Learn – Unlearn – Relearn ถอดรหัส “บทเรียนพร้อมใช้” กับหน่วยจัดการเรียนรู้ภาคใต้
Learn – Unlearn – Relearn ถอดรหัส “บทเรียนพร้อมใช้” กับหน่วยจัดการเรียนรู้ภาคใต้
เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน “ความรู้” ย่อมเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อวิธีการบางอย่างที่ต้องเปลี่ยนไป ดังนั้นสำหรับคนทำงานในประเด็นต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือการมีพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยนถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของตนเอง เรียนรู้จากบทเรียนของเพื่อนร่วมทาง และเครือข่ายร่วมดำเนินงาน เพื่อ Learn – Unlearn – Relearn เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ละทิ้งบางอย่าง และเปิดใจเรียนรู้เรื่องเดิมอีกครั้งด้วยมุมมองที่ออกต่างไป
โดยเมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567 ผ่านมา ทีมหนุนเสริมทางวิชาการภาคใต้ โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัด “เวทีสังเคราะห์ ถอดบทเรียนและการประเมินเสริมพลัง (Empowerment Evaluation : EE)” โดยมีตัวแทนหน่วยจัดการเรียนรู้ในปี 2566 จำนวน 25 แห่ง เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ ณ โรงแรมอัลฟาฮัจย์ จ.สงขลา
“นายอะหมัด หลีขาหรี” ตัวแทนจากหน่วยจัดการเรียนรู้ ‘วิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ’ จังหวัดสงขลา ได้ร่วมสะท้อนบทเรียนจากการทำงานร่วมกับ กสศ. ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 ว่า “บทบาทของหน่วยจัดการเรียนรู้ไม่ได้หยุดนิ่ง บนเส้นทางการทำงานนี้เราเรียนรู้ เติบโต และเปลี่ยนแปลงบทบาทไปทุกปี โดยเฉพาะปีท้าย ๆ เมื่อชุมชนแข็งแรง เราจึง ‘ลดบทบาทตัวเองลงมาเป็นโค้ช’ แล้วเดินหน้าไปยังโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ สร้างพื้นที่กลางของโอกาสให้ทุกคนได้มาเจอกัน มาเป็นเจ้าของร่วมกัน และพัฒนาสู่การศึกษาทางร่วม ซึ่งแน่นอนว่าทัศนคติบางอย่างต้องถูกลบไป แล้วแทนที่ด้วยการให้โอกาสทุกคนได้แสดงศักยภาพออกมา”
ทางด้าน “นางสาวไอรดา ม่วงพานิช” ตัวแทนจากหน่วยจัดการเรียนรู้ ‘เครือข่ายคนเลี้ยงผึ้ง’ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นอีกหน่วยที่มีประสบการณ์ทำงานต่อเนื่อง 5 ปีกับ กสศ. กล่าวเสริมว่า “ปีแรก ๆ เราเข้ามาทำงานด้วยความไม่รู้ แต่เราก็ต้องเรียนรู้เพื่อจะทำงานกับชีวิตคน “แม้แต่ละปีจะได้รับโจทย์ท้าทายจากทีมพี่เลี้ยงในเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” จากการทำงานกับคนหนึ่งคนให้มีอาชีพมีรายได้ ก็แตกแขนงเนื้องานไปสู่ครอบครัว ลูกหลาน การศึกษา แม้กระทั่งเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ปัจจุบันนิเวศชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง ผู้นำชุมชนยอมรับ เรียนรู้และเคลื่อนงานร่วมกัน ท้ายที่สุดคนทำงานเองก็เติบโตและพร้อมก้าวสู่โจทย์งานที่ลึกขึ้นต่อไป”
นอกจากนั้น “นายสมพงษ์ หลีเคราะห์” หัวหน้าทีมหนุนเสริมทางวิชาการภาคใต้ สะท้อนถึงบทเรียนสำคัญว่า ‘งานนี้มีหน่วยจัดการเรียนรู้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ’ เพราะหากคนที่เข้าไปทำงานเพื่อสร้างการเรียนรู้ไม่เปิดใจ ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ก็คงไม่สามารถทำให้ผู้ร่วมเรียนรู้เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการก้าวข้ามความกลัวของหน่วยจัดการเรียนรู้ เป็นด่านแรกที่จะทำให้ผ่านเรื่องท้าทายต่าง ๆ ในการทำงานยากไปได้ ซึ่งการจะเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน มีกึ๋น มีกิน มีกลุ่ม มีของ มีขาย ก็จำเป็นที่จะต้องมีแรง มีเพื่อน มีสุข และมีพลังด้วย
“หากจะก้าวต่อไปอย่างไม่หลงทาง ต้องทำความเข้าใจว่า การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การให้หรือรับข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่สำคัญคือต้องทบทวนความคิด ความเชื่อ วิธีการ เครื่องมือ บทบาท เปิดพื้นที่ให้ได้ร่วมกัน Learn เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ Unlearn โดยการไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา หรือกล้าลบสิ่งเดิม ๆ ที่ไม่ใช่ทิ้งไป แล้ว Relearn เพื่อเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ที่ต่างออกไป เหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยจัดการเรียนรู้เห็นแนวทางใหม่หรือวิธีการใหม่ที่คมชัดขึ้นกว่าเดิม”
ท้ายที่สุด “ดร.สมคิด แก้วทิพย์” ผู้จัดการโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ได้กล่าวว่า บทเรียนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ วิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เอื้อให้ผู้ด้อยโอกาส เด็กเยาวชน หรือผู้ที่เคยก้าวพลาดได้เจอคนที่เข้าใจ และให้โอกาสเขาได้กลับมาเรียนรู้และเติบโตขึ้นเป็นอีกหนึ่งกำลังของสังคมอีกครั้ง
“หากมองมิติการศึกษา แม้จะเป็นหน่วยจัดการเรียนรู้ แต่เราไม่ได้มีหน้าที่ไปจัดการชีวิตใคร เราอาจเป็นเพียงคนที่ต้องไปเข้าใจผู้ร่วมเรียนรู้ น้อมใจไปเรียนรู้กับความเป็นจริงของชีวิตเขา และหนุนเสริมให้เขาเป็นเจ้าของและออกแบบการเรียนรู้ของชีวิตตัวเองได้อย่างตอบโจทย์ แก่นของคำว่าชุมชนเป็นฐาน คือการเรียนผ่านการทดลอง ผ่านปฏิบัติการร่วม เรียนรู้ร่วม ดังนั้นหากเราจะเติบโตไปด้วยกันบนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง เราต้องหมั่นถอดบทเรียนตัวเอง เรียนรู้จากบทเรียนของกันและกัน และเพิ่มพื้นที่แห่งพลังให้ขยายตัวออกไป”
โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. กำลังก้าวสู่ปีที่ 6 และเกิดเป็น ‘นิเวศการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย’ เป็นพื้นที่เรียนรู้ของผู้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นทีมหนุนเสริมวิชาการ หน่วยจัดการเรียนรู้ เครือข่ายร่วมดำเนินงาน และผู้ร่วมเรียนรู้ในชุมชนที่ต่างมาร่วม Learn – Unlearn – Relearn โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเรียนรู้เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันในทุกปี
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
Relate topics
- พมจ.กระบี่ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการปี 68 มุ่งสู่กระบี่อยู่เย็นเป็นสุข
- สสว.11 ชวนใช้ข้อมูลครัวเรือน(กลุ่มเสี่ยง)จากสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างพุ่งเป้า
- เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ชู “ข้อเสนอ 3 ข้อ” ปกป้องเด็กเยาวชนจาก “ภัยบุหรี่ไฟฟ้า” ในเวทีระดมความเห็นภาคีปฏิบัติการพื้นที่ “ภาคใต้”
- 17 ประเด็นที่เห็นจาก NHA17
- "ประชุม กขป.เขต 12 ทีมเล็ก"
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบและกลไกการจัดการพื้นที่ตำบลขอนหาด (ภาคีเครือข่าย สสส.)
- "พัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยงและกองเลขาแผนงานร่วมทุนฯสงขลา"
- ประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2567 “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P): กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
- สสจ.สงขลาและเครือข่ายร่วมวางแผนคัดกรองกลุ่มเสี่ยงยาเสพติดและสุขภาพจิต อายุ 12-59 ปี
- "พัฒนามาตรฐานกลางการปรับสภาพบ้านคนพิการสิทธิบัตรทองจังหวัดสงขลา"