"คนคูหาไม่ทอดทิ้งกัน"

photo  , 720x540 pixel , 100,218 bytes.

"คนคูหาไม่ทอดทิ้งกัน"

นางสุดสวาท สังข์น้อย หน.สำนักปลัดอบต.คูหา เล่าว่าธรรมนูญตำบลคูหาไม่ทอดทิ้งกัน ดำเนินการใน ๒ เรื่องคือ เรื่องการจัดการขยะและกลุ่มเปราะบาง เรื่องกลุ่มเปราะบางเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบางร่วมกับมูลนิธิชุมชนสงขลา นำข้อมูลมาแจกแจงว่าแต่ละคนมีความจำเป็นต้องการสนับสนุนอย่างไร นอกจากนี้ได้รับงบประมาณจากโครงการ Node Flagship สสส.สงขลา เพื่อเก็บข้อมูลคนเปราะบางทั้งหมดลงในแอพฯiMed@home ว่ามีใครบ้าง นำข้อมูลเข้าที่ประชุมประชาคมที่ประชุมหมู่บ้าน มีการกลั่นกรอง เพื่อสร้างการมีส่วนจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้แนวคิดธรรมนูญคนคูหาไม่ทอดทิ้งกันมีเจ้าอาวาสวัดคูหาเป็นแกนนำสำคัญในการจุดประกาย โดยเยี่ยมญาติโยมทุกวันพระ นำของที่ได้จากการบิณฑบาต นำไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือสิ่งของที่ได้จากงานศพ เช่น พัดลม นำไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง มีการจัดคิดเพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจญาติโยม หากคิวไหนด่วนก็จะให้สิทธิ์พิเศษและให้โอกาสคนติดเตียงระยะสุดท้ายได้มีการฟังธรรมะ และทำบุญ เพื่อความสบายใจของผู้ติดเตียงระยะสุดท้าย

บวกการศึกษางานวิจัยของโรงพยาบาลสะบ้าย้อย บูรณาการงบประมาณจากโครงการ Node Flagship สสส.สงขลา ทำกระบวนการในการจัดทำแผนพัฒนา เกิดเป็นแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล มีทั้งหมด ๒๑๕ คน แยกเป็นตารางว่าคนไหนติดเตียง คนไหนต้องการการช่วยเหลือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต แยกเป็นแผนด้านคุณภาพชีวิต เช่น การซ่อมบ้าน เยี่ยมบ้าน การให้ขวัญกำลังใจแยกเป็นรายคน ตารางการทำงานทั้งหมดจะรวมที่ศูนย์สร้างสุขตำบลคูหา ซึ่งศูนย์สร้างสุขตำบลคูหา เป็นศูนย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพอบจ.สงขลา มีผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด และกายอุปกรณ์ และผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟู ซึ่งส่งต่อมาจากโรงพยาบาล และพบว่าผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลที่ต้องได้รับการกายภาพบำบัด เป็นส่วนหนึ่งที่หลุดจากระบบกายภาพบำบัด จึงนำศูนย์สร้างสุขไปไว้ใกล้ๆ บ้านเพื่อให้สะดวกต่อการให้บริการ

กิจกรรมภายใต้ศูนย์สร้างสุขตำบลคูหามีการเยี่ยมบ้าน และงานการแพทย์แผนไทย ทำเป็นแผนสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตรายบุคคลในระดับตำบล นำเรื่องความจำเป็นมาบรรจุในแผนพัฒนาของอบต.และออกข้อบัญญัติด้านงบประมาณรายจ่าย ทั้งด้านแผนงานงบประมาณสาธารณสุข ความเข้มแข็งของชุมชน ประมวลผลและวางแผน เป็นการบูรณาการการทำงานให้เป็นงานประจำของตำบล

นอกจากนั้นยังมีธรรมนูญหมู่บ้านห้วยเต่า โดยมีสภาเยาวชนห้วยเต่า ซึ่งได้ไปศึกษาดูงานที่ตำบลนาทอน จังหวัดสตูล ทำให้เกิดการจุดประกาย เป็นการบันทึกข้อตกลง “พฤกษ์ชันชี” แปลว่าข้อตกลงห้วยเต่ากำปงกีตอ ถือว่าเป็นการทำงานที่ประสบความสำเร็จในการบูรณาการการทำงาน การทำงานประกอบด้วยสภาเยาวชน สภาศาสนา สภาแม่บ้าน สภาผู้สูงอายุ มีทีมย่อย ๆ ในหมู่บ้านที่เป็นกลไกในการทำงาน และมีข้อตกลงของเยาวชนในลักษณะพี่ดูแลน้อง น้องคนไหนที่ใกล้จะเรียนจบและมีความเสี่ยง พี่จะเชิญชวนน้องไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ฟุตบอล กิจกรรมเก็บขยะ ชวนเชิญให้ทำกิจกรรมดีดีมีคุณค่าต่อสังคม นอกจากนี้สภาเยาวชนยังได้รับจ้างถางสวนเพื่อหาซื้อที่ดิน ตอนนี้ตกลงซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ สภาเยาวชนมีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ

ปัจจุบันมีการจัดทำน้ำดื่มสภาเยาวชนห้วยเต่า โดยมีข้อตกลงว่าในกำไร ๑ ขวด ต่อ ๑ สตางค์ จะนำไปช่วยกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในช่วงโควิดที่แล้วได้มีส่วนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ในการซื้อแมสให้กับผู้สูงอายุ และจัดทำตู้ปันสุข นอกจากนี้มีข้อตกลงกับทีมสภาศาสนาในการทำข้อตกลงที่จะไม่ประพฤติผิดประเวณีก่อนวัยอันควร ในหมู่บ้านใครที่ทำผิดจะให้แต่งงานเลย แต่ให้มีคนไปร่วมได้เพียงไม่เกิน ๓๐ คน  เป็นมาตรการที่ให้คนไปร่วมได้แต่ไม่ให้แสดงความยินดี เป็นการลดความเสี่ยงในกลุ่มเด็กเยาวชนที่ล่วงละเมิดในทางเพศ
ส่วนสภาผู้สูงอายุ จะมีกิจกรรมในการส่งเสริมการอ่านอัลกุรอาน และพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ คือ โรงเรียนผู้สูงอายุวิถีมุสลิม มีทีมนักวิชาการและทีมศาสนาจะประมวลสังเคราะห์การเรียนรู้ ว่ากิจกรรมอะไรที่ทำได้อะไรทำไม่ได้ ซึ่งหลักสูตรการเรียนรู้กำหนดไว้ใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นระยะเวลา ๑๕๐ ชั่วโมง ตอนนี้โดยอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตรโดยทีมคณะแพทย์มอ.ร่วมกับ กศน. และโรงพยาบาลสะบ้าย้อย

การรับมือสถานการณ์โควิดภายใต้ธรรมนูญสุขภาพ ตำบลห้วยเต่ามีคนเข้ามาเยอะมาก ส่วนหนึ่งเป็นวัยรุ่นที่เรียนจบหรือไม่จบแล้วไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้ต้องเดินทางกลับบ้าน ซึ่งชุมชนต้องรองรับการกลับมา มีการกักตัว ๑๔ วัน ในการช่วยเหลือมีทีมหมู่บ้าน ทีมคณะต่าง ๆ จะมีการเตรียมสถานที่ ทีมแม่บ้านทำอาหาร ทีมอสม.ตรวจวัดอุณหภูมิทุกวัน อาหารแบ่งเป็นคนที่กักตัวและทำกับข้าวเองที่บ้านได้ จะให้เงินเป็นค่าอาหาร ส่วนคนที่กลับมาแล้วไม่มีใครทำอาหารให้ จะให้มีการกักตัวที่ศูนย์กักตัว และจะมีสภาแม่บ้านนำอาหารมาส่งให้ โดยอบต.สนับสนุนค่าใช้จ่าย ซึ่งทุกอย่างจะมีการร่วมกันคิดร่วมกันทำ

กระบวนการทำงานโดยการร่วมกันคิดร่วมกันทำ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้น คือ คือแนวคิดคนคูหาไม่ทิ้งกัน เช่น เคสผู้สูงอายุไม่มีญาติแล้วป่วยด้วยเส้นเลือดในสมอง นอนอยู่ที่บ้านคนเดียว ซึ่งในชุมชนจะมีการช่วยกันดูแลโดยจะมีอาสาพยาบาลมาดูแล ผู้ใหญ่บ้านลงมาช่วยติดตาม และในการเยี่ยมบ้านใช้หลัก “อยู่อย่างมีความสุขและจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

การดำเนินงานทั้งหมดระดับตำบลมีคณะทำงานที่เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลรับผิดชอบ มีเจ้าอาวาสวัดคูหาเป็นที่ปรึกษาหลัก มีกำนัน นายกอบต. กรรมการมัสยิด โต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการชุดใหญ่ที่ดูแลทุกเรื่อง เช่น สถานการณ์โควิด การเยี่ยมบ้านผู้เปราะบาง กรรมการมีบทบาทสำคัญเข้ามาตัดสินและจัดการทุกอย่าง เริ่มต้นจากธรรมนูญที่จุดประกายโดยเจ้าอาวาส โดยใช้งานวิจัยและการประมวลผล ให้เป็นรูปแบบที่เข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการช่วยเหลือ โดยการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล นำรายชื่อมาดูร่วมกันกับผู้ใหญ่บ้าน รพสต. ว่าคนกลุ่มไหนที่ควรดูแลก่อน หรือควรได้รับการช่วยเหลือก่อน เช่น กลุ่มที่ถูกเลิกจ้างงาน กลุ่มที่อพยพมาจากประเทศมาเลเซีย มีการประชุมว่าจะส่งรายชื่อกลุ่มไหนเพื่อให้รับการพิจารณาช่วยเหลือ กลุ่มไหนจำเป็นเร่งด่วน จะมีการพูดคุยกันทุก ๓ เดือน เช่น กรณีซ่อมบ้านจะนำเสนอเข้าสู่เวทีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล แนะนำช่องทางการช่วยเหลือ เช่น การของบประมาณช่วยเหลือจาก อบจ. โรงพยาบาล กองทุนตำบล ฯ  “ใช้การขับเคลื่อนพลัง ๔ บวก ๑ คือท้องที่ท้องถิ่นหน่วยงานราชการ ภาคประชาชน และศาสนา ”เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจ

การประสานการทำงานในอบต.คูหา มีวิธีการบริหารจัดการ มีการประชุมกันทุกเดือน โดยหัวหน้าส่วน ผอ.กอง ทุกคนมาคุยและติดตามการทำงานทุกเดือน เช่น การทำงานจะมีการแจ้งกิจกรรม ขอตัวแทนแต่ละกองในการร่วมกิจกรรม จะร่วมกันทำงาน ไม่ได้แบ่งกันว่าเป็นของใคร งานพัฒนาชุมชน จะร่วมกับงานบริหารขยะ ใครเป็นเจ้าภาพหลักก็จะมีคนอื่นร่วมเป็นเจ้าภาพรอง จะไม่ทิ้งให้นักพัฒนาชุมชนหรือนักวิชาการทำงานเพียงคนเดียว กองช่างทำอะไรจะช่วย เช่น  งานมัสยิดต่าง ๆ จะมีทีมในการช่วยเตรียมสถานที่ โดยการร่วมคิดร่วมกันว่างานจะเริ่มวันไหน เป้าหมายเป็นอย่างไร เราจะทำงานร่วมกันอย่างไร

Relate topics