"ธรรมนูญ on air ครั้งที่ ๖" เครือข่ายธรรมนูญตำบลรับมือโควิดตอนที่ ๒
"ธรรมนูญ on air ครั้งที่ ๖"
ยังคงเป็นประเด็นเครือข่ายธรรมนูญสุขภาพรับมือโควิด ตอนที่ ๒ สรุปสาระสำคัญดังนี้
๑)สถานการณ์ระดับเขต นำเสนอโดยนายเจ๊ะอับดุลล่าห์ แดหวัน
สัปดาห์นี้เป็นอีกสัปดาห์หนึ่งที่เจอผู้ป่วยค่อนข้างเยอะ คลัสเตอร์ที่มีการแพร่กระจายเยอะคือ คลัสเตอร์โรงงานในจังหวัดสงขลาคือ โรงงานที่อำเภอจะนะ และคลัสเตอร์โรงงานจังหวัดตรัง
สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ - วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมามีจำนวนผู้ป่วยกระจายในจังหวัดตรัง ๑,๒๓๘ ราย จังหวัดพัทลุง ๔๓๔ ราย จังหวัดสงขลา ๒,๐๕๑ ราย จังหวัดสตูล ๒๔ ราย จังหวัดปัตตานี ๔๐๖ ราย จังหวัดยะลา ๓๙๒ ราย และจังหวัดนราธิวาส ๑,๐๘๘ ราย ยอดผู้ป่วยรวมสะสมทั้งเขตคือ ๕,๖๓๓ ราย
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย สัปดาห์ที่ผ่านมาจังหวัดตรังเพิ่มขึ้น ๕๗๓ ราย จังหวัดพัทลุง ๑๙ ราย จังหวัดสงขลา ๒๘๙ ราย จังหวัดสตูล ๐ ราย จังหวัดปัตตานี ๕๙ ราย จังหวัดยะลา ๔๕ ราย และจังหวัดนราธิวาส ๑๒๕ ราย รวมจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ๑,๑๑๐ ราย จังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมากที่สุด
การฉีดวัคซีนมีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง แต่ช่วงระยะหลัง ๆ คนเริ่มหย่อนมาตรการ เพราะบางคนคิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้อ แต่ในความเป็นจริงคนที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งอาจเป็นพาหะพาไปติดญาติหรือคนอื่น ๆ ได้ต่อไป
๒)พื้นที่อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา นำเสนอโดยนายชาญวิทูร สุขสว่างไกร
ในพื้นที่ตำบลคูเต่า มีติดเชื้อเพิ่มขึ้นและขยายมาในพื้นที่ตำบลแม่ทอม ภายใต้งบ ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย มีการทำเจลและที่เหยียบเจลด้วยท่อ PVC เพื่อแจกจ่ายชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเจลโดยตรง โดยจัดทำเป็นท่อPVC ใช้แบบกดเหยียบแทน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเก็บขยะในศูนย์เด็กเล็ก ในวัด และมัสยิด ทำความสะอาดในพื้นที่ ๖ หมู่บ้าน นอกจากนี้มีกลุ่ม Big bike ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนล่าง รณรงค์ในการประชาสัมพันธ์และติดป้ายรณรงค์ แจกแมสและร่วมทำเจลแบบใช้เท้าเหยียบ ในหมู่บ้าน สร้างความสนใจให้กับคนในพื้นที่ได้มาก
การทำเจลและที่เหยียบเจลด้วยท่อ PVC ให้กับหน่วยงานและองค์กรอื่นที่สนใจ ภายใต้งบประมาณไม่เกิน ๕๐๐ บาท นอกจากนี้ยังได้มีบริษัทเอกชนได้บริจาคท่อ PVC ให้ เพื่อนำไปทำเจลแบบเหยียบเท้า และปัจจุบันชุมชนมีความต้องการใช้มากขึ้น โดยได้ทำเพิ่มอีก ๘ ตัว ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทีมบัณฑิตอาสาในการช่วยฝึกอบรมการทำเจลแบบเหยียบเท้า โดยเจลแบบเหยียบเท้าได้รับแนวคิดการพัฒนามาจาก มทร. และนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่
๓)จังหวัดยะลา นำเสนอโดยนายรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล
กรณีการระบาดระลอกใหม่มาจากกลุ่มพ่อค้าทุเรียนที่มาจากจังหวัดจันทบุรี ระบาดในพื้นที่สะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งกลุ่มที่ติดเชื้อเป็นกลุ่มผู้ชายที่สัมพันธ์กับมัสยิดต่างๆ ประมาณ ๕ - ๖ มัสยิด แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้คนในพื้นที่เกิดความตระหนักกันมากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ชุมชนสามารถออกมาตรการได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง โดยใช้การวิจารณญาณประกาศปิดและควบคุมกันเอง ซึ่งเป็นมาตรการที่ชุมชนดำเนินการกันเองได้เป็นอย่างดี
๔)แลกเปลี่ยนประสบการณ์ธรรมนูญสุขภาพตำบล
๔.๑ ทบทวนหลักการและความสำคัญ และกระบวนการของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ โดยนายชาคริต โภชะเรือง
ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มีหัวข้อหลัก ๆ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่มีทั้งทำแบบเต็มรูปแบบ หรือจะทำแค่ธรรมนูญเชิงประเด็นหรือเชิงองค์กรก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วยสาระสำคัญ แบ่งเป็นส่วนๆ ดังนี้
๑)ส่วนที่ ๑ ส่วนนำ เป็นการกล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจจะมีผลในระยะเวลา ๑๐ ปีข้างหน้า ว่าด้วยสถานการณ์ สถานะของธรรมนูญ
๒)ส่วนที่ ๒ คือ นิยามศัพท์ อะไรที่เกี่ยวข้อง เช่น สุขภาพ ระบบสุขภาพ สิทธิหน้าที่ การคุ้มครอง การอภิบาลระบบ สุขภาพธรรมนูญพื้นที่ คำที่เป็นสาระสำคัญต้องมีการนิยามศัพท์เอาไว้ เป็นการให้ความหมายว่าเราให้ความหมายต่อเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในระดับพื้นที่หากมีการใช้คำภาษาถิ่นของเรา เช่น ใช้คำว่า “ชันชี” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นหรือใช้หลักศาสนาเข้ามาที่เป็นคำเฉพาะ ที่ต้องการการอธิบาย เราก็ให้ความหมายของเราว่าเรื่องนี้เราให้ความหมายของเราไว้อย่างไร ซึ่งแต่ละที่อาจให้นิยามที่แตกต่างกันได้ หรืออาจเป็นความหมายในเชิงวิถีพุทธ มุสลิมที่แตกต่างกันไป
๓)ส่วนที่ ๓ หลักการสำคัญของระบบสุขภาพ ประกอบด้วยปรัชญาและแนวคิดของระบบสุขภาพ คุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพ เรื่องของการจัดให้มีหลักประกันระบบสุขภาพ ซึ่งเป็นการอธิบายโดยหลักการว่าธรรมนูญมีความหมายว่าอย่างไร
๔)ส่วนที่ ๔ เป็นสาระรายหมวดประกอบด้วย ๑๔ หมวด คือ เรื่องสิทธิหน้าที่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค ปัจจัยคุกคามสุขภาพ การบริหารสาธารณสุข การประกันหลักสุขภาพ การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ การสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพ การเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ การสร้างและพัฒนาด้านกำลังคนด้านสุขภาพ การดำเนินการคลังด้านสุขภาพ สุขภาพจิต สุขภาพปัญญา การอภิบาลธรรมนูญสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ และปิดท้ายด้วยภาคผนวก เป็นรายชื่อคณะกรรมการที่ดำเนินการเรื่องนี้และรายชื่อกรรมการยกร่าง และเป็นรูปเล่ม
การจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล ขั้นตอนสำคัญคือหาแกนนำแกนประสานที่เข้าใจแนวคิดธรรมนูญสุขภาพ เชื่อในความสัมพันธ์ในอำนาจแบบแนวราบ ปกติอยู่ในวิถีชีวิต ความเข้าใจความเป็นมนุษย์ และการมีส่วนร่วม อาจเป็นนายกอปท.ปลัด สายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม เจ้าอาวาส ที่เป็นผู้นำมีศักยภาพ สามารถประสานความร่วมมือ มีความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง ชักชวนผู้คนได้ และชวนมาเป็นทีมกัน และสร้างการมีส่วนร่วม นำมาสู่การจัดทีมทำงาน แล้วก็เรียนรู้ปัญหาและศักยภาพของตนซึ่งทำได้หลากหลาย เช่น การใช้ฐานข้อมูล การเก็บข้อมูล แบบสอบถาม การทำกลุ่มย่อย ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดการมีส่วนร่วมที่หลากหลายที่กว้างขวาง ทำเชิงพื้นที่ เช่น ประชุมหมู่บ้าน กลุ่มย่อย เป็นการเรียนรู้ปัญหาศักยภาพของตัวเอง สามารถทำได้ทั้งสองมุมคือ มุมที่เป็นการแก้ปัญหาและต่อยอดปรับใช้ เพราะแต่ละพื้นที่มีต้นทุนเรื่องดีดีที่สามารถต่อยอดได้ เมื่อทำเรื่องพื้นฐานได้แล้วก็นำไปสู่การยกร่าง รวบรวมเป้าหมาย แนวทาง ยกตัวอย่างกรณีตำบลนาทอน จังหวัดสตูล ในการยกร่างใช้วิธีเชิญชาวบ้านมากินน้ำชา ไม่เป็นทางการ พูดคุยกันและมีทีมเลขาจับประเด็น และขึ้นกระดานแยกเป็นหมวดหมู่ หรือรับฟังความเห็นในแต่ละส่วน มีทีมยกร่าง นำร่างไปรับฟังความเห็น บางพื้นที่ชาวบ้านไม่คุ้นกับการมีส่วนร่วมในการพูดก็ต้องหาทางออกรูปแบบอื่น ซึ่งต้องปรับตามความเหมาะสม ออกแบบการมีส่วนร่วม วิเคราะห์ต้นทุนการทำงานของตัวเอง อาศัยมุมมองที่หลากหลายของทีมมาหนุนเสริม
ขณะเดียวกันก็มีการสื่อสารเพื่อสร้างกระแสรับรู้ เช่น ในพื้นที่ชะแล้ ก่อนประกาศธรรมนูญก็มีการออกสื่อข่าวช่อง ๑๑ ก่อน การสื่อสารผ่านสื่อทำให้เกิดกระแสการรับรู้สร้างความตื่นตัวได้ และยกระดับให้เป็นประเด็นสาธารณะ หลังจากยกร่างแล้วเปิดเวทีรับฟังความเห็นเป็นการประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะนำไปสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ด้วยการเขียนป้ายประกาศ ทำให้สาธารณะรับรู้ หลังจากนั้นก็นำไปสู่การปฏิบัติ การเขียนธรรมนูญควรเขียนเชิงหลักการในชิงชี้ทิศทางและแนวปฎิบัติและหากมีเจ้าภาพก็ชี้ชัดว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ มีการติดตามผล บางพื้นที่มีการติดตามผลแบบเข้มข้นมาก เช่น ทางอีสานบางพื้นที่มีการติดตามผลทุกครัวเรือนและรายงานผลประจำปี บางมาตรการมีหลายข้อตกลง มาตรการที่ทำไปแล้วไม่ได้ผลในทางปฏิบัติต้องทบทวนหรือปรับใหม่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อให้ครบวงจร
๔.๒ พื้นที่จังหวัดตรัง นำเสนอโดยพระครูเมธากร พระคิลานุปัฏฐากจังหวัดตรัง
ประเด็นสุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ การดูแลซึ่งกันและกันเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ทุกรูป ทำอย่างไรอย่าให้มีช่องว่างในเรื่องการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ ทำอย่างไรให้มีการดูแลขับเคลื่อนไปด้วยกัน
พระคิลานุปัฏฐาก เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพ ขับเคลื่อนรองรับพระสงฆ์สูงวัย สร้างการการตื่นตัวในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ โดยผลักดันให้พระสงฆ์แต่ละรูปทำหน้าที่ดูแลตัวเอง ดูแลเพื่อน ครูบาอาจารย์ การรู้หน้าที่เหล่านี้เป็นการลดช่องว่างในการดูแลสุขภาพและภาระของญาติโยม พระคิลานุปัฎฐากสามารถดูแลสุขภาพได้ เช่น เจาะน้ำตาลวัดระดับเบาหวาน วัดความดัน สิ่งที่จะทำได้คือ การสรุปผลลัพธ์ บทเรียน นำผลนี้ไปสู่การขยายผลไปยังพื้นที่อำเภอต่างๆ ซึ่งเรื่องธรรมนูญสุขภาพเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตเป็นปกติ ที่พระสงฆ์สามารถดำเนินการร่วมกันขับเคลื่อนไปกับชุมชนได้
๔.๓ พื้นที่ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย นำเสนอโดยนางสุดสวาท สังข์น้อย
ธรรมนูญตำบลคูหาไม่ทอดทิ้งกัน ดำเนินการใน ๒ เรื่องคือ เรื่องการจัดการขยะและกลุ่มเปราะบาง เรื่องกลุ่มเปราะบางเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบาง นำข้อมูลมาแจกแจงว่าแต่ละคนมีความจำเป็นต้องการสนับสนุนอย่างไร นอกจากนี้ได้รับงบประมาณจากโครงการ Node flagShip สงขลา เพื่อเก็บข้อมูลคนเปราะบางทั้งหมดว่ามีใครบ้าง นำข้อมูลเข้าที่ประชุมประชาคมที่ประชุมหมู่บ้าน มีการกลั่นกรอง เพื่อสร้างการมีส่วนจากทุกภาคส่วน โดยแนวคิดธรรมนูญคนคูหาไม่ทอดทิ้งกันมีเจ้าอาวาสวัดคูหาเป็นแกนนำสำคัญในการจุดประกาย โดยเยี่ยมญาติโยมทุกวันพระ นำของที่ได้จากการบิณฑบาต นำไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือสิ่งของที่ได้จากงานศพ เช่น พัดลม นำไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง มีการจัดคิดเพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจญาติโยม หากคิวไหนด่วนก็จะให้สิทธิ์พิเศษและให้โอกาสคนติดเตียงระยะสุดท้ายได้มีการฟังธรรมะ และทำบุญ เพื่อความสบายใจของผู้ติดเตียงระยะสุดท้าย
ได้มีการศึกษางานวิจัยของโรงพยาบาลสะบ้าย้อย บูรณาการงบประมาณจากโครงการ Node flagShip สงขลา ทำกระบวนการในการจัดทำแผนพัฒนา เกิดเป็นแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล มีทั้งหมด ๒๑๕ คน แยกเป็นตารางว่าคนไหนติดเตียง คนไหนต้องการการช่วยเหลือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต แยกเป็นแผนด้านคุณภาพชีวิต เช่น การซ่อมบ้าน เยี่ยมบ้าน การให้ขวัญกำลังใจแยกเป็นรายคน ตารางการทำงานทั้งหมดจะรวมที่ศูนย์สร้างสุขตำบลคูหา ซึ่งศูนย์สร้างสุขตำบลคูหา เป็นศูนย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพอบจ.สงขลา มีผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด และกายอุปกรณ์ และผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟู ซึ่งส่งต่อมาจากโรงพยาบาล และพบว่าผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลที่ต้องได้รับการกายภาพบำบัด เป็นส่วนหนึ่งที่หลุดจากระบบกายภาพบำบัด จึงนำศูนย์สร้างสุขไปไว้ใกล้ๆ บ้านเพื่อให้สะดวกต่อการให้บริการ
นอกจากนั้นยังมีธรรมนูญหมู่บ้านห้วยเต่า โดยมีสภาเยาวชนห้วยเต่า ซึ่งได้ไปศึกษาดูงานที่ตำบลนาทอน จังหวัดสตูล ทำให้เกิดการจุดประกาย เป็นการบันทึกข้อตกลง “พฤกษ์ชันชี” แปลว่าข้อตกลงห้วยเต่ากำปงกีตอ ถือว่าเป็นการทำงานที่ประสบความสำเร็จในการบูรณาการการทำงาน การทำงานประกอบด้วยสภาเยาวชน สภาศาสนา สภาแม่บ้าน สภาผู้สูงอายุ มีทีมย่อย ๆ ในหมู่บ้านที่เป็นกลไกในการทำงาน และมีข้อตกลงของเยาวชนในลักษณะพี่ดูแลน้อง น้องคนไหนที่ใกล้จะเรียนจบและมีความเสี่ยง พี่จะเชิญชวนน้องไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ฟุตบอล กิจกรรมเก็บขยะ ชวนเชิญให้ทำกิจกรรมดีดีมีคุณค่าต่อสังคม นอกจากนี้สภาเยาวชนยังได้รับจ้างถางสวนเพื่อหาซื้อที่ดิน ตอนนี้ตกลงซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ สภาเยาวชนมีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ปัจจุบันมีการจัดทำน้ำดื่มสภาเยาวชนห้วยเต่า โดยมีข้อตกลงว่าในกำไร ๑ ขวด ต่อ ๑ สตางค์ จะนำไปช่วยกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในช่วงโควิดที่แล้วได้มีส่วนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ในการซื้อแมสให้กับผู้สูงอายุ และจัดทำตู้ปันสุข
Relate topics
- ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับพื้นที่นำร่องชุมชนสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านความมั่นคงทางอาหารภาคใต้
- สงขลา "ความสุขเริ่มที่บ้าน : ปรับสภาพบ้านคนพิการติดเตียงสิทธิ์บัตรทอง"
- ผนึกพลัง 24 องค์กรเครือข่ายร่วมจัดทำบันทึกความร่วมมือ(MOU)ข้อตกลงธรรมนูญสถานศึกษาปลอดภัย ป้องกันปัจจัยเสี่ยง ฯ ในเด็กและเยาวชน จังหวัดนครศรีธรรมราช
- เวทีสานพลังเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะภาคใต้ เน้นประเด็นความมั่นคงทางอาหาร มนุษย์ สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการขับเคลื่อนแผนชุมชนสู่การพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการจังหวัดพัทลุง
- เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก เปิดพื้นที่ “Let’s play festival” ปีที่ 2 เล่นอิสระใกล้บ้าน เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้
- งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 (วันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2567)
- เยาวชนต้องพร้อม สู่อาสาสมัครรับมือน้ำท่วม (สงขลา)
- การหารายได้เสริมจากผักที่เราปลูก: กรณีของ “กะละห์” ต้นแบบจาก Node สสส.ปัตตานี
- จังหวะก้าว งานสร้างสุขภาคใต้ปี 2568