คนไทยไร้สิทธิ ปัญหาและทางออก
คนไทยไร้สิทธิ ปัญหาและทางออก
ทุกวันนี้ประเทศไทยมีคนไทยที่ตกหล่นจากสิทธิสถานะทางทะเบียนอยู่จำนวนมาก คาดการณ์กันว่า คนกลุ่มนี้อาจมีถึงหลักแสนคน
“คนไทยตกหล่น” หรือ “คนไทยไร้สิทธิ” เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้องทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง เนื่องจากไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรที่ถูกต้อง หรือได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรแล้วไม่ถูกต้อง หรือเป็นคนไทยที่อยู่ระหว่างการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร
กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด หากแต่ตกหล่นจากการมีสถานะทางทะเบียน ทั้งจากการตกหล่นจากกระบวนการแจ้งเกิด และทั้งจากการประสบปัญหาในการยืนยันสิทธิสถานะ เนื่องจากพยานเอกสารที่ใช้ประกอบการยืนยันตัวบุคคลสูญหาย หรือพยานใกล้ชิดที่อาจล้มหายตายจาก รวมทั้งสาเหตุจากการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตที่ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับภูมิหลังของตนเองพร่าเลือน ทำให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้อง ส่งผลต่อการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง เนื่องจากไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้องนั่นเอง
กลุ่มคนเหล่านี้พบได้ทั้งในชุมชนที่เป็นเขตเมืองและเขตชนบท สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่มักยืนยันได้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในชุมชนนั้นมาตั้งแต่เกิดหรือเป็นระยะเวลายาวนาน บางรายอาจมีญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษที่มีสิทธิสถานะทางทะเบียน
และบางรายชุมชนแทบไม่รู้มาก่อนว่าเป็นคนไทยไร้สิทธิจนกระทั่งพวกเขาเริ่มเจ็บป่วยและต้องการเข้าถึงสิทธิในสวัสดิการของรัฐ
นอกจากนี้ ยังปรากฏกลุ่ม “คนไทยไร้สิทธิ” ในกลุ่มคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ของประเทศ ผลการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ (ปี 2559) ของ สสส. พบว่าคนไร้บ้านประมาณร้อยละ 28 มีปัญหาและตกหล่นจากสิทธิสถานะทางทะเบียน เช่นเดียวกับข้อมูลของกองคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ชี้ให้เห็นว่าประมาณร้อยละ 35 หรือประมาณ 1,500 คน ของคนไร้ที่พึ่งในความดูแลของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของรัฐทั่วประเทศ มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตและกายซึ่งส่งผลต่อการสืบค้นรากเหง้าที่ครบถ้วน เพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคล
“คนไทยไร้สิทธิ” เหล่านี้ต้องประสบปัญหาในการเข้าถึงสวัสดิการด้านต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการสังคม เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการคนพิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันจะมี “กองทุนคืนสิทธิ” เป็นกลไกหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนไร้รากเหง้าและผู้มีปัญหาสิทธิสถานะหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักเรียนในสถานศึกษาที่รับสวัสดิการจากรัฐบาลด้านการศึกษาและกลุ่มไร้รากเหง้า ที่บัตรประจำตัวบุคคลขึ้นต้นด้วยเลข 0 ให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลได้ แต่กองทุนนี้ก็ยังคงไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนไทยไร้สิทธิที่ตกหล่นจากสถานะทางทะเบียนหรือการสำรวจลงทะเบียนผู้ไร้รากเหง้า
ปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางสุขภาพและทางสังคมนี้ ทำให้คนไทยไร้สิทธิและครอบครัวต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหรือขอความอนุเคราะห์ค่ารักษาจากสถานพยาบาล หลายรายเลือกที่จะไม่เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิทั้งในชุมชนเมือง ชุมชนชนบท คนไร้บ้าน ในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักพิง รวมถึงคนไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองฯ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาดังกล่าวยังมีลักษณะการช่วยเหลือรายบุคคลหรือเฉพาะพื้นที่ จึงต้องใช้ความพยายามทั้งแรงกายแรงใจอย่างมาก อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการดำเนินการ จนทำให้คนไทยไร้สิทธิบางรายเสียชีวิตในระหว่างกระบวนการพัฒนาสิทธิ
หลายรายมีชีวิตพร้อมสิทธิในการเป็นคนไทยเต็มขั้นโดยไม่ตกหล่นเพียงชั่วไม่กี่เดือน ก่อนจะเสียชีวิตจากความเจ็บป่วยเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายจากการไม่มีสิทธิสถานะจึงไม่สามารถเข้าสู่การรักษาได้ทันกาล
ปัญหาด้านสิทธิสถานะดังกล่าวนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบกับคนไทยไร้สิทธิรายบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับสถานพยาบาลจำนวนมากที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาคนไทยกลุ่มนี้ โดยไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณหรือกองทุนใดได้ บางสถานพยาบาลที่ช่วยเหลือกลุ่มคนไทยไร้สิทธิอาจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายถึงหลักล้านบาท
ดังนั้นการแก้ไขปัญหา “คนไทยไร้สิทธิ” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยต้องอาศัยความตระหนักรู้และการเล็งเห็นความสำคัญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการร่วมกันผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างบูรณาการ ยกระดับการแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิรายบุคคลสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงระบบและนโยบายที่ครอบคลุม ทั้งในด้านการพัฒนาสิทธิและการออกแบบระบบสวัสดิการรองรับประชากรกลุ่มนี้ โดยการวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการพัฒนาสิทธิสถานะของคนไทยไร้สิทธิ การสำรวจลงทะเบียนคนไทยไร้สิทธิเพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์ปัญหาที่ชัดเจนประกอบการวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม รวมถึงการออกแบบกลไกงบประมาณในการช่วยเหลือหรือจัดตั้ง “กองทุนคนไทยไร้สิทธิ” ซึ่งจะเป็นกองทุนสุขภาพฉุกเฉินสำหรับคนกลุ่มนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ
“เพราะความเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่รอไม่ได้” ดังนั้น การที่ประเทศไทยยังคงปล่อยให้มี “คนไทยไร้สิทธิ” ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ มีสภาพความเป็นอยู่ที่เปราะบาง ย่อมเท่ากับการปล่อยให้เกิดความไม่มั่นคงของมนุษย์ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและขยายความไม่เป็นธรรมทางสังคมออกไป สวนทางกับทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
อ้างอิงจาก : อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับในภาคใต้หน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือคนไทยไร้สิทธิ ที่ท่านสามารถประสานความช่วยเหลือได้
1)สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 12 (สปสช.) เลขที่ 456 ถนน เพชรเกษม ซอย 2 ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110โทร 074-233888 ต่อ 5369 โทรสาร 074-235494
2)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ จังหวัดสงขลา เลขที่ 2 ถ.ไทยสมุทร ถ.เพชรเกษม ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 โทรศัพท์ 074-254542,081-5435899
3)มูลนิธิชุมชนสงขลา 73 อาคารชิตตยาแมนชั่น เพชรเกษมซอย 5 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 โทร 074-221286 , 086-4892086
4)สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000,088-5898838
5)ศูนย์ประสานงานพหุภาคีจังหวัดยะลา 12/2 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา 95000 โทร 081-8975065
6)ศูนย์ประสานงานพหุภาคีเพื่อการพัฒนาจังหวัดนราธิวาส 81 ถ.พนาสณฑ์ อ.เมือง จ.นราธิวาส 96000 โทร 098-01047333
7)ศูนย์ประสานงานพหุภาคีจังหวัดพัทลุง และ 11 ตำบลนำร่อง 224 ม.7 ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง 93150
8)ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา 188/1 ถ.เทศบาล 9 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา 95000 โทรศัพท์ 082-8270591/073222114
9)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ภาคใต้ 53/13 ถ.เพชรเกษม ซ.18/1 ต.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 โทรศัพท์ 074-358089 ,086-9604090, 094-5938823
10)มูลนิธิเพื่อนหญิง เลขที่ 8 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 063-5619453
11)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพศูนย์ไทรงาม 131/1 ถ.ไทรงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90110 โทร 081-5406477
12)ศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง(ชุมชนแหลมสนอ่อน) 21/27 ถ.แหลมสนอ่อน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา โทร 083-5389089
13)ศูนย์อาสาสร้างสุข 776/11 ม.3 ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา 90110 โทร 086- 9608334
ปราณี วุ่นฝ้าย เจ้าหน้าที่ข้อมูลศูนย์ประสานงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 12
บันทึกและรวบรวมข้อมูล
Relate topics
- สท.-สนง.เกษตรสงขลา จัดเวทีถอดบทเรียนยกระดับเครือข่ายเกษตรกรผลิตผักอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี
- กขป.12 ประชุมสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่มีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2568 - 2572
- จังหวะก้าวสำคัญ 3 เคลื่อนเพื่อพัทลุง
- “กขป.เขต 12 จัดเวทีเสนอแนะเชิงนโยบาย ชี้ปัญหาเร่งด่วนและข้อเสนอความร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยี และทุนทางพหุวัฒนธรรมลดความเปราะบางของครอบครัว”
- บพท. และ ม.อ.ปัตตานี จับมือ พอช. พร้อมบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อร่วมพัฒนาตำบลแก้จนนำร่องในพื้นที่เมืองปัตตานี
- System Map และ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ (เครือข่าย กขป.เขต 12)
- การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงทางอาหาร
- ตำบลพุมเรียง ชูผักไชยา และปลาอินทรีย์ ปั้นเมนูสุขภาพกินดี อยู่ดี ลด NCDs ที่พุมเรียง
- ต้นทุนเพื่อการพัฒนา จากทีมสนับสนุนชุมชนน่าอยู่เล็ก ๆ สู่โมเดลสุขภาวะชุมชนภาคใต้
- คสช.รับทราบผลการขับเคลื่อนนโยบายปกป้องและคุ้มครองเด็ก-เยาวชนจาก “บุหรี่ไฟฟ้า” ของ สช.-หน่วยงานภาคี