เรียนรู้เรื่องดินในวิถีเกษตรสุขภาพเพื่อปลูกพืชทดแทนการปลูกยาสูบ
วันที่ 2 มีนาคม 2564 มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย(สสม.) โดย นายไฟซอล สะเหล็ม และทีมงาน ได้จัดเวทีแสวงหาแนวทางการปลูกพืชทดแทนยาสูบ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการปลูกพืชทดแทนยาสูบได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่และดีที่สุด ของผู้ปลูกและผู้คนในชุมชน เน้นพืชผักปลอดสารพิษ ณ บ้านมุด ม.3 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล โดยมี นายวิบูลย์ ศรีปาน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ อ.ท่าแพ จ.สตูล เป็นวิทยากรในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 34 คน
วิทยากรได้ให้ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับดิน สาเหตุที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และ วิธีการแก้ไขปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ พืชผักที่เหมาะกับดิน วิธีการขยายพันธุ์ผัก การหาตลาดและเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของคนในชุมชน และเพิ่มเครือข่ายในการขยายสินค้า เพื่อให้ชุมชนและสังคมได้พัฒนาก้าวต่อไป
ดินเกิดขึ้นได้อย่างไร
ดินเกิดจากหินที่สึกกร่อน ผุพัง เป็นเวลานานหลายปี โดยเกิดจาก
-น้ำฝน ค่อยๆ ซึมผ่านรอยแยก ทำให้รอยแยกแตก กร่อนมากขึ้น แรงของคลื่นและกระแสน้ำก็สามารถทำให้หินสึกกร่อนได้
-อากาศ ที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน และเย็นจัดในเวลากลางคืน ทำให้หินแตกได้ง่าย
-รากของพืช ที่พยายามชอนไชหาอาหาร ทำให้หินเป็นรอยแยกได้
ดินมีประโยชน์อย่างไร
เศษหินที่สึกกร่อน ผสมกับอากาศ น้ำ และซากพืช ซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย ทำให้เกิดดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช เมื่อผืนดินเต็มไปด้วยต้นไม้ ต้นไม้ทำให้อากาศดี มีสิ่งแวดล้อมดี เป็นแหล่งอาหารแก่คนและสัตว์
ดินเป็นอย่างไร
ดินบนผิวโลกมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านเนื้อของดิน สีของดิน ส่วนผสมในดิน ทำให้พืชในดินที่ขึ้นแตกต่าง และมีความเจริญเติบโตไม่เหมือนกัน เช่น ในดินทราย พืชจะมีชีวิตระยะสั้น เพราะขาดความชุ่มชื้นในดิน ผิวดินไม่อุดมสมบูรณ์ น้ำซึมไหลผ่านรวดเร็ว ผิวดินไม่อุ้มน้ำไว้
ในดินเหนียว ซึ่งมีดินเนื้อละเอียด เหนียว น้ำไหลผ่านยาก รากของพืชชอนไชลงไปยาก
ในดินร่วน เป็นดินที่ดีที่สุด เหมาะแก่การเพาะปลูก เพราะมีดินเหนียว ดินทราย และซากพืช ซากสัตว์ปนอยู่ พื้นดินมีความชุ่มชื้น ดินที่อุดมสมบูรณ์ จะอยู่บริเวณผิวหน้าของดิน เราทุกคนควรช่วยกันรักษาหน้าดินให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยการไม่ตัดไม้ทำลายป่า
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่
1.การถากถางพืชที่ปกคลุมหน้าดินจนเตียน ทำให้น้ำฝนชะเอาผิวหน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไหลไปด้วย
2.การเผาพืช หรือหญ้าที่ขึ้นในไร่นา ทำให้แร่ธาตุและจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินซึ่งมีประโยชน์ต่อพืชถูกทำลายไป
3.การทำไร่ – สวนบนเนินที่มีความลาดเอียงมาก โดยการไถพื้นดินให้เป็นร่องจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำจะทำให้น้ำฝนชะหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย
4.การปลูกพืชชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้แร่ธาตุในดินบางชนิดหมดไป ผลผลิตของพืชจึงลดลง
5.การขาดความรู้เรื่องวิธีการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีถ้าใช้ไปในปริมาณมากเกินความต้องการของพืชจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพลง
การพัฒนาดินเพื่อให้มีคุณภาพดีมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป สามารถกระทำได้โดยวิธีการต่างๆ ดังนี้
1.การปลูกพืชคลุมดิน เป็นการป้องกันการชะของน้ำฝนพาเอาหน้าดินซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไปที่อื่น พืชที่ปลูกคลุมดินควรเป็นพืชที่แผ่กิ่งก้านและใบไปตามผิวดินได้ดี และรากต้นพืชคลุมดินจะช่วยลดอัตราการชะล้างพังทลาย ของหน้าดินได้ดี
2.การใช้วัสดุธรรมชาติคลุมดิน ในช่วงเวลาที่หยุดพักการปลูกพืชไม่ควรปล่อยให้ดินว่างเปล่าควรหาวัสดุมาคลุมดินไว้ วัสดุที่เหมาะสำหรับคลุมดินคือ หญ้าและฟาง นอกจากจะเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน แล้วดินยังช่วยรักษาความชื้นของดินและยังสลายกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอีกด้วย
3.การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นการปลูกพืชสลับชนิดกันในพืชที่เดียวกัน เช่น การปลูกถั่วสลับกับพืชที่เราต้องการผลผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันพังทลายของดินแล้วยังเป็นการเพิ่มรายได้และยังช่วยบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ด้วย
4.การปลูกพืชแซมเป็นการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตในพืชที่ว่างระหว่างแถวของพืชหลักในพืชที่ที่ปลูกหลัก เป็นการป้องกันไม่ให้พื้นที่ว่างนั้นพังทลายลงและ ป้องการเจริญชองวัชพืชได้อีกด้วย
5.การปลุกพืชตามแนวระดับ เป็นวิธีการไถพรวน หว่าน ปลูกและเกี่ยวพืชขนานไปตามแนวระดับเดียวกัน ขวางความลาดเอียงของพืชที่ เป็นวิธีที่ช่วย อนุรักษ์ดินที่มีลักษณะเป็นเนิน หรือไหล่เขาได้วิธีหนึ่ง
6.การปลูกพืชแบบชั้นบันได เป็นวิธีสำหรับการอนุรักษ์ดินที่มีลักษณะเป็นเนิน หรือไหล่เขาทำได้โดยสร้างคันดินหรือแนวหินขวาง ความลาดเอียงของพื้นที่ แล้วปลูกบนชั้นบันได
7.การเติมปุ๋ย การเติมปุ๋ยจะช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ
8.การปลูกป่า ป่าไม้จะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี เพราะป่าไม้จะช่วยชะลอการไหลของน้ำ ทำให้น้ำซึมเข้าสู่ดินได้มากขึ้น และหน้าดินไม่พังทลาย และยังช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล ไม่เกิดความแห้งแล้งแก่ดิน ไม่เกิดน้ำท่วม ฯลฯ
จากการได้รับความความรู้ต่างๆเรื่องดินและการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ทำให้ชุมชนได้นำสิ่งที่ดีไปใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถนำประโยชน์ไปใช้ในการสร้างรายได้ พืชผลต่างๆให้เกิดขึ้นในครัวเรือนและชุมชน และสามารถสร้างเป็นเอกลักษณ์ในชุมชนสามารถเป็นชุมชนต้นแบบให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้เป็นพื้นทีีเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถสานต่อเป็นชุมชนท่องเที่ยวต่อไป
ลดการพึ่งพิงยาสูบ เลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน เลิกบุหรี่บ้านละคน
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ ลดการพึ่งพิงยาสูบ มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย
Relate topics
- สช.ผนึกกำลัง กขป. ทั่วประเทศเคลื่อนงานพัฒนารองรับสังคมสูงวัย มุ่งวางทิศชี้ทาง บูรณาการร่วม-เน้นทำบนฐานข้อมูลพื้นที่เป็นหลัก
- กขป.เขต ๑๒ จัดประชุมสร้างความร่วมมือการดำเนินงานปี ๒๕๖๘
- พมจ.กระบี่ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการปี 68 มุ่งสู่กระบี่อยู่เย็นเป็นสุข
- สสว.11 ชวนใช้ข้อมูลครัวเรือน(กลุ่มเสี่ยง)จากสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างพุ่งเป้า
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ชู “ข้อเสนอ 3 ข้อ” ปกป้องเด็กเยาวชนจาก “ภัยบุหรี่ไฟฟ้า” ในเวทีระดมความเห็นภาคีปฏิบัติการพื้นที่ “ภาคใต้”
- 17 ประเด็นที่เห็นจาก NHA17
- "ประชุม กขป.เขต 12 ทีมเล็ก"
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบและกลไกการจัดการพื้นที่ตำบลขอนหาด (ภาคีเครือข่าย สสส.)
- "พัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยงและกองเลขาแผนงานร่วมทุนฯสงขลา"
- ประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2567 “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P): กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”