มหัศจรรย์ดาหลาบานในใจคน
มหัศจรรย์ดาหลาบานในใจคน
ทิวเขาเบื้องหน้า อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ใหญ่หนาตา ยอดเขามีหมอกขาวลอยเอื่อยนิ่งโอบกอดเขาเขียว ถนนคดเคี้ยวเลี้ยวลัดตามชุมชน ที่พรั่งพร้อมด้วยไม้ผล ปนแซมด้วยสวนปาล์ม ยาง ประปราย ทางสายนี้พาเราไปยัง “ดงบอน” ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน “มหัศจรรย์วันดาหลาบาน ครั้งที่ 2”
ทิวเขาเบื้องหน้านั้นคือ “เขาคราม” ที่อยู่ท่ามกลางผู้คนและพืชผลดีงาม
ใต้ดงบอน ที่ลำต้นสูงใหญ่โต แปรเปลี่ยนจากร้านอาหารและคาเฟ่ มาเป็นสถานที่จัดงาน ที่มีทั้ง นิทรรศการดอกดาหลาจากภาพวาดสีน้ำ เวทีดนตรีกลางแจ้ง ร้านกาแฟสดบดปั่นชงส่งกลิ่นหอม ฝั่งงานวิชาการเสวนาและร่ายกวี ซุ้มอาหาร เครื่องดื่มจากดาหลา ร้านขนมและอาหารจากชาวบ้านร้านถิ่น นิทรรศการของหน่วยงาน บูธความหลากหลายของเครือข่ายภาคีมาร่วมจัด
งานแบบนื้ เป็นงานที่ “มีชีวิต” ไม่ต้องกะเกณฑ์ เหมือนงานต่างๆ ที่จัดขึ้นเอง แลกเปลี่ยนกันเอง ชื่นชมกันเอง แต่งานนี้กลับเป็นพื้นที่เปิดรับสำหรับผู้คนแตกต่างหลากหลายมาร่วมงานในมิติที่ตนเองสนใจ ทั้ง แลกเปลี่ยนความหลากหลายทางพันธุกรรม มาร่วมวาดรูป มานั่งฟังดนตรี มาทำงานศิลปะ มาออกร้านขายของ ตามหาอาหารฟิวชั่นจากดาหลา การต่อยอดดาหลาสู่อาหารในโรงแรม
เราจึงเห็นผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งคนหนุ่มคนสาว เด็กน้อย ลุงๆ ป้าๆ ชมรมจักรยาน หนุ่มสาวชุดยีนส์แก็งค์มอเตอร์ไซค์ นักเรียนจากค่ายกิจกรรมที่จัดใกล้เคียง นักท่องเที่ยวต่างถิ่น แต่งตัวสวยงาม เข้ามาร่วมไม่ขาดสาย
คล้ายกับดาหลาที่หลากหลายทั้งสี ชนิดดอก สายพันธุ์ เพราะดาหลา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณป่าร้อนชื้น พบได้มากทางภาคใต้ ใช้เป็นอาหาร เป็นไม้ตัดดอก แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ดาหลาเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในพื้นที่แสงรำไร จึงเหมาะเป็นไม้พื้นล่างในสวนสมรม
ดาหลาจึงเป็นตัวแทนของพืชพื้นถิ่นที่มีการอนุรักษ์สายพันธุ์ ขยายพันธุ์ และสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันในมิติ “ความมั่นคงด้านอาหารและการอนุรักษ์พันธุ์พื้นถิ่น” พี่จิ้ม เบญจวรรณ เพ็งหนู บอกว่าเป็นความพยายามของเครือข่ายพัทลุงมหานครแห่งความสุข ใช้เชื่อมโยงการทำงานทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
การเชื่อมโยงของต้นกลางและปลายน้ำ ในงานนี้ เราจึงเห็นพี่แดง จากเกาะหมาก เอา “กุ้งแม่น้ำ” ตัวโตๆ จากทะเลสาปมาทำอาหารโดยใช้ “ดาหลา” เป็นวัตถุดินหลัก ทั้งแกง ยำ และข้าวยำ
แถมยังมีคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ต่อยอดคุณค่าและมูลค่าของดาหลาไปได้อีกในหลากหลายด้าน เช่น craft เบียร์ดาหลา กาแฟดาหลา ขนมจากดาหลา และไฮไลต์คือการใช้ดาหลาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารโดยเซฟจากโรงแรมภูเก็ต continental
ในฐานะผู้แทนองค์กรที่ร่วมสนับสนุน ชื่นชมกับมิติงานแบบนี้ ที่ได้ทั้งความรู้ ได้เครือข่าย ได้ใจคนทำงานและได้ขยายผลสื่อสารต่อสาธารณะไปในตัว โดยไม่ต้องว่าจ้างให้มาทำสื่อ เขียนข่าวแจกและทำพิธีปิดเปิด จนดนตรีและศิลปะ หายไปจากหัวใจคนทำงาน
“กลายมาเป็นฝน กลายมาเป็นน้ำ กลายมาเป็นเรื่องราวให้จดจำ ในช่วงฤดูฝนจนเข้าฤดูหนาว หลากหลายเรื่องราวยังจดจำ กลางคืนฤดูร้อน ตอนเธอมาจากลา ในค่ำคืนที่ฟ้า เคว้งคว้างว่างเปล่า”
ขอบคุณดวงดาว เดียวดาย และญาแอนน์อาร์ม ที่ร้องเพลงท่อนนี้เพราะๆ จากลานดนตรีใต้ต้นมังคุดครับ
และขอบคุณยิ่งสำหรับคำเชิญจากพี่เสณีและจอยครับ
ภาพและเรื่องราวโดย บัณฑิต มั่นคง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
Relate topics
- พมจ.กระบี่ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการปี 68 มุ่งสู่กระบี่อยู่เย็นเป็นสุข
- สสว.11 ชวนใช้ข้อมูลครัวเรือน(กลุ่มเสี่ยง)จากสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างพุ่งเป้า
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ชู “ข้อเสนอ 3 ข้อ” ปกป้องเด็กเยาวชนจาก “ภัยบุหรี่ไฟฟ้า” ในเวทีระดมความเห็นภาคีปฏิบัติการพื้นที่ “ภาคใต้”
- 17 ประเด็นที่เห็นจาก NHA17
- "ประชุม กขป.เขต 12 ทีมเล็ก"
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบและกลไกการจัดการพื้นที่ตำบลขอนหาด (ภาคีเครือข่าย สสส.)
- "พัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยงและกองเลขาแผนงานร่วมทุนฯสงขลา"
- ประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2567 “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P): กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
- สสจ.สงขลาและเครือข่ายร่วมวางแผนคัดกรองกลุ่มเสี่ยงยาเสพติดและสุขภาพจิต อายุ 12-59 ปี
- "พัฒนามาตรฐานกลางการปรับสภาพบ้านคนพิการสิทธิบัตรทองจังหวัดสงขลา"