"ชันชีนาทอน : ประชาธิปไตยยกกำลังสอง"

photo  , 1000x750 pixel , 177,986 bytes.

"ชันชีนาทอน : ประชาธิปไตยยกกำลังสอง"


การจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เพื่อใช้เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันหรือใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้คนในชุมชนปฏิบัติดูแลระบบสุขภาพชุมชนในภาพรวมเกิดเป็นการดูแลสุขภาพพื้นฐานของสังคมไทย ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพในพื้นที่


นายกสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ ผู้ริเริ่มให้เกิด "ชันชีนาทอน" ได้กล่าวถึงแนวทางการจัดทำธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ตำบลนาทอน จังหวัดสตูล ว่าสิ่งสำคัญคือ การสร้างการมีส่วนร่วม ความรู้สึกความเป็นเจ้าของ ทำอย่างไรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าของตำบลนาทอนด้วยกัน เมื่อรู้สึกเป็นเจ้าของเกิดความหวงแหนดูแล ติดตาม ช่วยกัน การพูดคุยการต่อยอดเรื่องราวต่างๆ จะเป็นไปได้ง่าย ช่วยกันทำให้เกิดความสุขของคน เกิดสุขภาวะทั้ง ๔ มิติ กาย ใจ สังคม ปัญญา จึงได้มีการชวนพี่น้องประชาชนมาพูดคุยผ่านการ "ชันชี"(สัญญาใจ หรือข้อตกลง) ร่วมกันว่าจะประชุมกันวันนั้นวันนี้ และพูดคุยในเรื่องอะไร เป็นการค้นหาประเด็นร่วมในการร่วมมือกัน


การใช้คำว่า”ธรรมนูญ”ทำให้เข้าใจยาก ก็เลยใช้คำว่า”ชันชี”ทำให้เข้าใจได้ง่ายสำหรับประชาชน การดำเนินการเริ่มต้น โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ได้ให้คำแนะนำและร่วมกับภาคประชาสังคมจังหวัดสตูลในการขับเคลื่อนงานธรรมนูญ ยกระดับบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลที่แต่เดิมเข้าใจการทำงานเพียงมิติเดียวคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้หันมารู้จักการทำงานโดยใช้พลังร่วมทั้งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ มาร่วมพัฒนา


การจัดทำธรรมนูญตำบล ประดุจประชาธิปไตยทางตรง เป็นการค้นหาประเด็นร่วมของประชาชนทุกคนโดยเชื่อว่าแต่ละคนมีศักยภาพมีความดีงามที่โดดเด่น และเปิดโอกาสให้คนส่วนน้อยได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นร่วมว่าจะทำหรือไม่ทำในประเด็นนั้น และต้องสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนว่าเหตุที่ทำเพราะอะไร ไม่ทำเพราะอะไร โดยต้องตกผลึกร่วมกัน หรือเรียกว่าผ่าน "ฉันทามติ" เมื่อมีความเห็นชอบผ่านการเปิดพื้นที่กลางของการหาข้อสรุป ซึ่งเมื่อทุกคนเห็นชอบก็ไม่ต้องออกกฎหมายบังคับแล้วเพราะเขาเห็นชอบด้วยตัวเอง เขาย่อมปฏิบัติเพราะรู้สึกเป็นเจ้าของ


ความยากคือการขยายผลหรือการเปิดพื้นที่กลางเพื่อถกแถลงจะมีวิธีการอย่างไรให้เขาพูดคุยและสร้างความเป็นเจ้าของร่วมร่วมกัน

พื้นที่ตำบลนาทอนใช้รูปแบบประชาธิปไตย "ยกกำลังสอง" คือ ประชาธิปไตยที่มีตัวแทนการเมืองท้องถิ่นมีสภา มีตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน และการใช้ธรรมนูญรูปแบบชันชีนาทอน เป็นประชาธิปไตยทางตรง สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน เป็นประชาธิปไตยกำลังสอง โดยสร้างความรู้สึกหรือประเด็นร่วมให้กับคนในพื้นที่

ในการเข้ามาทำงานร่วมกัน ในพื้นที่มี "๕ เสาร่วม" คือ ท้องที่ ท้องถิ่น องค์กรศาสนา เอกชนและภาคประชาชน ภาครัฐส่วนภูมิภาค โดยมีรูปแบบการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย  ๕ เสาร่วมถือว่าเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


ความยากคือ เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะให้ ๕ เสาร่วมมีความเป็นเจ้าของต่อประเด็นร่วม การเมืองทำให้เกิดการแบ่งขั้วแบ่งข้าง ผู้คนมีจิตใจที่แตกต่างกัน คนที่เป็นผู้นำในการชักชวนฝ่ายต่างๆมาร่วมกันทำงานต้องอาศัยหลักของความอดทน พยายามค้นหา เปิดกว้าง ให้โอกาสชักชวนมาร่วมกันนับหนึ่งให้ได้ โดยไม่ท้อแท้ในการทำงาน และไม่คิดว่าใครคือศัตรู ไม่ควรสร้างกำแพงที่จะขัดขวางการทำงานสร้างการมีส่วนร่วม 


การทำงานใช้วิธีชวนมาคุยเท่าที่จะชวนได้ จุดเริ่มต้นการหารือได้ชวนทุกคนในหมู่บ้าน เชิญตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน ๙ หมู่บ้าน รวมทั้ง ๕ เสาร่วม โดยพยายามชักชวนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงาน ยึดหลักยืนเหนือความขัดแย้ง หากชวนคนนี้ไม่ได้ก็ชวนคนอื่นมาก่อน ทำงานให้ความสำคัญกับทุกคนแต่เชิญชวนคนที่สนใจมาร่วมกันทำงานก่อน ดึงคนที่มีศักยภาพในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วม โดยเน้น ๕ เสาหลัก และคนที่มีศักยภาพในพื้นที่นั้นเข้ามาร่วม เพราะเขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของหมู่บ้านแม้จะไม่มีตำแหน่งอะไรก็ตาม


การจัดทำธรรมนูญก่อให้เกิดความสามัคคีดำเนินการโดยคนกลุ่มหนึ่งก็ได้ คนกลุ่มหนึ่งหัวหน้ากลุ่มไม่จำเป็นต้องเป็นนายกเสมอไป  ซึ่งอาจเป็นชาวบ้านธรรมดา เป็นจิตอาสา เป็นผู้ใหญ่บ้าน อสม.หรือผู้นำศาสนา ใครก็ตามที่คิดจะทำประเด็นร่วมที่เป็นเรื่องราวดีๆ หรือประเด็นร่วมที่เป็นปัญหาของพื้นที่ซึ่งยังไม่ทำ การก่อตัวอาจเป็นเพียงกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่กี่คนและทำในเรื่องนั้นๆ เป็นรูปธรรม เพื่อให้คนเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นดี ตนอื่นๆที่รีรออยู่เขาจะเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมโดยอัตโนมัติ


ในมิติธรรมนูญท้องถิ่นที่ทำอยู่ อาจทำระดับหมู่บ้านหรือระดับกลุ่มชุมชนก่อนก็ได้ การเริ่มต้นอยู่ที่แนวร่วมในการพูดคุยเพื่อตกผลึกความคิดที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน ระดับการทำงานอาจทำในระดับหมู่บ้านเล็กๆ แล้วค่อยขยายผล เช่น ประเด็นเกษตร ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ปลูกพืชผัก เพื่อทำให้สุขภาพดี ป้องกันโควิด ซึ่งประเด็นนี้ได้ลงมือทำแล้ว ซึ่งแต่ละกลุ่มจะทำเรื่องอะไร ซึ่งหากผู้ใหญ่บ้าน อบต. ต้องการทำในมิติอื่นก็ให้เขาทำไป ให้ขยายผลเป็นประเด็นสาธารณะ พื้นที่ใดต้องการจัดทำธรรมนูญ ต้องดูคนที่เชื่อถือได้ มีแนวคิดที่จะรวมตัวรวมกลุ่มกันทำ และหากเขามีศักยภาพระดับหนึ่งในการเชิญเพื่อนฝูงมาทำได้ ก็เชิญมาร่วมคิด ค้นหาว่ามีแกนชาวบ้านที่เป็นที่เคารพนับถือเชื่อถือในหมู่บ้านมีใครบ้างไหมก็ชักชวนมาร่วม


การทำให้เกิดประเด็นสาธารณะหรือนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม การคิดประเด็นบางทีอาจมีประเด็นน้อยหรือมากก็ได้  ประเด็นเดียวก็ได้ หากประเด็นนั้นมีความรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งหากมีข้อตกลงในธรรมนูญน้อยแต่ปฏิบัติได้จริงก็ถือว่าขับเคลื่อนได้  เช่น การจัดการขยะ หากทุกคนในหมู่บ้านสนใจอยากทำเรื่องนี้ ทุกคนจะมีการคัดแยกขยะร่วมกัน  และลงมือทำทั้งหมู่บ้าน เป็นประเด็นร่วมในการจัดการขยะไปโดยปริยาย ถือว่าเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมไปในตัว เป็นวิถีชีวิต เป็นนโยบายสาธารณะที่ซึมลึกอยู่ในความรู้สึกของชาวบ้าน  ซึ่งหากทำในรูปแบบตำบลต้องมีความอดทนและให้ความสำคัญกับ ๕ เสาร่วม กลยุทธคือการให้เกียรติและเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพมีความโดดนเด่นที่แตกต่างกันออกไป ดึงศักยภาพนั้นมาร่วมลงมือกันทำงาน และทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ ให้กำลังใจและพัฒนาศักยภาพไปด้วยกัน

Relate topics