กติการ่วมของชุมชนเพื่อการจัดการขยะบนเกาะสุกร
ก้าวกติกา ก้าวการจัดการขยะสู่ปุ๋ยอินทรีย์เกาะสุกร
รู้หรือไม่ ปริมาณขยะโดยเฉลี่ยของ ต.เกาะสุกร กับพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ประชากร 2000 กว่าคน 600 กว่าครัวเรือนผลิตขยะต่อเดือนเป็นจำนวนเท่าไหร่ ? 89,120 กิโลกรัมต่อเดือนคือคำเฉลย ส่วนหนึ่งของข้อมูลชวนเอ๊ะกับผู้ที่มีส่วนข้องบนเกาะสุกร
เกาะสุกร อ.ประเหลียน 1 ใน 13 พื้นที่เป้าหมายสร้างปฏิบัติการจัดการขยะร่วมกับNode Flagshipจังหวัดตรัง
ครั้งนี้กับปฏิบัติการนำโดยนางราตรี จิตรหลัง โดยมอบหมายให้พี่ยุทธ เลขานุการนายกฯประสานงานขับเคลื่อนโครงการจัดการปัญหาขยะสู่ปุ๋ยอินทรีย์ตำบลเกาะสุกร ที่เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่แล้วมองว่าถ้าสามารถจัดการขยะอินทรีย์ได้ ด้วยระบบเตาเผาขยะของอบต.ที่เป็นปลายทางการจัดการสามารถจัดการได้
วันนี้ 20 มกราคม 2564 กับเวทีการประชุมกำหนดกติกา การประชาสัมพันธ์กติกาและการคัดแยกขยะมีกับนัดหมายผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อร่วมหารือกติกาที่ยอมรับกันได้ในการจัดการขยะ ภาคเช้าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร รถสามล้อพ่วง ภาคบ่ายกลุ่มครัวเรือน รพ.สต. โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและฝ่ายท้องที่มาร่วมปรึกษาหารือ
กระบวนการปรึกษาหารือนำเข้าข้อมูลสถานการณ์ขยะจากการเก็บแบบสำรวจ การเก็บข้อมูลของท้องถิ่น
ข้อมูลขยะภาพรวมเกือบ 90ตัน/เดือน ขยะทั่วไป 18,605 kg/เดือน ขยะอินทรีย์ 55,605 kg/เดือน ขวดแก้ว 4,574 kg/เดือน ขยะที่เป็นโลหะ 5,768 kg/เดือน และขยะอันตราย
ผนวกกับข้อมูลสถานการณ์เตาเผาขยะที่เพิ่งซ่อมบำรุงเสร็จซึ่งถ้าขยะมีการคัดแยกถูกต้อง แห้ง มีกำลังเผาเต็มศักยภาพทีประมาณ 2 ตัน/วัน แต่ที่ผ่านมาทั้งขยะทั่วไป ขวดแก้ว ขยะอินทรีย์และอีกมากมายถึงจับยัดลงถุงลงถังทำให้เตาเผาจัดการได้ไม่สมบูรณ์ และทำให้ต้องปิดใช้งานไประยะหนึ่ง
นอกจากนี้ปีหนึ่งค่าใช้จ่ายการในการบริหารจัดการขยะทั้งคนงานและวัสดุอุปกรณ์ประมาณ 3-4 แสนบาท/ปี
เหล่านี้จึงเป็นความสำคัญที่ต้องช่วยกันหาทางออกร่วมกันของคนเกาะสุกร
ร่างข้อเสนอแนะจากการไปรับฟังความคิดเห็นก่อนหน้านี้ถูกนำเสนอ อาทิ
-ไม่นำขยะไปทิ้งที่เตาเผาขยะเอง
-ห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ
-ให้มีการประกวดหมู่บ้านดีเด่น หมู่บ้านสะอาด
-การเก็บขยะให้ดำเนินการวันจันทร์-พุธ-ศุกร์
-การปรับตามกฎสำหรับผู้ละเมิดไม่เกิน 500 บาท
ข้อมูลปัญหาการจัดการขยะในอดีตถูกสะท้อนกันในเวทีในระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ มุมมองถูกนำเสนอทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย อาทิ
-อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
-ถังหมักรักษ์เกาะไม่พอให้เพิ่มถัง
-ติดตั้งกล้องวงจรปิด จุดที่มีปัญหา
-ครัวเรือนให้ใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติก
-ให้ความรู้ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึก
หลังจากนี้จะมีการประมวลข้อเสนอต่อร่างกติกาและจะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อเติมเต็มให้สมบูรณ์ ให้ความเห็นร่วมก่อนประกาศใช้ต่อไป
หลังกินข้าวเที่ยงถือโอกาสไปดูปลายทางการจัดการขยะของเกาะสุกรที่เตาเผา มีพี่สมชิด ยาแดง จากกองช่างอบต.มาช่วยให้ข้อมูล ภาพกองขยะทั้งที่ถูกคัดแยกไม่ถูกคัดแยก ซากกองขยะทั้งที่ไม่ถูกเผาและถูกเผาที่วางกองนอกเตา ประจักษ์กับตา เพราะส่วนตัวมีโอกาสลงพื้นที่เกาะสุกรในหลายวาระ มาในเรื่องงานบ้าง มาในฐานะนักท่องเที่ยวบ้าง ต้องยอมรับว่าในช่วงปีสองปีที่ผานมาขยะในสายตานักท่องเที่ยวก็ได้รับเสียงชื่นชมว่าปริมาณขยะไม่ได้เห็นมากเหมือนในอดีต แต่ก็ทราบว่าหลังบ้านเรื่องการจัดการขยะนี้ก็ยังเป็นการบ้านข้อใหญ่ของที่นี่
ครั้งนี้ได้มาเจอหน้างานจริง จุดหน้างานของปลายทางขยะบนเกาะ หลายโจทย์จากเห็นสภาพปัญหาที่เตาเผาทั้งการจัดการขวดแก้ว การจัดการขวดพลาสติก เนื่องจากเป็นการจัดการขยะบนเกาะ ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลมีต้นทุนเพิ่มเรื่องขนย้ายข้ามฟาก ถ้าเมื่อใดราคาไม่จูงใจผู้รับซื้อก็จะไม่ซื้อหรือแม้ทางอบต.ให้มารับไปฟรี ๆ ข้อเสนอความต้องการ เช่น เครื่องบีบอัดพลาสติก เครื่องบดขวดแก้ว ถ้าท่านใดมีช่องทางวิธีการจัดการรูปแบบอื่น ๆ เพื่อคลี่คลายเรื่องราวเหล่านี้ติดต่อทางอบต.เกาะสุกร ได้เลยนะครับ
1 ใน 3 พื้นที่ ร่วมปฏิบัติการพยายามหาทางออกการจัดการขยะของชุมชนท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล และอีก 2 พื้นที่ได้แก่ชุมชนมดตะนอย และ เกาะลิบง อ.กันตัง ที่มีลักษณะชุมชนคล้ายคลึงกันเชื่อว่าจะมีบทเรียนการทำงานการจัดการขยะในชุมชนท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป มาลุ้นกันอีก 4 เดือนกว่าดอกผลปฏิบัติการครั้งนี้ทั้งปริมาณขยะจะลดลงได้กี่มากน้อย รูปแบบวิธีการจัดการ บทเรียนการทำงานเป็นอย่างไร
การจัดการการขยะ
เกาะสุกร
ตรังเมืองคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน
NodeFlagshipTrang สสส.
เชภาดร จันทร์หอม รายงาน
Relate topics
- พมจ.กระบี่ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการปี 68 มุ่งสู่กระบี่อยู่เย็นเป็นสุข
- สสว.11 ชวนใช้ข้อมูลครัวเรือน(กลุ่มเสี่ยง)จากสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างพุ่งเป้า
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ชู “ข้อเสนอ 3 ข้อ” ปกป้องเด็กเยาวชนจาก “ภัยบุหรี่ไฟฟ้า” ในเวทีระดมความเห็นภาคีปฏิบัติการพื้นที่ “ภาคใต้”
- 17 ประเด็นที่เห็นจาก NHA17
- "ประชุม กขป.เขต 12 ทีมเล็ก"
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบและกลไกการจัดการพื้นที่ตำบลขอนหาด (ภาคีเครือข่าย สสส.)
- "พัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยงและกองเลขาแผนงานร่วมทุนฯสงขลา"
- ประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2567 “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P): กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
- สสจ.สงขลาและเครือข่ายร่วมวางแผนคัดกรองกลุ่มเสี่ยงยาเสพติดและสุขภาพจิต อายุ 12-59 ปี
- "พัฒนามาตรฐานกลางการปรับสภาพบ้านคนพิการสิทธิบัตรทองจังหวัดสงขลา"