ทบทวนเพื่อก้าวต่อ "ธรรมนูญพื้นที่ภาคใต้"
ทบทวนเพื่อก้าวต่อ "ธรรมนูญพื้นที่ภาคใต้"
(1)
เผลอแปปเดียว 15 ปีแล้ว (2551-2566) จากธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ที่ก่อเกิดเป็นที่แรกของประเทศ กับการขยายผลธรรมนูญพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบัน
วันที่ 1-2 กันยายน 2566 จังหวะเวลาลงตัวให้พื้นที่ปฏิบัติการทำธรรมนูญตั้งแต่พื้นที่แรก ได้แก่"ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้" จ.สงขลา รุ่นขยายผลที่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เรียนรู้สำคัญ "ชันชีนาทอน" จากสตูล และอีกหลากหลายพื้นที่ในภาคใต้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี และยะลา รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) ได้มาเจอกันในเวทีนี้ได้ชวนกันทบทวนเรียนรู้ร่วมกัน
หลังจากชวน check in ตัวเองแล้วด้วยกราฟใยแมงมุมแล้วก็ต่อด้วยการชวนทบทวนเส้นทางการทำธรรมนูญพื้นที่ตนเอง ที่มา คนสำคัญ หมวดหมู่สำคัญในธรรมนูญ และประเด็นที่นำไปขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ให้เวลาได้ทบทวนประมาณ 15 นาที
ต่อจากนั้นเป็นการชวนกันให้เล่าเรื่องราวธรรมนูญของแต่ละพื้นที่ ในประเด็น 1.เป้าหมายในการแก้ปัญญา 2.กระบวนการขับเคลื่อน 3.ปัญหาอุปสรรค
กลุ่มของผมในประเด็นรองรับสังคมสูงวัย มีทั้งจากต.บาโงย จ.ยะลา ต.เขาพัง จ.สุราษฏร์ธานี ต.เกาะสุกร และต.ท่าพญา จาก จ.ตรัง กลุ่มย่อยนี้ชวนกันได้เล่าเรื่องสำหรับโจทย์ในการแลกเปลี่ยนธรรมนูญพื้นที่ ได้แก่
1)เป้าหมายในการแก้ปัญหา
2)กระบวนการขับเคลื่อน
3)ปัญหาอุปสรรค
ผลการพูดคุยจะถูกให้นำเสนอในเช้าวันพรุ่งนี้ ก่อนแยกย้ายกลับที่พักก่อนรับฟังเรื่องราวการสร้างข้อตกลงจัดการทรัพยากรที่บ้านช่องฟืน
(2)
ชมทะเลหน้าบ้านช่องฟืน
หลังจากเมื่อวานเรามีโอกาสฟังพี่แดง สุภาภรณ์ พรรณราย แกนนำชุมชนบ้านช่องฟืน พี่เสณี เสณี จ่าวิสูตร พี่ฉิ้ม เบญจวรรณ เพ็งหนู พี่เลี้ยงจังหวัดเล่าเรื่องราวการจัดการทรัพยากร การกำหนดกติกาจัดการทะเลหน้าบ้าน
เช้านี้แม้อากาศจะไม่เป็นใจมากนัก แต่ทีมพวกเรา 20 กว่าคนที่อยากล่องทะเลสาบก็มาพร้อมกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านเพื่อชมทะเลบ้านช่องฟืน เรือ 4 ลำเตรียมไว้แล้ว Let's go ลงเรือ ชมทะเลสาบ และแวะเยือนเกาะกระ
(3)
ชมทะเลหน้าบ้านช่องฟืน กับโอกาสไปต่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน
พวกเรานั่งเรือจากท่าที่บ้านผู้ใหญ่เพื่อไปชมความงามทะเลหน้าบ้านของชาวช่องฟืน
ด้วยข้อจำกัดเรื่องดินฟ้าอากาศกับเวลาตอนเช้าก่อนประชุมทางเจ้าบ้านจัดโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนให้เราไปชมเกาะกระ ในทะเลสาบสงขลาที่อยู่ไม่ไกลจากฝั่ง กับชมเขตพื้นที่เขตปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เขตห้ามล่อล้อมกระทุ้งน้ำ กติกาของชุมชนในการจัดการทะเลหน้าบ้าน
เกาะกระ เกาะเล็ก ๆ ที่เราสามารถเดินได้รอบเกาะในเวลาประมาณเพียงครึ่งชั่วโมง มีธรรมชาติที่แปลกตาหลายจุด ผสมผสานกับการสร้างสิ่งก่อสร้างรูปเคารพ
เพียงเดินขึ้นจากท่าเรือเราก็พบกับสระกระจก บ่อน้ำใสที่สะท้อนหินงอกหินย้อย เดินต่อมาไปทางทิศตะวันออกก็มีจุดเถาวัลย์โบราณ เถาวัลย์ที่บ่งบอกอายุว่าอยู่หลายชั่วอายุคน ต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง ประตูข้ามกาลเวลา รอบเกาะมีจุดที่มีรูปเคารพที่หลากหลายส่วนใหญ่สไตล์จีน มีรูปปั้นนักษัตร มีรูปหลวงพ่อทวด พระพุทธรูป ตั้งกระจายไปตามจุดต่าง ๆ เราพบหินสีแปลกตาอยู่หลายจุดทีเดียว
ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าในอดีตชาวบ้านจะมาที่เกาะกระก็มีนำหินไปเผาใช้เป็นส่วนผสมในการก่อสร้าง นอกจากนี้ก็มีมาเอาขี้ค้างคาว สำหรับการก่อสร้างที่มีลักษณะออกสไตล์จีน มีการจัดวางรูปเคารพที่ชาวจีนนับถือ เพราะมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้ามาพัฒนาพื้นที่เกาะ และมีกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเป็นจีนจากมาเลเซียและสิงค์โปร์ สิ่งก่อสร้างที่ทรุดโทรมไปบ้างก็จากเหตุการณ์ระบาดของโควิด
ทีมเราหยุดเก็บภาพกันหลายจุด ด้วยท่านผู้ใหญ่บ้านนอกจากเป็นคนนำเที่ยวคอยเล่าเรื่องแล้ว ยังช่วยแนะนำจุดถ่ายภาพและเป็นตากล้องให้ด้วย
เชื่อเหลือเกินว่าความลงตัวของสภาพเกาะที่ไม่กว้างใช้เวลาไม่นาน มีความสวยงามแปลกตาของธรรมชาติหลายจุด ถ้ามีการมาปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ภายใต้ความเข้าใจเรื่องอารยสถาปัตย์เพิ่มมากขึ้นจะช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้เกาะกระเพิ่มขึ้นและเป็นอีกหมุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญทะเลสาบสงขลา เชื่อมโยงอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนแน่นอน
ฟ้าส่งสัญญาณครึ้มมาแต่ทิศตะวันตก ท่านผู้ใหญ่รีบให้สัญญาณพวกเรากลับเข้าฝั่ง แผนที่จะได้ไปชมการยกไซกุ้งต้องปรับออกไป ขากลับพี่คนขับเรือพาเราชมแนวเขตพื้นที่เขตปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เขตห้ามล่อล้อมกระทุ้งน้ำ
เครื่องมือประมงที่เห็นในแนวนี้คือไซที่ไว้ดักกุ้งมัน และกุ้งก้ามกราม นึกถึงเมนูต้มยำกุ้งของเมื่อวานก็ได้จากไซเหล่านี้แหละ 55
เผลอแปปเดียวก็เกือบ 2 ชั่วโมง ท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชุมชนประมงบ้านช่องฟืน รู้สึกว่าต้องกลับมาซ้ำเพราะยังไม่จุใจ แต่เชื่อเหลือเกินว่าด้วยศักยภาพพื้นที่ที่เป็นเฉพาะ ประสบการณ์จัดการบริหารจัดกลุ่มประมงมาอย่างยาวนานจะเป็นต้นทุนเพื่อต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านช่องฟืนต่อไป
(4)
ผลึกความคิด "แกงหม้อนี้ถ้าไม่อุ่นก็บูด"
เช้านี้ (2 กันยายน 2566) หลังจากกลับจากทริปชมทะเลหน้าบ้าน และกินข้าวเช้าแบบง่าย ๆ สไตล์ชาวบ้านที่นี่
เราเริ่มกระบวนการด้วยการให้ตัวแทนนำเสนอเนื้อหาการพูดคุยกับกลุ่มย่อยธรรมนูญในประเด็นหลักต่าง ๆ อาทิ ด้านทรัพยากร ด้านรองรับสังคมสูงวัย ด้านอาหารปลอดภัย เป็นต้น
ต่อจากนั้นก็เป็นกระบวนการให้แต่ละคนได้สะท้อนความคิดเห็น 3 ข้อ
1)การเรียนรู้เรื่องธรรมนูญ
2)จะกลับไปทำอะไรต่อ
3)ข้อเสนอแนะต่อบ้านช่องฟืน
สำหรับผมกระบวนการ 2 วัน 1 คืนในครั้งนี้ และการทบทวนกับตัวเองต่อกระบวนการธรรมนูญพื้นที่ก่อนหน้านี้ ความคิดต่อเรื่องนี้ก็ค่อย ๆ ตกผลึก
บางอย่างผมแลกเปลี่ยนไปในเวทีบางอย่างก็ปิ๊งแว๊ปต่อหลังการประชุมแล้ว
ก็เลยขอมาบันทึกเก็บไว้
-ธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของคนในชุมชนต่อเรื่องราวหรือประเด็นร่วมที่อยากแก้ปัญหาหรืออยากให้เกิดขึ้นในชุมชน ถ้า สช. ก็จะใช้คำว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
-ธรรมนูญเป็นเรื่องของชุมชน สังคม ไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องชวนคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ เข้ามามีส่วนร่วม
-ธรรมนูญต้องมีเวลา "บ่ม" กระบวนการทำธรรมนูญไม่ใช่เพียงเป็นการประชุม หรือการทำเอกสารเพียงชุดใดชุดหนึ่ง แต่ต้องเป็นกระบวนการที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดแล้วชักชวนผู้คนออกเดินทาง ลุกขึ้นมาลงมือทำ จึงต้องมีระยะเวลาในการบ่ม ทั้งการมีคณะก่อการดี ทั้งกระบวนการบ่มความคิดในประเด็นนั้น ๆ ที่ต้องเป็นวาระร่วม การมีวงคุยทั้งเป็นทางการไม่เป็นทางการ การค้นหาข้อตกลงที่เหมาะสม การใช้เวลาในการสร้างการมีส่วนร่วม ก่อนมีฉันตามติร่วมกัน
-ข้อตกลง ข้อชันชี ข้อกติกา ควรเริ่มจากข้อตกลงสิ่งที่ทำได้ และเป็นสิ่งที่มีคนจะเป็นคนทำ ไม่ใช่เพียงคิดให้ใครคนใดคนหนึ่งทำเท่านั้น เริ่มจากน้อยไปหามาก จะช่วยสะสมกำลังใจ ช่วยสะสมความเชื่อความเป็นไปได้ต่อเครื่องมือนี้
-สุดท้ายแกงหม้อนี้ต้อง "อุ่น" ผลึกความคิดจากพี่สมยศ ฤทธิ์ธรรมนาท ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันชันชีนาทอน ที่ผมเมื่อฟังแล้วปิ๊งเลย ธรรมนูญพื้นที่ต้องไปให้ถึงความเป็นเจ้าของ ต้องมีคนที่รู้สึกเป็นเจ้าของและพูดถึง เน้นย้ำ เชื่อมโยง อธิบาย เมื่อใดที่คนในชุมชนไม่มีการพูดถึงธรรมนูญเลย ก็เปรียบเหมือนแกงหม้อที่ตั้งไว้เฉย ๆ หลายวันก็กลายเป็นแกงบูด กินไม่ได้ท้องเสีย ต้องทิ้งแกงหม้อนี้ไป ถ้าอยากให้แกงหม้อนี้กินได้ ยังหรอยอยู่ก็ต้องอุ่น
บันทึกความคิดนี้ไว้
(5)
ข้อเสนอต่อทีมบ้านช่องฟืนกับการต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน
จากมุมมองของนักท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสความเป็นบ้านช่องฟืน แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบ บางข้อได้แลกเปลี่ยนไปในที่ประชุม บางข้อเพิ่งมาปิ๊งตอนนั่งทบทวน
ประเด็นที่หนึ่ง สำหรับต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตความเป็นช่องฟืนมีเอกลักษณ์และเสน่ห์ของการเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอยู่แล้ว
ประเด็นที่สอง สำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ก็เป็นเครื่องมือ เป็นกระบวนการในการพัฒนาพื้นที่เฉกเช่นเดียวกับธรรมนูญพื้นที่ซึ่งต้องผสมผสานและให้ความสำคัญทั้งการมีส่วนร่วมและสร้างการเรียนรู้ให้กับทีมคณะทำงาน คนในชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน
ประเด็นที่สาม การท่องเที่ยวโดยชุมชนก็ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมองหาผู้คนที่มีหัวใจเดียวกัน ผู้คนที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงตลาดสายการท่องเที่ยว ตั้งแต่คนนำเที่ยว ที่พัก คนทำอาหาร การเดินทาง ของฝากที่ระลึก มามีส่วนร่วม
ประเด็นที่สี่ มุ่งเน้นการพัฒนายั่งยืน คือการต้องคำนึงถึงการกระจายรายได้ให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องและชุมชน การต้องคำนึงถึงการท่องเที่ยวที่จะต้องช่วยส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์ของบ้านเรา และเป็นการท่องเที่ยวที่นำไปสู่การส่งเสริมการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ
ประการที่ห้า การค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการและเหมาะกับการท่องเที่ยวของเรา ว่าจะเป็นกลุ่มไหน วัยรุ่น ครอบครัว ผู้สูงอายุ เพื่อจะได้ออกแบบการท่องเที่ยวที่สอดคล้อง
ประการสุดท้าย ปัจจุบันกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ผู้สูงอายุที่จะเป็นนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น บ้านพัก สถานที่ต่าง ๆในชุมชนที่ต้องมีการทำกิจกรรม ควรคำนึงถึงความสะดวกปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ เช่น การมีห้องน้ำที่เหมาะสม ทางลาด ราวจับ เป็นต้น
จากมุมมองนักท่องเที่ยวที่คิดว่าต้องกลับมาเที่ยวบ้านช่องฟืนอีกครั้ง
Bonus track... "เบายอดม่วง" ที่บ้านช่องฟืน
ทีมสมัชชาสุขภาพตรังไปร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวธรรมนูญพื้นที่ครั้งนี้ ก็ติดไม้ติดมือ "ข้าวเบายอดม่วง ข้าวแห่งความภาคภูมิใจ และข้าวคุณภาพจากจังหวัดตรังไปแนะนำและเชิญชวนมวลมิตรได้ลิ้มลองกัน
เตรียมไปทั้งแบบ 1 kg แบบ 1/2 kg และแบบจมูกข้าว ได้รับการตอบรับดีมาก ๆ หลายคนมาเข้ามาซักถาม และซื้อกลับไปชิมกัน บ้างซื้อไปกินเอง บ้างซื้อไปฝากคนที่ห่วงใย บ้างซื้อไปฝากผู้มีปัญหาสุขภาพในการดูแล
รอบนี้เบายอดม่วงกระจายไปยังคนกินทั้งจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ สตูล สงขลา ปัตตานี
ขอบคุณทุกท่านที่อุดหนุนนะครับ
#เบายอดม่วง
เชภาดร จันทร์หอม บันทึกเรื่องราว
Relate topics
- ก้าวกันต่อ“การพัฒนาคุณภาพชีวิตรองรับสังคมสูงวัยจังหวัดตรัง” และงานพัฒนาฐานข้อมูลผู้สูงอายุและแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล (Trangcare.net)
- สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับอำเภอ ทั้งระโนด สทิงพระ และสิงหนคร สร้างคุณค่าตาลโตนด การประเมินมูลค่าไม้เพื่อขายคาร์บอนเครดิตจากต้นตาลโตนด
- "Quick Win บุหรี่และปัจจัยเสี่ยง จ.ยะลา"
- "การประชุมคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต ๑๒ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖"
- อนุกรรมการประเด็นเด็กและเยาวชน กขป.11 ร่วมขับเคลื่อนการรณรงค์การป้องกันการฆ่าตัวตาย ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ประชุมทีมพี่เลี้ยงร่วมกับคณะทํางานโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาวะชุมชนประมงพื้นบ้านใน 5 จังหวัดชายฝั่งทะเล
- "ประชุมทีม กขป.เขต 12 ชุดเล็ก"
- จังหวะก้าว "สงขลามหานครเกษตรอินทรีย์"
- โครงการคาราวานโรงเรียนปลอดภัย “รู้ รอด และปลอดภัย” ชวนเรียนรู้ภัยคุกคาม 9 ประเภท
- ชวนมารู้จัก "พังงาแห่งความสุข" ก่อนเข้าร่วมงานสมัชชาฯปี 2566