"เกษตรกรมีเงินเดือน ตลาดนำการผลิต กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ตำบลท่าข้าม ส่งผักโลตัสทั้งภาคใต้"
"เกษตรกรมีเงินเดือน ตลาดนำการผลิต กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ตำบลท่าข้าม ส่งผักโลตัสทั้งภาคใต้"
ชุมชนบางท่าข้าม หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนเกษตรผู้มีอาชีพการปลูกผัก เกษตรกรส่วนใหญ่อพยพจากภาคกลางมาอาศัยในพื้นที่ อาศัยต้นทุนอาชีพเดิมตั้งแต่บรรพชน ปี 41 เริ่มรวมกลุ่มกัน ปี 58 จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ปลูกผัก ต่อมาปี 60 ได้เข้าร่วมเกษตรแปลงใหญ่พืชผัก ทำการผลิตในพื้นที่กว่า 300 ไร่ มีสมาชิกจำนวน 58 ครัวเรือน
คุณสมพนธ์ แกนนำเล่าว่าเดิมยังไม่ได้รวมกลุ่มกัน ต่างคนต่างปลูกผักส่งตลาด เกษตรกรได้ขายผลผลิตยังตลาดทั่วไป และมีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิต กำหนดราคาไม่ได้ ต่อมาในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการประสานเชื่อมโยงการตลาดพืชผักแปลงใหญ่กับบริษัท เทสโก้ โลตัส และได้ตกลงซื้อขายผลผลิตพืชผักจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งไต้หวัน ผักบุ้ง และมะระจีน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการส่งพืชผักขายให้บริษัท เทสโก้ โลตัส เฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาทต่อราย สำหรับในปี 2562 เกษตรกรได้เพิ่มชนิดพืชผักที่ส่งให้บริษัท เทสโก้ โลตัส จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ผักกาดหอม ผักชีไทย บวบเหลี่ยม และ พริกขี้หนู (ยอดสน) (รวมเป็น 9 ชนิดพืชผัก) การมีรายได้ที่แน่นอนทำให้เกษตรกรหันมาปลูกผัก แทนการปลูกปาล์มและยาง
การบริหารจัดการ ใช้รูปแบบตลาดนำการผลิต ทางเทสโก้ โลตัส จะส่งเป้าหมายการผลิต หรือสินค้าที่ต้องการล่วงหน้ารายเดือน เกษตรกรในกลุ่มจะมีการพบกันทุกวันอังคารตอนเย็น เพื่อที่จะวางแผนการผลิต โดยมีกติการ่วมให้สมาชิกสามารถใช้พื้นที่การผลิตของตนปลูกผักสร้างรายได้อย่างเท่าเทียมกัน มีการยกมืออาสาตามความสมัครใจในการปลูกผักแต่ละชนิด รวมกลุ่มย่อยเพื่อผลิตผักตามเป้าหมาย โดยวางแผนรายสัปดาห์หมุนเวียนกันปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต่อเนื่อง และมีการรักษาคุณภาพ หากใครทำตามเป้าไม่ได้จะมีการลงโทษด้วยการปรับ และไม่ให้ร่วมการผลิตยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็นควบคุมไม่ได้จริง จะมีแผนสำรองเพื่อให้สามารถรักษาความเชื่อมั่น ส่งผลผลิตให้กับเทสโก้ตามเป้า
ที่นี่ยังใช้โรงเรียนเกษตรกรหล่อหลอมความคิด เป็นช่องทางพัฒนากระบวนการผลิต เตรียมการผลิต แลกเปลี่ยนปัญหา รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆที่พบในการผลิต โดยมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาหนุนเสริมอย่างใกล้ชิด
เกษตรกรแต่ละคนจะลงทุนปัจจัยการผลิตเอง แต่ละวันจะมีผลผลิตออกจากแปลง ตัดเก็บ ทำความสะอาด บรรจุถุงมาส่ง ณ โรงคัดแยก ที่จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพ และน้ำหนัก ทุกวันอาทิตย์จะมีการส่งตัวอย่างผักส่งตรวจสารปนเปื้อน และมีห้องเย็นเก็บผลผลิต จนถึงตอนบ่ายสามจะมีรถรับส่งของเทสโก้มารับผักไปกระจายต่อให้กับสาขาของเทสโก้ทั่วภาคใต้ ปริมาณ 3-5 ตันต่อวัน นอกจากนั้นยังมีทีมกลางลงตรวจแปลงเพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิตอีกด้วย
จุดเด่นของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผักบางท่าข้ามคือ การช่วยเหลือกันทำให้กลุ่มเข็มแข็ง มีงบประมาณหนุนช่วยให้กับสมาชิกที่ต้องการ มีการลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรมีการรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก ปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน ถุงบรรจุที่ใช้ขนส่งไปโรงคัดแยก และอื่น ๆ ที่ทางกลุ่มต้องใช้ในกระบวนการผลิต ตามแผนการผลิตที่วางไว้ได้ในราคาถูก และยังสามารถชำระเงินภายหลังจากขายผลผลิตได้ด้วยนอกจากนี้ เกษตรกรยังใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มีการตรวจสอบวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ใส่ปุ๋ยได้ตามปริมาณที่พืชต้องการ และมีการใช้ปุ๋ยหมักในการปรับโครงสร้างดินช่วยให้การดูดซึมธาตุอาหารหลักหรือปุ๋ยที่ใส่ลงไปได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดต้นทุนในเรื่องของปุ๋ยไปได้มากขึ้น
ในส่วนของการเพิ่มผลผลิต เกษตรกรมีความรู้ความชำนาญในการผลิตผักมาหลายชั่วอายุ จึงมีเทคนิควิธีในการผลิตให้ผลผลิตมีปริมาณมากและถ่ายทอดให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มนำไปปรับใช้ นอกจากนั้นเกษตรกรมีความเชี่ยวชาญในการเลือกพื้นที่ ว่าพื้นที่แบบใดเหมาะที่จะปลูกผักชนิดใด และเลือกชนิดผักที่เหมาะสมกับความถนัดของสมาชิก ทำให้ผลผลิตดีตามไปด้วย อีกทั้ง เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตด้วยการผลิตผักให้ได้มาตรฐาน GAP ซึ่งตลาดมีความต้องการ และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ปัจจุบันกำลังยกระดับการปลูกผักมาตรฐาน GAP มาเป็น GAP+1+2 ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อก้าวสู่การเป็นกลุ่มมาตรฐาน PGS และเกษตรอินทรีย์ในอนาคต
เกษตรแปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี บทพิสูจน์ การเชื่อมโยงตลาดนำการผลิตในด้านการตลาด เกษตรกรบริหารจัดการกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนและทำ MOU ซื้อขายผลผลิตกับ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือบริษัท เทสโก้โลตัส โดยทำสัญญาครั้งละ 3 เดือน เพื่อกำหนดราคา ปริมาณ และชนิดพืชผัก แล้วต่อสัญญาเป็นรอบๆ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะมีโครงสร้างการบริหารชัดเจน มีการประชุมวางแผนปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหากันทุกวันอังคาร ทุกเรื่องทุกปัญหามีการประชุมและต้องมีมติที่ประชุมรับรอง แผนการผลิตและการตลาดต้องเป็นที่ยอมรับของสมาชิกทุกคน ทาง บริษัท เทสโก้โลตัสได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้จัดการแปลงของบริษัทเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งจะช่วยวางแผน และประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงในทุกขั้นตอนการผลิต ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สภาพดินพื้นฐานของชุมชนเป็นดินร่วมปนเหนียว ใช้ระบบสปริงเกอร์รดน้ำ การปลูกจะยกร่องแปลงยาว 100 เมตร กว้าง 2 เมตร มีระบบคูล้อมรอบเพื่อใช้ในกรณีไฟฟ้าดับ อนาคตจะยกระดับเป็นระบบโรงเรือนปิดคล่อมแปลงผัก
การมีรายได้ที่แน่นอนในแต่ละเดือนทำให้เกษตรกรรักษาคุณภาพการผลิต บวกกับกติกา การบริหารจัดการอย่างเป็นธรรม ประกอบกับการมีแผนสำรอง จึงทำให้กลุ่มสามารถช่วยเหลือกันเอง ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมืออาชีพนี้เอง ทำให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาหนุนเสริมอยู่ตลอดเวลา
ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทางเทสโก้ลดเป้าหมายลงบ้าง จำเป็นต้องหาตลาดเพิ่มเติม
เรียบเรียงข้อมูลจาก "ห้องเรียนสวนผักคนเมือง on zoom" ครั้งที่ 3 วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชมบันทึกย้อนหลังได้ที่ YOUTUBE ช่อง"ธรรมนูญ on air"
Relate topics
- พมจ.สงขลา เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- สร้างที่อยู่อาศัยโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน นวัตรกรรมทางความคิดเพื่อชุมชนเข้มแข็งชุมชนปันรักบ้านปันสุขตำบลท่าข้าม สงขลา
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน(ขสย.) รุกทำงานกับกองทุนสุขภาพตำบล สปสช.เขต 12 ไฟเขียวนำร่อง 18 พื้นที่ 6 จว.ลดปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่ไฟฟ้า
- ทีมวิชาการสร้างสุขภาคใต้ ชี้จุดร่วมทำนโยบายรับมือภัยพิบัติ
- "สงขลาพัฒนาระบบรับส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์"
- "ประชุมภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบผู้ดูแลผู้ป่วยจังหวัดสงขลา"
- สช.ผนึกกำลัง สกช. พอช. หารือขอบเขตความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะปี 2568
- หยุดความรุนแรงในเด็กและสตรีขับเคลื่อนโดยกลไก พชอ. สู่ พชต. ในตำบลพื้นที่นำร่องตำบลบ่อยางและตำบลเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา
- “รวมพลังเด็กนครศรีฯ เท่ได้ไม่ต้องสูบ“ เวทีสาธารณะป้องกันนักสูบหน้าใหม่ Smart No Smoking จังหวัดนครศรีธรรมราช
- การประชุมหารือ กขป.และเลขาร่วมเพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ เขตพื้นที่ 11 พ.ศ. 2568