ชวนมารู้จัก "พังงาแห่งความสุข" ก่อนเข้าร่วมงานสมัชชาฯปี 2566

photo  , 1076x1522 pixel , 191,148 bytes.

เรามารู้จัก "พังงาแห่งความสุข" ก่อนเข้าร่วมงานสมัชชาปีนี้กันเถอะ

กว่า10 ปีที่คนพังงากลุ่มเล็กๆ ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง ร่วมกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเอง ภายใต้ชื่อคณะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "พังงาแห่งความสุข"

มีการจัดสมัชชามาแล้วถึง 11 ปี โดยปีนี้มีธีมงานว่า 11ปีสมัชชาพังงาแห่งความสุข 7 หลักสูตรการเรียนรู้สู่จังหวัดจัดการตนเอง

ด้วยเกิดการยอมรับของหน่วยงาน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และยกระดับเป็น #สถาบันเรียนรู้การพัฒนาพังงาแห่งความสุข ปัจจุบัน มี 7 พื้นที่ต้นแบบเรียนรู้การพัฒนาพังงาแห่งความสุข

สถาบันการเรียนรู้การพัฒนาพังงาแห่งความสุข จากบทเรียนร่วมขับเคลื่อนมายาวนานกว่า 10 ปี กระบวนการประชาชน  ประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆของสังคมต้องทำความเข้าใจให้เป็นไปในทางที่สอดคล้องกัน เพื่อการขับเคลื่อนและดำเนินการที่เป็นธรรมชาติ และหลากหลาย แต่ไปในทิศทางใหญ่เป้าหมายเดียวกัน คือ การร่วมสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งความสุขร่วมกัน

การสร้างเป้าหมายร่วมกันคือ “พังงาแห่งความสุข” ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติการระดับชุมชน  ตำบล เป็นยุทธวิธีที่สำคัญในการสร้างพลังประชาชน  การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ด้วยการ  ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ในทุกเรื่อง ทุกพื้นที่ทุกเครือข่ายประเด็น เพื่อให้เกิดรูปธรรมและขยายไปสู่พื้นที่อื่นไปพร้อมๆกันอย่างกว้างขวางและหลากหลายรูปแบบ

ด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้จัดตั้ง ‘สถาบันเรียนรู้การพัฒนาพังงาแห่งความสุข’ ให้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เพื่อเปิดพื้นที่การสื่อสารและถ่ายทอดกระบวนการพัฒนาการทำงานในพื้นที่จังหวัดพังงาให้กับบุคคลภายนอก และสังคมทั่วไป ทั้งยังสามารถบริหารจัดการตนเองได้อันจะนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนของการพัฒนาชุมชนต่อไป

โดยมีหลักสูตรและพื้นที่รูปธรรมการเรียนรู้ ดังนี้

1.หลักสูตรเกาะยาวน้อย สู่ความสุขร่วมของคนในชุมชน

โจทย์สำคัญของเกาะยาวน้อยคือ จะทำอย่างไรให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมระหว่างคนในชุมชนผู้รู้จักพื้นที่และเข้าใจวิถีวัฒนธรรมเป็นอย่างดีกับหน่วยงานต่างๆ ที่ล้วนมีแนวทางการพัฒนาบนฐานความคิดที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันได้มีโอกาสร่วมมือกันออกแบบ วางแผน และดูแลรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืน

2.หลักสูตรมอแกลนทับตะวัน เข้าใจพหุวัฒนธรรม สร้างสรรค์พลเมืองโลก

หลักสูตรเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ชีวิต ภูมิปัญญา และประวัตศาสตร์ของชาวเลมอแกลน บ้านทับตะวัน จังหวัดพังงา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมในฐานะพลเมืองโลกผู้เคารพความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนมนุษย์

3.หลักสูตรโคกเจริญ สุขภาพดี วิถีโคกเจริญ

ชาว"โคกเจริญ" กับการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน ถูกหลักโภชนาการ และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนจากการต่อยอดด้วยแนวคิดปิ่นโตสุขภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบที่น่าสนใจในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน องค์ความรู้เหล่านี้จากการทำงานจริงของคนในพื้นที่ สามารถถ่ายทอดให้กับผู้ที่มาเรียนรู้ และได้ลงมือปฏิบัติจริง

4.หลักสูตรรมณีย์ จัดสรรทรัพย์ แบ่งปันสุข

ชุมชนรมณีย์ จังหวัดพังงา กับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อหาช่องทางผสานความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพและอำนาจต่อรองกับกลไกการตลาด

5.หลักสูตรบ้านน้ำเค็ม วางแผน ป้องกัน แก้ไข ภัยพิบัติด้วยชุมชน

บ้านน้ำเค็ม กับการที่ชุมชนสามารถวิเคราะห์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในชุมชนของตนเองได้ มีการวางแผนและสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติจะเป็นการป้องกันและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งยังสามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้อย่างรวมเร็ว

6.หลักสูตรเศรษฐกิจชุมชนคนนาเตย

สภาพปัญหาเศรษฐกิจที่พบเจอในทุุกชุมชน คือ จะมีช่วงว่างของฤดูกาลในการประกอบอาชีพทั้งประมง เกษตร และภาคบริการ ทำให้รายได้ในครัวเรือนไม่สม่ำเสมอ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา การสร้างกลุ่มอาชีพที่มาจากความต้องการและทรัพยากรที่มีคุณค่าของชุมชนเองนั้น ช่วยทำให้เกิดอาชีพ รายได้ และคุณค่าให้กับสมาชิก การวางรากฐานที่ดีในการเริ่มต้นกลุ่มอาชีพที่ทำให้คงอยู่ในชุมชนต่อไป ต้องเกิดจากความต้องการที่แท้จริง การร่วมแรงร่วมใจ และความอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่พบในช่วงแรก ทำให้กลุ่มอาชีพที่ดำเนินกิจการต่อไปได้ไม่มากนัก ในหลักสูตรนี้จะได้สัมผัสถึงประสบการณ์ตรงในการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพในชุมชนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับ และเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ต่อไป

7.หลักสูตรรวมคนสร้างเมือง สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข

การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนคือการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสามารถบริหารจัดการความต้องการของชุมชน ออกแบบแนวทางการใช้ทรัพยากรหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ สอดคล้องกับบริบทและยุคสมัย


ในงานสมัชชาพังงาแห่งความสุขปีนี้ เป็นเช่นทุกปี นอกจากการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ยังมีหลากหลายพื้นที่รูปธรรมให้เรียนรู้ เรายังคงชูวัฒนธรรมปิ่นโตสุขภาพที่เป็นต้นแบบให้หลายจังหวัดได้นำไปใช้ ทั้งยังมากมายด้วยสินค้าของดีชุมชนในจังหวัดพังงาให้เลือกซื้อหาจากชุมชนโดยตรงกว่า 30 บูธ หรือท่านใดไม่ได้มาก็ติดตามการถ่ายทอดสดทาง เพจ สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข

ประสานเข้าร่วมงาน : 0805349930 คุณ ชาตรี มูลสาร


ไมตรี จงไกรจักร  บันทึกเรื่องราว

Relate topics