บทเรียน พชอ. กลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ
ชวนอ่านเรื่องราวของ พชอ.ผ่านมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ลงพื้นที่จริง พบเจอกับทีม พชอ.
ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบ พชอ.ในอนาคต
หลักการและแนวคิด ( Principle&Concept )
1.งานพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องที่มีความกว้างขวางครอบคลุมทุกมิติของชีวิต จึงต้องอาศัยแนวคิดที่เปิดกว้าง สร้างสรรค์ แบบที่เรียกว่า “Growth mindset” หรือ ทัศนคติใหม่ (New attitude) แทน Fix mindset และต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง (Right understanding) เพื่อการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ควบคู่กัน
2.พชอ.คือเครื่องมือบูรณาการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางประชารัฐ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ปิดจุดอ่อนการทำงานแบบแยกส่วนของหน่วยงานภาครัฐ เปิดโอกาสในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน อย่างเสมอภาคและเคียงบ่าเคียงไหล่ ตามแนวทางการอภิบาลแบบหุ้นส่วน” ( Governance by Partnerships )
3.พชอ. เป็นรูปแบบการบริหารราชการแนวใหม่ ที่ผสมผสานกันไปทั้งความสัมพันธ์แนวราบแบบเครือข่าย เพื่อการสะท้อนเสียงของประชาชนจากล่างขึ้นบน (Bottom up) และความสัมพันธ์ตามแนวดิ่งแบบราชการ เพื่อการผลักดันนโยบายจากบนลงล่าง(Top down)
4.พชอ.ควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วน (Learning process) ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ ไม่ใช่กลไกการแก้ปัญหาตามนโยบาย หรือรายประเด็น ดังนั้น พชอ.ต้องมองภาพรวมของพื้นที่ มีอิสระ ยืดหยุ่น ใช้เวลาในการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการทำงานไปด้วยกัน
5.พชอ.เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างสังคมเข้มแข็ง โดยเฉพาะระดับฐานรากคือตำบล ทั้งนี้ พชอ.ต้องขับเคลื่อนอย่างมียุทธศาสตร์ มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและแบบแผนการทำงาน โดยการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชน ทำให้ พชอ.เป็นงานหน้าหมู่ หรือเรื่องของสาธารณะที่ทุกภาคส่วนมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน เอื้อให้เกิดการพึ่งตนเอง และความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
ระบบการประเมินผล พชอ.ควรเน้นการประเมินแบบเสริมพลัง เป็นการภายในของพื้นที่ ให้อิสระพื้นที่กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จตามเป้าหมายร่วมและบริบทของพื้นที่เอง ไม่ควรใช้ตัวชี้วัดที่มีความเฉพาะมากเกินไป หรือเป็นตัวชี้วัดของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งฝากมา
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน พชอ. ต้องมองความสำเร็จในเชิงการพัฒนา ต่อยอด ยกระดับไปได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่การเลือกประเด็นที่สามารถเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างหลากหลาย และขยายวงออกไปเรื่อย ๆ การหยิบบางเรื่องมาทำให้สำเร็จเพื่อความภาคภูมิใจร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างกลุ่มแกนนำที่มีจิตอาสา มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมกันแก้ปัญหาในพื้นที่ได้จริง จะนำไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของ และเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การทำงานของ พชอ. เป็นงานที่หวังผลระยะยาว เหมือนการวิ่งทางไกล ต้องยึดหลักการคิดไป ทำไป เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
สิ่งที่น่าชื่นชมและรูปธรรมความสำเร็จของ พชอ.
1.พชอ.เป็นกลไกที่ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความร่วมมือของฝ่ายต่าง ๆ และทำให้เกิดการบูรณาการประสานความร่วมมือกันในพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
2.พชอ.บางแห่งสามารถขยายขอบเขตงานไปได้ไกลกว่างานสาธารณสุขมาก
3.มีตัวอย่างการบริหารกลไกด้วยความยืดหยุ่น ยึดหลักการมีส่วนร่วม โดยมีการดึงภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมได้หลากหลาย มากกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกฯ การออกแบบกระบวนการทำงานโดยประยุกต์ใช้เครื่องมือหรือช่องทางที่มีในพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ
4.เกิดรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สามารถแปลงแนวคิดการใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้จริง และบางแห่งสามารถไปไกลถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขอบคุณพื้นที่ทุกแห่งมากๆที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ขอบคุณทีมเยี่ยมเสริมพลังโครงการสร้างเสริมพลังการเคลื่อนระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพืนที่ตามทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพ
ขอบคุณ สสส.ที่สนับสนุนโครงการดีๆ
เอื้อมพร จันทร์ทอง รายงาน
Relate topics
- กขป.เขต 12 สุขภาวะกลุ่มเปราะบางทางสังคม
- "กขป.เขต 12 ประเด็นสุขภาวะแม่และเด็ก"
- “สช. สานพลังกลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ในการจัดทำแผนบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้า ในพื้นที่เขตสุขภาพเพื่อประชาชน”
- ”นครศรีธรรมราชโมเดล ปกป้องเด็กและเยาวชน“
- ตรังเดินหน้า ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ”รองรับสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ”
- เหลียวหลัง แลหน้า ต่อยอดพัฒนางานสร้างสุขภาคใต้
- คนรุ่นใหม่ร่วมสร้างนิเวศน์ชุมชนในการลดปัจจัยเสี่ยงชุมชนบ้านบือแรง ต.ลาโละ อ.รือเสาะ นราธิวาส
- ประชุมทีม กขป.เขต ๑๒ ชุดเล็ก
- "ประชุมทีมเลขาร่วมกขป.เขต 12"
- นครศรีธรรมราชพร้อม พร้อมขยายความสุข ให้ทั่วจังหวัด