"การดูแลกลุ่มเปราะบาง เยาวชนนอกระบบการศึกษา"

photo  , 1080x810 pixel , 105,009 bytes.

"การดูแลกลุ่มเปราะบาง เยาวชนนอกระบบการศึกษา"
นำเสนอโดยนางสาวกัญนภัส จันทร์ทอง สมาคมอาสาสร้างสุข  งานวันพลเมืองสงขลา ปี ๒๕๖๕ วันที่ ๒๘ กันยายน ที่ผ่านมา

๑)บทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง เป้าหมายหลักคือพัฒนาและส่งเสริมอาสาสมัครเพื่อส่งเสริมด้านสุขภาวะในพื้นที่ทั้งภาคใต้ ที่ผ่านมาทำงานกับภาคีต่างๆ ในภาคใต้ ประเด็นหลักคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน ทำเรื่องของบ้านสร้างสุขร่วมกับ พมจ. ผ้าสร้างสุขที่ใช้ผ้ามือสองในการระดมทุน รับบริจาคชุดนักเรียนรองเท้ากระเป๋า บางครั้งสาเหตุเล็กๆ คือ ไม่มีรองเท้าใส่ไปโรงเรียน หรือไม่มีเสื้อผ้าใหม่ นโยบายเรียนฟรีไม่มีจริง บางเคสเป็นสาเหตุให้เด็กบางคนต้องออกจากระบบเพื่อมาทำงาน หยุดเรียนเสียสละให้น้องเรียน

๒)ได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในพื้นที่ ๕ จังหวัดคือตรัง พัทลุง สงขลา และปัตตานี ซึ่งได้มีการช่วยเด็กนอกระบบได้ถึง ๘๐๐ คน ใช้กลไกของพี่เลี้ยง เด็กหนี่งคนหากไม่จบ ม.๓ แต่มีชื่ออยู่ในโรงเรียนจะเรียกว่าเด็กแขวนลอย จะมีชื่อจนกว่าอายุ ๑๕ ปี จึงจะเอาชื่อออกจากระบบได้ เพราะนโยบายกำหนดว่าเด็กต้องเรียนจบชั้นมัธยมคือมีแต่ชื่อแต่ไม่มีตัว ช่วงออนไลน์เด็กติดศูนย์ติด ร จนแก้ไม่ได้ ทำให้เด็กออกจากระบบกลางคัน และไม่ได้เรียนต่อ ซึ่งเป็นปัญหาเล็กๆ หากแก้ปัญหาให้เด็กสามารถจบแล้วเรียนต่อได้จะสามารถสร้างโอกาสให้เด็กได้อีกมาก

๓)จากข้อมูล TPMAP มีเด็กนอกระบบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คนภาพรวมทั้งประเทศ สงขลาประมาณ ๒๐,๐๐๐ คนคือเด็กยากจนและยากจนพิเศษเกือบ ๑๐,๐๐๐ คน คือครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท หากเด็กออกจากระบบก็จะมีปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาติดยา ฉกชิงวิ่งราวลักทรัพย์เด็กเหล่านี้ก็จะไปอยู่ที่สถานพินิจ แม้ว่าสถานพินิจจะมีการเรียนรองรับ แต่เด็กบางคนก็เรียนไม่จบและออกไปอยู่ในชุมชนและไม่ได้เรียนต่อ  ซึ่งมีหลายเคส โดยในการช่วยเหลือดูตั้งแต่อาชีพของพ่อแม่ ช่วยเหลือทั้งระบบ ปัญหาที่พบมากคือทะเบียนบ้านกับตัวอยู่กันคนละที่ ใช้กระบวนการพาตัวแล้วติดต่อญาติ เพื่อทำบัตรประชาชนเพื่อให้มีสิทธิทางทะเบียนราษฏร์ และเพื่อให้เข้าเรียนตามระบบได้ บางเคสไม่มีเงินจ่ายค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ๕๐๐ บาท โดยพาไปให้จ่ายค่าคอมพิวเตอร์ให้กับสถานบันการศึกษา และแก้ปัญหาให้เด็กได้เข้าเรียนในระบบตามเดิม ซึ่งชวนภาคีจังหวัดสงขลามาคุยเรื่องข้อมูลเด็กนอกระบบทุกรูป ซึ่งหน่วยงานจะมีข้อมูลคนละชุด ยิ่งเด็กที่ไม่มีข้อมูลในสำเนาทะเบียนราษฏร์เด็กจะเข้าไม่ถึงข้อมูลหรือสิทธิต่างๆ ทำอย่างไรให้เข้าถึงระบบข้อมูล ทำอย่างไรให้เด็กมีชื่อในฐานข้อมูลหนึ่งเดียวและได้รับการช่วยเหลือทั้งระบบ และมีชื่อในระบบ ซึ่งเลข ๑๓ หลักที่มีอยู่ไม่สามารถนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กหลุดออกจากระบบไปแล้วก็ไม่สามารถติดตามได้

๔)ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการจัดการศึกษาในพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ร่วมกับกรรมาธิการในเรื่องของการศึกษา ให้เห็นว่าปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของสังคม เรื่องของความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญมาก เด็กใต้เกิดเยอะที่สุดแต่เข้าถึงคุณภาพการศึกษาน้อย ได้มีการจัดทำเวทีร่วมกับ ๔๐ องค์กรมีการจัดทำ Mapping เพื่อช่วยเหลือเด็ก ทำเป็นฐานข้อมูลกลางให้สามารถช่วยเหลือเด็กหนึ่งคนได้ทั้งระบบ และมีการส่งต่อข้อมูลเพื่อช่วยเด็ก มีการวางแผน หรืออาจต้องทำแคร์แพลน เหมือนกรณีผู้ป่วยหนึ่งคนแล้วได้รับการช่วยเหลือทั้งระบบ ซึ่งเป็นความท้าทายในสิ่งที่จะทำ เพื่อให้รู้ว่าหากเรียนจบแล้วไปไหนต่อได้อีกบ้าง เป้าหมาย ๕ ปีจะลดเป้าหมายเด็กที่ออกจากระบบให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบ เด็กที่อยู่นอกระบบจะกลายเป็นแรงงานนอกระบบหรือแรงงานขั้นต่ำ เช่น งานโรงงาน ก่อสร้าง บางคนมีภาพฝัน แต่เด็กที่ออกกลางคันส่วนใหญ่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากงานในระบบรับเด็กที่จบม.๓ เป็นพื้นฐาน

๕)สิ่งที่จะทำต่อคือการศึกษาตามอัธยาศัย คือ องค์กรภาคประชาสังคมหรือภาคเอกชนสามารถเปิดศูนย์การเรียนเพื่อออกวุฒิบัตรการศึกษาที่สามารถออกการเรียนการสอนแล้วเทียบวุฒิให้กับเด็กได้ เด็กจะเรียนที่ไหนก็ได้ อาชีพไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักเรียนแต่สามารถเรียนออนไลน์เรียนผ่านประสบการณ์วิชาชีพ แล้วเทียบวุฒิเพื่อให้สามารถทำในอาชีพที่ใฝ่ฝัน เพื่อต่อยอดภาพฝันให้กับเด็กที่ขาดโอกาส กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เด็กกลุ่มเสี่ยง คือเด็กในระบบโรงเรียน ซึ่งห้องเรียนหนึ่งห้องไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน อาจต้องมีห้องพิเศษให้เด็กได้เรียนต่างหาก ให้สามารถเรียนจบ ม.๓ อีกส่วนคือเด็กหลุดออกจากระบบ/ไม่ได้เรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเร่ร่อนที่พ่อแม่เปลี่ยนอาชีพไปเรื่อยๆ จะช่วยอย่างไรให้สามารถเข้าสู่ช่องทางการศึกษานอกระบบ หรือสนับสนุนทักษะอาชีพ โดยกลไกศูนย์การเรียนเป็นหน่วยในการสบันสนุน สำหรับเด็กที่มีโอกาสเลือก เช่น บ้านเรียน หรือศูนย์การเรียน และอีกส่วนคือเด็กในกระบวนการยุติธรรม ได้มีการเชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนที่สุราษฏร์ธานี เป็นการช่วยเหลือเด็กที่อยู่นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กที่เรียนในศูนย์นี้ประมาณ ๑๕ คน เด็กควรออกจากสถานพินิจด้วยวุฒิ ม.๓ แล้วสามารถเรียนต่อหรือประกอบอาชีพได้ ไม่ต้องเริ่มใหม่หรือนับหนึ่งใหม่ เพื่อสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ โดยมีทีมติดตามเด็กที่ออกจากสถานพินิจ มีการประเมินวางแผนเพื่อให้เด็กกลับสู่ครอบครัว ชุมชนหรือโรงเรียน และได้ร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด โดยมีโครงการพาน้องกลับมาเรียน จากฐานข้อมูลเด็กหลุดจากระบบไปประมาณ ๔,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ คน ซึ่งเด็กหายไปครึ่งหนึ่ง จากหลายสาเหตุคือย้ายตามพ่อแม่และส่วนหนึ่งไปอยู่ในสถานพินิจ เป้าหมายหลักคือพบผู้ว่าเพื่อให้เกิดกลไกคณะทำงานจังหวัด ซึ่งการช่วยเหลือเด็กหนี่งคนต้องช่วยกันทั้งระบบ โดยใช้ฐานข้อมูลชุดเดียวกัน

๖)กิจกรรมที่จะทำต่อคือการจัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดให้ได้ โดยทุกหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันเป็นประเด็นร่วม การจัดทำแผนความร่วมมือระหว่างจังหวัด ค้นหาโจทย์ร่วม การออกแบบหลักสูตรการเรียน ทำอย่างไรให้เด็กอยู่ในชุมชนแล้วอยู่ในระบบฐานชุมชนแต่สามารถออกเทียบวุฒิได้ และการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายในการค้นหาเคสเพื่อส่งต่อข้อมูล และเชื่อมโยงกับเรื่องอาหารปันสุขมาสู่การช่วยเหลือ ลงเยี่ยมและเก็บข้อมูลต่อไปโดยต้องช่วยเหลือกันในทุกภาคส่วน ซึ่งมีสมาคมอาสาสร้างสุขเป็นกลไกกลางในการช่วยเหลือ โดยต้องช่วยเหลือให้เร็วที่สุด แผนระยะยาวคือต้องมีโรงเรียนต้นแบบในการช่วยเหลือ เช่น ห้องต้นแบบที่นำเด็กที่ใกล้หลุดกลางคัน จัดการเรียนการสอนในสิ่งที่เด็กชอบเพื่อให้จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีตำบลต้นแบบเพื่อขับเคลื่อนให้เด็กทุกคนจบ ม.๓ การวางแผนเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบให้สามารถเรียนต่อหรือทำงานต่อได้

#สังคมเป็นสุข

Relate topics