ผลวิจัยชี้ 3 ปัจจัยช่วยเลิกบุหรี่สำเร็จ ‘เลี่ยงสังสรรค์-ห่างกลุ่มนักสูบ-รอคิวรักษาไม่นาน’

photo  , 960x960 pixel , 81,988 bytes.

ผลวิจัยชี้ 3 ปัจจัยช่วยเลิกบุหรี่สำเร็จ ‘เลี่ยงสังสรรค์-ห่างกลุ่มนักสูบ-รอคิวรักษาไม่นาน’


ปี 2558-2560 อัตราการสูบบุหรี่ของประชากร 15 ปีขึ้นไปในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายและผลักดันนโยบายต่างๆ แต่ความร่วมมือของผู้สูบบุหรี่และประชาชนกลุ่มเสี่ยงยังไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ทีมสุขภาพ (คลินิกเลิกบุหรี่) จึงมีส่วนช่วยสำคัญในการให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้สูบบุหรี่ ลดการเกิดโรคเรื้อรัง และป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้ามาเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น

อัตราการรับบริการที่คลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลรามัน มีมากขึ้นตามเป้าหมาย เพราะได้พัฒนารูปแบบการให้บริการของคลินิกทั้งเชิงรับในสถานพยาบาลครอบคลุมผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยใน และเชิงรุกในรูปแบบโมบายคลินิกและคลินิกเลิกบุหรี่ในชุมชน อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 20-38 เท่านั้นที่เลิกบุหรี่สำเร็จ จำเป็นต้องหาปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น

นางพวงประภา เพ็ชรมี และคณะ ทำวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ของผู้มารับบริการคลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลรามัน” โดยสัมภาษณ์ผู้รับบริการที่เข้ารับบริการเลิกบุหรี่ครบ 6 เดือนขึ้นไป ใน 7 ประเด็นได้แก่ ปัจจัยด้านกายภาพ ปัจจัยด้านพฤติกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านจิตใจ ปัจจัยด้านการรู้คิด ปัจจัยด้านอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ และปัจจัยด้านบริบททางสังคม แล้ววิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ระหว่างผู้เลิกบุหรี่สำเร็จและไม่สำเร็จ

ผลการศึกษา พบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเลิกบุหรี่สำเร็จ ดังนี้

  1. ปัจจัยทางด้านพฤติกรรม พบว่า ผู้รับบริการที่ให้ความสำคัญกับการเลิกบุหรี่ในระดับมากจะมีโอกาสเลิกบุหรี่ได้สำเร็จที่มากกว่า

  2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า การพบและสังสรรค์กับเพื่อนที่สูบบุหรี่บ่อยๆ ทำให้เลิกบุหรี่สำเร็จได้ยากกว่า นอกจากนี้ การอาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีกฎกติกาห้ามสูบบุหรี่ หรือสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ตามกฎหมาย จะช่วยให้มีโอกาสเลิกบุหรี่ได้สำเร็จมากกว่า

  3. ปัจจัยด้านอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ พบว่า ความสะดวกต่อการเข้ารับบริการ จำนวนผู้ให้บริการที่เพียงพอ ระยะเวลารอคอยเข้ารับบริการที่เหมาะสม และระดับความพึงพอใจที่สูง มีผลต่อการช่วยเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

  4. ปัจจัยด้านบริบททางสังคม พบว่า ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 5,001–10,000 บาท มีโอกาสเลิกบุหรี่ได้มากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท และการอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการใช้กฎเกณฑ์หรือกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ต่างๆ มีส่วนช่วยในการเลิกสูบบุหรี่สำเร็จ


    จากผลการศึกษาจึงควรมีการทบทวนแนวทางการช่วยเหลือผู้เลิกบุหรี่ และปรับรูปแบบกิจกรรมโดยนำปัจจัยดังกล่าวมาประยุกต์ อาทิ กิจกรรมบ้าน สถานที่ทำงาน หรือชุมชนปลอดบุหรี่ การพัฒนาคุณภาพบริการคลินิกเลิกบุหรี่ให้ได้มาตรฐาน เข้าถึงง่าย และการจูงใจด้วยเรื่องความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจหากสามารถเลิกบุหรี่ได้

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ม.อ.

Relate topics