มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ๔ ภาค ON Zoom เสวนา ผึ้งกับการฟื้นฟูพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน

photo  , 940x788 pixel , 293,586 bytes.

มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านออนไลน์ เสวนา  ผึ้งกับการฟื้นฟูพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน”  วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.

เชื่อมสัญญาณจากลานชุมชนบ้านหูแร่ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ในเวทีร่วมแลกเปลี่ยนโดย

๑.นายสัญญา  ชิตมณี หัวหน้าโครงการวิจัยผึ้งและชันโรง

๒.นางอุดม  พานทอง วิสาหกิจชุมชนอาเซียนอาศรมบ้านหูแร่

๓.นางโชติรส ศรีระสันต์ ผู้ประสานงานโหนดวิจัย สกว.ท้องถิ่นสงขลา

๔.นายทวี เสนแก้ว ผู้ประสานงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทยบ้านทุ่งโต๊ะหย๊ะ

๕.นายเอกรินทร์ หลินเภอ เกษตรกรตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ดำเนินการเสวนาโดย นายสนธยา แก้วขำ  ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสภาคใต้

เริ่มงานโดยนายวิชัย สาสุนีย์  นายกเทศมนตรีทุ่งตำเสา  กล่าวเปิดงานและร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการเลี้ยงผึ้ง

-ผึ้งเป็นสัตว์มีชีวิตชนิดหนึ่งที่เราไม่ต้องลงทุนในการเลี้ยงมาก เพียงแต่สนใจและดูแลในเรื่องความเป็นอยู่ รวมทั้งการฟื้นฟูป่าเขา ปลูกไม้ดอก เพื่อให้ผึ้งได้มีที่อยู่ที่กินที่ทำรัง เราต้องเตรียมหลาย ๆ อย่างในการเลี้ยงผึ้ง เทศบาลเมืองทุ่งตำเสา มีงบประมาณปี ๒๕๖๔ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ กว่าบาท เพื่อทำให้ทุ่งตำเสาเป็นพื้นที่น้ำหวาน

-สิ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากพื้นที่ใช้สารเคมี ผึ้งไม่เข้ารัง ยังหาสาเหตุไม่ได้ ทางกลุ่มได้มีการทดลองว่าเหตุผลที่ผึ้งไม่เข้ารังคืออะไร  ซึ่งเราต้องศึกษาสิ่งที่เรามองข้าม ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร

-ผึ้งเป็นสัตว์เลี้ยงตามธรรมชาติ หาอาหารไม่น้อยกว่า ๕ กิโลกรัมต่อรัง แต่เราไม่รู้ว่าพืชชนิดไหนที่ผึ้งชอบ พืชชนิดไหนที่ผึ้งไม่ชอบ แต่ส่วนใหญ่ผึ้งจะชอบดอกไม้ที่มีน้ำหวานทุกชนิด

-พื้นที่ฉลุงทำเป็นล่ำเป็นสัน เริ่มดำเนินการมาสักพักหนึ่งแล้ว มีการต่อยอดอีกมาก ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นได้มีการรับผิดชอบในพื้นที่หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๔ ที่มีการปรับปรุงฟื้นฟูการเลี้ยงผึ้งที่ดีที่สุดของตำบลทุ่งตำเสา เพื่อให้ทุ่งตำเสาเป็นพื้นที่เมืองน้ำหวาน

-ปัญหา ที่เกิดขึ้น คือ ขายผลผลิตไม่ได้ขายไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ขายไม่ได้ แต่มีการแย่งลูกค้ากันเอง คือ ตัดราคา สิ่งเหล่านี้อยากให้กลุ่มรวมตัวและขายในราคาเดียวกัน

สรุปประเด็นแลกเปลี่ยนในวงเสวนา

๑)ข้อวิตกของนักวิจัยทั่วโลก คือ หากผึ้งหายไปอาหาร ๑๐๐ กว่าชนิดทั่วโลกจะหายไป ผึ้งไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการขายน้ำผึ้ง แต่เป็นความยั่งยืนของระบบนิเวศน์และอาหารในท้องถิ่นนั้นด้วย ในต่างประเทศเลี้ยงผึ้งเพื่อการผสมเกสรของไม้ผล  การสูญหายของผึ้ง เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ ในแต่ละนิเวศน์ควรศึกษาชนิดของพืช และพืชผักในการสร้างระบบนิเวศน์ให้กับพื้นที่  หากไม่มีผึ้ง จะทำให้เกิดปัญหา เช่น พืชกว่า ๘๐ ชนิดที่ต้องอาศัยผึ้ง ซึ่งเครือข่ายพื้นที่ในภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องระบบนิเวศน์เป็นสำคัญ ต้องคิดกิจกรรมในการอนุรักษ์ เพื่อศึกษา สร้างจิตสำนึกให้เกิดความสนใจและให้ความสำคัญของผึ้ง ไม่มองว่าเป็นศรัตรูพืช พืชจะสูญหายไปจากยาฆ่าแมลง ซึ่งมีเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นประเด็นใหม่ของเครือข่าย ๔ ภาค อาจนำผึ้งแต่ละท้องถิ่นมาศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งการศึกษาพืชและนิเวศน์ในการสร้างอาหารของชุมชนร่วมกันด้วย

๒)การเชื่อมโยงเรื่องผึ้งกับประเด็นการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว และการทำงานในประเด็นสิทธิที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์

๓)กรณีของผึ้งหลวงจะมีการอพยพ เกิดจากการหาอาหาร ตรงไหนที่มีผึ้งหลวงอยู่ เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้จะมีลักษณะใหญ่  ผึ้งจะย้ายไปในแต่ละพื้นที่ตามฤดูกาล แล้วจะอพยพกลับมาที่เดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีอยู่ของพืชพันธุ์ในแต่ละพื้นที่

๔)เรารู้จักผึ้งมากน้อยแค่ไหน หากเรารู้จักผึ้งดีจะทำให้กิจกรรมดำเนินการไปได้ด้วยดี ปัญหาที่มีคือ เรื่องหนึ่งที่บ่นกันคือ ผึ้งไม่อยู่ เนื่องจากเรายังไม่รู้จักผึ้งที่ดีพอ

๕)การจับผึ้งต้องมีกติกา เพื่อให้มีผึ้งกินไปได้อย่างยาวนานและยั่งยืน

๖)การทำให้ผึ้งอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง  คือ มีอาหารให้ผึ้งอย่างเพียงพอ เราต้องสร้างพื้นที่ของเราให้มีอาหารมาก เมื่อมีอาหารมากผึ้งก็ไม่ย้ายไปไหนแล้ว ประโยชน์คือ ได้ความสวยงาม ของดอกไม้มาก ได้ความหลากหลายทางชีวภาพ พืชบางชนิดเป็นอาหาร พืชบางชนิดเป็นยา ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจธรรมชาติ

๗)คุณภาพน้ำผึ้งที่เราจับ คือ เราต้องจับน้ำผึ้งในระยะที่ได้เกรดมาตรฐาน คำนึงถึงความสะอาด และมีคุณภาพ

๘)ผึ้งในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบมีพืชที่เป็นสมุนไพร เช่น บัว เสม็ดขาว ในที่ลุ่มคุณภาพน้ำหวานจะได้มาก

๙)ไม่จำเป็นต้องหาผึ้งจากที่อื่นมาก แต่ให้มีการจับแยกนางพญาจากรังเดิมไปขยายเพิ่ม แต่ไม่ต้องรีบจับ ควรทิ้งไว้ประมาณ ๑ ปี ทำให้เราไม่ต้องไปหาผึ้งหรือขยายรังเพิ่ม

๑๐)การเลี้ยงผึ้งต้องมีการเปลี่ยนนางพญาด้วย เพื่อให้พันธุ์ผึ้งมีความเข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น เป็นลักษณะการคัดเลือกพันธุกรรมผึ้งไปในตัว

สรุปแนวทางการทำงาน

๑)การขยายพื้นที่เลี้ยงผึ้งให้เพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่ทุ่งตำเสา จะขยายไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ให้เพิ่มขึ้นประมาณ จำนวน ๕๐๐ รัง

๒)ส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ผึ้งกินได้และคนกินได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบอาหารและระบบนิเวศน์

๓)จัดเป็นการท่องเที่ยวให้คนมาจับผึ้งหรือเก็บน้ำผึ้งด้วยตัวเอง สร้างจุดเด่น เช่น กรณีของผึ้งโพรงที่ปากแจ่ม จังหวัดตรัง รวมทั้งการศึกษาภูมิปัญญาจากผึ้ง

๔)มีแปลงขยายพันธุ์พืชที่เหมาะสมที่ผึ้งชอบ เพิ่มพื้นที่อาหาร พืชสมุนไพร ในพื้นที่สวนยาง

๕)การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างแรงจูงให้กับเด็กเยาวชน เป็นการสานต่อแนวทางการทำเกษตรไปยังคนรุ่นถัดไป

๗)การปลูกต้นตำเสา เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ และทำให้มีจุดขายคือ น้ำผึ้งทุ่งตำเสาจากดอกตำเสา

ปราณี วุ่นฝ้าย รายงาน

สามารถอ่านรายงานการเสวนาฉบับเต็มได้ที่เอกสารประกอบ

Relate topics