"ธรรมนูญ on air ครั้งที่ ๕" เครือข่ายธรรมนูญสุขภาพรับมือโควิด ตอนที่ ๑
"ธรรมนูญ on air ครั้งที่ ๕" เครือข่ายธรรมนูญสุขภาพรับมือโควิด ตอนที่ ๑
ตรงกับวันอังคารที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. (เปลี่ยนเวลาเฉพาะครั้งนี้) ดำเนินการโดยกขป.เขต ๑๒ และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ๗ จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง
๑)เริ่มต้นด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดระดับเขต พบว่าเพิ่มขึ้น ๑๑๑๙ ราย ตรัง สงขลา ยะลา เพิ่มมากที่สุด จากหมู่บ้าน(วงไพ่) โรงงาน เรือนจำ สถิติย้อนหลัง สงขลา นราธิวาส ตรัง มากที่สุดตามลำดับ
ต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากในพื้นที่ กรณีการเดินทางกลับบ้านยังไม่มากนัก ผู้สัมผัสเชื้อไม่กักตัวทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่าย ประชาชนยังต้องการความรู้พื้นฐานที่ถูกต้อง ท่ามกลางความสับสนของข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ
คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน เขต ๑๒ มีการประชุมนัดแรกไปแล้ว เริ่มมีเคสเสนอเข้ามาให้พิจารณา
๒) แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางใช้ธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่กับสถานการณ์โควิด
๒.๑ ตำบลนาทอน จังหวัดสตูล โดยนายกสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ ระบุว่าต้องการสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเป็นเจ้าของตำบลร่วมกัน จะส่งผลให้เกิดความหวงแหน ช่วยกันดูแล จึงเริ่มด้วยการพูดคุยกัน ผ่านการ "ชันชี" ใช้ภาษาประจำถิ่นในการสื่อความหมายแทนคำว่าธรรมนูญ เพื่อให้เข้าใจง่าย ชักชวนองค์ประกอบที่เรียกว่า "๕ เสาร่วม" ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐส่วนภูมิภาค เอกชน ประชาชน ค้นหาประเด็นร่วม สร้างความเข้าใจต่อกันอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมพื้นที่ ประชากร ค้นหา "ฉันทามติ" ร่วมกัน "รูปแบบประชาธิปไตยยกกำลังสอง" ที่ผสมผสานระหว่างตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งกับทางตรงเช่นนี้หากทำได้ ทุกคนจะเกิดการยอมรับ เป็นเจ้าของ นำข้อตกลงไปปฏิบัติดำเนินการด้วยตนเอง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
การเริ่มต้นผู้นำจะต้องมีความอดทน ในการทำความเข้าใจ ชักชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลา และการกระทำ มีจิตใจเปิดกว้างรับฟัง
๒.๒ ตำบลท่าข้าม จังหวัดสงขลา นายกสินธพ อินทรัตน์ เล่าว่าต้องการพัฒนาตำบลในหลายมิติ จึงได้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการ โดยนำร่องที่หมู่บ้าน จัดทำธรรมนูญหมู่บ้านขึ้นก่อนเป็นธรรมนูญสุขภาวะตำบล การดำเนินการช่วงแรกใช้เวลา ๑ ปี ในการดำเนินการในส่วนของท้องถิ่นที่รับผิดชอบ จะแบ่งหน้าที่ให้กับแต่ละกองขับเคลื่อนร่วมกับประชาชน
๒.๓ ตำบลโคกม่วง จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของเทศบาล จัดทำธรรมนูญเชิงประเด็น เน้นเรื่องการจัดการขยะ มีมาตรการสำคัญ คือการทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิลทุกวันที ๑๔ กุมภาพันธ์ นำเงินที่ได้มาจัดตั้งกองทุนขยะมีบุญ นำไปช่วยประชากรกลุ่มเปราะบาง และมีมาตรการย่อยๆมาเสริมหนุน เช่น การประกาศเป็นตำบลไร้ถังขยะ การทำ eco birck ตะแกรงสะสมบุญ ผ้าอ้อมรักษ์โลก ช่วงโควิดระบาดได้นำเงินจากกองทุนฯมาจัดทำถุงยังชีพให้กลุ่มติดเตียง
๒.๔ ตำบลบ่อยาง จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง องค์กรชุมชน เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนจนเมือง การสร้างกติกาเป็นไปแบบธรรมชาติ ค่อยๆปรับเพิ่มเติมตามสถานการณ์ มีการรวมตัวกันทุกวันที่ ๙ ของเดือนที่ชุมชนแหลมสนอ่อน ทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ การปลูกผัก การจัดการขยะ การลดรายจ่าย การเสริมรายได้ สถานการณ์โควิดระบาด ได้จัดทำครัวกลาง ผ่านข้อตกลง "ปิ่นโตตุ้มตุ้ย"
๒.๕ ตำบลอื่นๆ เช่น ตำบลท่าสาบ จังหวัดยะลา เชื่อมโยงกับงานสร้างสันติสุข
๓) บทเรียนจากการดำเนินการธรรมนูญสุขภาพ
๑.เป็นเครื่องมือกลาง ในการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมกับแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถค้นหาประเด็นร่วมที่เป็นทั้งทุกข์ร่วม สุขร่วม ของตน โดยแกนนำประสานที่เป็นคนเริ่มกระบวนการ ต้องมีความเข้าใจแนวคิดของธรรมนูญสุขภาพ ก่อนที่จะไปขยายผลสร้างทีมจากแต่ละองค์ประกอบภาคส่วนต่างๆ
๒.สามารถดำเนินการได้ทั้งมิติการพัฒนาให้เกิดสุขภาวะระดับตำบลในหลายมิติ ปรับระบบสุขภ่าพหรือระบบการดำเนินงานในพื้นที่ หรือเป็นธรรมนูญตามภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรม ภูมิสังคม เป็นธรรมนูญเชิงประเด็น เชิงกลุ่มวัย หรือประชากรเฉพาะ หรือธรรมนูญเชิงองค์กร
๓.เป็นกระบวนการสร้างความไว้วางใจมากกว่าเชิงอำนาจที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยเหลือกัน รับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
๔.สถานะของธรรมนูญ เริ่มต้นจากประเด็นผลักดันจากตัวบุคคลหรือพื้นที่ก็ได้ แต่สุดท้ายจะต้องใช้กระบวนการทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ มีการรับรองใช้ร่วมกันทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ
๕.สามารถประสานเชื่อมโยงกับงานอื่นๆ เช่น สตูลต้องการเชื่อมโยงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่
๔) การดำเนินการควรสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นของตนเอง การทำธรรมนูญจะเป็นกระบวนการสร้างการรับรู้ต่อสังคมในวงกว้าง ริเริ่มประเด็นใหม่ๆ เช่น ธรรมนูญกลุ่มชาติพันธุ์ที่สตูลอาจริเริ่มทำในบางตำบล
๕) เพื่อให้เป้าหมายการสร้างเครือข่ายธรรมนูญตำบลที่มีการดำเนินการมากว่า ๑๐ ปีในพื้นที่ ต้องการความต่อเนื่องและการประสานเครือข่ายแกนนำตำบลทั้งเก่าและใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัปดาห์หน้าจะมีการจัดธรรมนูญ on air อีกครั้ง
Relate topics
- กขป.เขต 12 สุขภาวะกลุ่มเปราะบางทางสังคม
- "กขป.เขต 12 ประเด็นสุขภาวะแม่และเด็ก"
- “สช. สานพลังกลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ในการจัดทำแผนบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้า ในพื้นที่เขตสุขภาพเพื่อประชาชน”
- ”นครศรีธรรมราชโมเดล ปกป้องเด็กและเยาวชน“
- ตรังเดินหน้า ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ”รองรับสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ”
- เหลียวหลัง แลหน้า ต่อยอดพัฒนางานสร้างสุขภาคใต้
- คนรุ่นใหม่ร่วมสร้างนิเวศน์ชุมชนในการลดปัจจัยเสี่ยงชุมชนบ้านบือแรง ต.ลาโละ อ.รือเสาะ นราธิวาส
- ประชุมทีม กขป.เขต ๑๒ ชุดเล็ก
- "ประชุมทีมเลขาร่วมกขป.เขต 12"
- นครศรีธรรมราชพร้อม พร้อมขยายความสุข ให้ทั่วจังหวัด