเพิ่มวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการจัดการ เป็นการเสริมความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกรได้

๗)กยท.มีนโยบายในการส่งเสริมการปลูกพืช ไม่ว่าจะเป็นพืชสมุนไพร หรือไม้โตเร็วที่ไม่ต้องโค่น ให้เว้นไว้ได้หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ตอนนี้ก็เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

๘)การทำสวนยางยั่งยืนหรือพืชร่วมยาง หลายท่านอาจไม่มั่นใจในการเปลี่ยนรูปแบบ หากลงไปคลุกคลีกับพื้นที่ จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น แต่อาจเริ่มทำทีละเล็กทีละน้อย โดยการปลูกต้องไม่ตั้งความหวังไว้ยาวนาน แต่ให้ตั้งความหวังว่าปลูกวันนี้กินวันนี้ เช่น การปลูกมะนาว ๓๐ วันให้ได้กิน ปลูกทุเรียน ๖๐ วันให้ได้กิน  โดยการทาบกิ่ง หรือตอนกิ่ง แล้วนำกิ่งมาขาย จำหน่ายได้

๙)เรื่องของอาหารถือว่าเป็นปัจจัยหลักหรือปัจจัยสี่ เน้นเรื่องของอาหารและยา ทำอย่างไรให้พื้นที่ของเรามีอาหารและยา โดยทำให้เป็นพืชสมุนไพร ปรับใช้ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และปรับเปลี่ยนวิธีการทำ ซึ่งต้องไม่ใช้สารพิษหรือสารเคมี แตกต่างจากสวนผักหรือธุรกิจใหญ่ ๆ ที่ทำแล้วไม่กินเอง เราจะทำอย่างไรให้มีรายได้และมีความสุข

๑๐)การศึกษาวิจัยในพื้นที่สวนยางที่มีการปรับแนวคิดโดยการปลูกเพียง  ๔๐ ต้นต่อไร่ และมีการปลูกไม้อื่นผสมผสาน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น

๑๑)กยท.ส่งเสริมอาชีพ ใช้เป็นแบรนด์ของกยท.เอง  เช่น กาแฟ หรือผลผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของพี่น้องสวนยางยั่งยืน โดยกยท.ทำหน้าที่เปิดตลาด เปิดพื้นที่ช่องทางจัดจำหน่าย มีการเชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้า เพื่อนำผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเกษตรกรไปจำหน่าย

๑๒)สร้างเป้าหมา สวนยางยั่งยืนในช่วง ๑๐ ปี เพิ่มเป็น ๘ ล้านไร่ โดยเสนอให้รัฐบาลกลางสนับสนุนเกษตรกรที่ทำสวนยางยั่งยืนเพิ่มอีกไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อรวมกับเงินอุดหนุนของกยท.รวมเป็น ๒๖,๐๐๐ บาทต่อไร่

๑๓)ในสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ พื้นที่ ๖ ล้านไร่ ส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำสวนยางยั่งยืน  แลกกับสิทธิการใช้ประโยชน์

๑๔)กยท.สาขาหาดใหญ่ ได้มีการดำเนินการในเรื่องของตลาดบ้างบางส่วน แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก ได้ จัดให้มีมุมแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง มีช่องทางการเชื่อมโยงตลาดกับผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเปิดตลาดทุกวันจันทร์ นำผลิตจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ มาจำหน่าย

๑๕)เกษตรกรควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาด โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ หรือการอบรมการขยายสินค้าออนไลน์ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด เป็นตลาดที่เปิดกว้าง เกษตรกรต้องเรียนรู้และเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย

ปราณี วุ่นฝ้าย รายงาน

สามารถอ่านรายงานสรุปฉบับเต็มได้ที่เอกสารประกอบการเสวนา

Relate topics